ภาษา การกิน การอยู่ ความเชื่อ ศรัทธา หรือแม้แต่แบบแผน แนวปฏิบัติ ขนบธรรมเนียม ประเพณี ล้วนแล้วแต่แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมอันดีงามของชนชาตินั้นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พิธีแต่งงาน ซึ่งในประเทศไทยเอง ก็มีรูปแบบที่แตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น ซึ่งสะท้อนให้เห็นเอกลักษณ์ คุณค่าที่ยึดถือกันมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ เช่นเดียวกับกัมพูชา “พิธีอาเปียปิเปีย” หรือ “พิธีมงคลสมรส” ของชาวเขมรนั้น ก็มีรูปแบบ ขั้นตอนที่สืบทอดกันมายาวนาน แม้จะเปลี่ยนแปลงไปบ้างตามยุคสมัย เพื่อให้สอดคล้องกับความสะดวก และทัศนคติที่ปรับเปลี่ยนไป แต่ก็สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อดั้งเดิม แนวคิด ที่ถูกปลูกฝังกันมาตั้งแต่โบราณ และยังคงรักษาไว้ซึ่งขนบอันดีงาม ที่ล้วนแต่สอดแทรกแนวคิด คำสั่งสอน ในการครองเรือน การใช้ชีวิตคู่ของบ่าวสาวไว้อย่างครบถ้วน งานแต่งงานของชาวกัมพูชา ถือเป็นงานใหญ่ที่สำคัญมากของครอบครัว จากคู่มือการค้าการลงทุนในกัมพูชา ของศูนย์พัฒนาการค้าและธุรกิจไทยในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงพนมเปญ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ชาวกัมพูชาจะจัดงานแต่งงานใหญ่โตมาก งานของคนที่มีหน้าตาทางสังคม แค่เฉพาะค่าดอกไม้สดประดับในงานราคาหนึ่งล้านบาทก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เช่นเดียวกัน การเชิญแขกเข้าร่วมพิธีงานมงคล ถือเป็นการให้เกียรติอย่างสูง และแสดงถึงมิตรไมตรีที่ผู้ถูกเชิญต้องไปร่วม แม้ว่าจะไม่สามารถอยู่ได้ตลอดงาน ก็ยังดีกว่าการไม่ไปร่วมเลย ในอดีตพิธีแต่งงานของชาวกัมพูชา มีขั้นตอนต่างๆ มากมาย จัดกันเจ็ดวันเจ็ดคืน แล้วลดลงมาเหลือสามวัน จนเหลือวันครึ่ง คือช่วงเย็นก่อนวันงาน และวันงานใหญ่วันรุ่งขึ้น แต่ปัจจุบันหนุ่มสาวสมัยใหม่ ก็เลือกที่จะจัดพิธีทั้งหมดภายในวันเดียว เพื่อเป็นการประหยัดเวลา แต่ขั้นตอนต่างๆ ก็ไม่ได้ตกหล่นไปเลย ก่อนที่จะไปพูดถึงรายละเอียด ยังมีเกร็ดเล็กน้อย ที่เกี่ยวกับขนาดงาน สำหรับครอบครัวฝ่ายหญิงที่มีลูกสาวหลายๆ คน หากพี่สาวคนโตแต่งออกจากบ้าน สินสอดก็จะมากหน่อย เพราะถือว่าเป็นลูกคนที่ดูแลพ่อแม่ ดูแลน้องๆ คนรองถัดมาก็จะลดหลั่นลงมา จนถึงลูกสาวคนสุดท้องครอบครัวก็จะเรียกสินสอดมากกว่าคนกลางๆ เพราะถือว่า เป็นลูกคนสุดท้ายที่อยู่ดูแลพ่อแม่ ส่วนเรื่องสินสอดนั้น ไม่ได้มีตายตัว ขึ้นอยู่กับสองฝ่ายจะตกลงกัน ตามเหมาะสมแก่ฐานะ และสถานะทางสังคมของทั้งคู่ ก็ไม่ต่างอะไรกับไทยมากคือ จะมีทั้งเงินสด เครื่องเพชร ทอง หรือบ้างก็มีอสังหาริมทรัพย์ด้วย อีกอย่างที่เหมือนกับประเพณีไทยเลย แต่ปัจจุบันอาจจะมีให้เห็นน้อยมากแล้วทั้งไทย เขมรก็คือ ฝ่ายชายต้องไปอยู่รับใช้ คอยช่วยงานที่บ้านฝ่ายหญิงก่อนเป็นปี ถึงจะได้รับอนุญาตให้แต่งงานกันได้ ก็ด้วยเพราะสังคมสมัยก่อน เป็นสังคมเกษตรกรรม ต้องการแรงงาน ผู้ชายก็ต้องมาช่วยงานไร่ งานนาของครอบครัวผู้หญิง แม้สมัยนี้ไม่ค่อยมีแล้ว แต่หลังแต่งงานแล้วเจ้าบ่าวกัมพูชาจะย้ายเข้าไปอยู่รวมกับครอบครัวเจ้าสาว ในบ้านพ่อแม่ฝ่ายหญิงอย่างน้อย 1-3 ปีก่อน แล้วจึงแยกออกมาอยู่กันเองหากต้องการ มาว่ากันที่พิธีการที่ต้องบอกว่า มีขั้นตอนรายละเอียดเยอะมาก เฉพาะพิธีอย่างโบราณสามารถแบ่งได้เป็น 5 ช่วง เริ่มตั้งแต่ พิธีบูชาเทวดา เจ้าที่เจ้าทาง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คุ้มครองบ้านเรือน ซึ่งปกติแล้วช่วงนี้จะจัดขึ้นในช่วงเย็นก่อนวันงานที่บ้านฝ่ายหญิง แต่งานสมัยใหม่ก็ยกมาจัดกันในช่วงเช้าตรู่เลย และหากจัดงานที่สถานที่ภายนอกก็จะทำทุกอย่างในที่นั้นเสร็จสรรพตั้งแต่เช้าตรู่ จนกระทั่งถึงงานเลี้ยงเย็น ช่วงพิธีที่ให้บ่าวสาวรำลึกถึงพระคุณบุพการี พิธีบูชาเทวดา เจ้าที่เจ้าทางนั้นก็ไม่ต่างอะไรมากกับที่เห็นในบ้านเรา ก็จะมีการตั้งเครื่องบูชา มีพราหมณ์มาประกอบพิธี ซึ่งงานแต่งงานของชาวกัมพูชาได้รับอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์มาก ก็จะมีหลายๆ ขั้นตอนที่จะเห็นความเชื่อเหล่านั้นแสดงออกมา จากนั้นก็จะมีการนิมนต์พระสงฆ์มาทำบุญ ข้อสังเกตอย่างหนึ่งก็คือ คนที่นี่ไม่ได้ถือเรื่องการนิมนต์พระสงฆ์ 4 รูป เหมือนในประเทศไทยที่ใช้เฉพาะงานอวมงคล เพียงแต่ให้นิมนต์เป็นเลขคู่ก็เพียงพอแล้ว และไม่ได้มีการเจริญน้ำพระพุทธมนต์ แต่พระสงฆ์จะให้พรด้วยการสวด และโปรยดอกไม้ให้แทน ขบวนขันหมาก ซึ่งเจ้าบ่าวจะถือผกาสลามามอบให้เจ้าสาว เมื่อเสร็จสิ้นพิธีทางศาสนาแล้ว ก็จะเป็นช่วงพิธีที่ให้บ่าวสาวได้รำลึกถึงพระคุณของบิดามารดาที่ได้อบรม เลี้ยงดูจนเติบโต จนกำลังจะได้สร้างครอบครัวในวันนี้ ช่วงนี้จะให้บ่าวสาวกางร่มนั่งอยู่เบื้องหลังของพ่อแม่ ก็หมายถึงจะต้องดูแลท่าน ในระหว่างที่ผู้ดำเนินพิธีการ ก็จะขับกลอนที่มีเนื้อหาถึงพระคุณบุพการี และก็มีการป้อนกล้วยให้กับพ่อแม่ของตนเอง เพื่อเป็นการสื่อว่า ในสมัยยังเด็กก็มีพ่อแม่ที่ได้ป้อนข้าว ป้อนน้ำมา และเมื่อเป็นผู้ใหญ่ ออกเรือนแล้วก็จะเป็นหน้าที่ที่เราต้องดูแลท่านบ้าง ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายเตรียมซองเงิน ของขวัญมอบให้ผู้ร่วมขบวนขันหมากทุกคน เสร็จพิธีในส่วนนี้ ก็จะเข้าสู่ช่วงแห่ขันหมาก ก็ไม่ต่างจากในไทยมาก เพียงแต่ที่นี่จะไม่ได้มีต้นกล้วย ต้นอ้อยกันมาเป็นต้นๆ ของที่อยู่ในขบวน นอกจากสินสอดแล้วก็จะเป็นอาหาร ขนม ผลไม้ มงคลต่างๆ ที่สืบทอดมาแต่โบราณคือ เจ้าบ่าวจะถือ “ผกาสลา” หรือ “ดอกหมาก” เพื่อมามอบให้เจ้าสาว ซึ่งผกาสลานี้ถือเป็นของสำคัญ เป็นดอกไม้ที่อยู่สูง ก็เหมือนกับเจ้าสาวของตนเป็นคนที่มีค่าสูงยิ่ง เมื่อขบวนขันหมากมาถึงเรือนฝ่ายหญิง หรือสถานที่ที่จัดเตรียมไว้ ทางพ่อแม่เจ้าสาวก็จะออกมาต้อนรับ ที่นี่ไม่มีการกั้นประตูเงิน ประตูทอง และก็เป็นฝ่ายเจ้าสาวที่จะมอบซองเงิน และของให้แก่ผู้ร่วมขบวนขันหมากทุกคน สำหรับเงินที่ใส่ในซองนั้น คล้ายๆ กับเงินของขวัญเพื่อความโชคดี เน้นตัวเลขมงคลเช่นเลขแปด หรือเลขเก้า ที่ใส่กันก็จะประมาณ 1,800 เรียล (18 บาท มาจาก 8+1 = 9) สมัยก่อนจะมีพิธีที่ฝ่ายหญิงจะต้องออกมาล้างเท้าให้ฝ่ายชายด้วย แต่จากคำบอกเล่า ทราบความว่า ได้ตัดพิธีการนี้ออกไปแล้ว โดยรัฐบาลเองที่ออกมาบอกว่า พิธีการนี้เป็นการแสดงออกถึงความไม่เท่าเทียมกัน เป็นการกดผู้หญิงให้มีสถานะต่ำต้อยกว่า จึงให้เอาออกไป เรียกว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ปรับเปลี่ยนมาเพื่อสนับสนุนกระแสส่งเสริมเพื่อความเท่าเทียมกันในสังคม เมื่อผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายได้มีการตรวจนับสินสอดว่าถูกต้องตามที่ตกลงกันแล้ว ก็จะเป็นขั้นตอนของการสวมแหวน ซึ่งแต่ละครั้งที่บ่าวสาว เดินเข้ามาในปะรำพิธี จะมี “เนี๊ยะดึกได” แปลตามศัพท์คือ “คนจูงมือ” นำเข้ามา ซึ่งคนจูงมือนี้จะเป็นญาติผู้ใหญ่ หรือบุคคลที่เคารพ ซึ่งเป็นแบบอย่างของคนที่มีชีวิตสมรสที่ดี พาทั้งคู่เข้ามาเพื่อความเป็นสิริมงคล “เนี๊ยะดึกได” ที่คอยจูงเจ้าบ่าว เจ้าสาวเข้าสู่ปะรำพิธี เสร็จสิ้นขั้นตอนนี้แล้ว จะเข้าสู่พิธีสำคัญอีกช่วงหนึ่ง ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของพิธีแต่งงานของชาวกัมพูชาก็คือ ช่วงของการตัดผม ซึ่งบ่าวสาวจะนั่งพร้อมบนเก้าอี้ มีเพื่อนเจ้าบ่าวเจ้าสาวนั่งประกบทั้งสองฝั่ง ซ้ายขวา รายล้อมไปด้วยญาติผู้ใหญ่ที่นั่งล้อมเป็นวงกลม ช่วงนี้ผู้ดำเนินพิธีการจะมีการขับกลอน พูดคุยหยอกล้อ เย้าหยอกเพื่อความสนุกสาน ก่อนที่จะมีนางรำเข้ามารำอวยพรให้คู่บ่าวสาว และก็จะเข้าสู่ช่วงที่พ่อแม่ทั้งสองฝ่าย ตลอดจนญาติผู้ใหญ่เข้ามาตัดผม ปะพรมน้ำหอม การตัดผมนี้เป็นเพียงการทำท่าเหมือนตัดผมด้วยกรรไกร เพราะชาวกัมพูชาถือว่าศีรษะเป็นของสูง มีเพียงแต่ผู้ที่อายุ ช่วงพิธีตัดผมที่เป็นเอกลักษณ์สำคัญของพิธีแต่งงานของชาวกัมพูชา มากกว่าเท่านั้น ถึงจะเข้าไปทำพิธีได้ โดยพิธีนี้หมายถึงการปัดเป่าสิ่งไม่ดีออกไป เพื่อให้คู่แต่งงานได้เริ่มต้นชีวิตคู่ด้วยความเจริญรุ่งเรือง และก็เข้าสู่ช่วงสุดท้ายของพิธีแบบโบราณ เจ้าบ่าวจะสวมชุดเป็นพระทอง ส่วนเจ้าสาวจะสวมชุดเป็นนางนาค ซึ่งมาจากตำนานการสร้างเมืองกัมพูชา เกี่ยวกับมนุษย์ที่รักกับธิดาพญานาค ในช่วงนี้ทั้งคู่จะนั่งคู่กันโดยมีครอบครัว และญาติผู้ใหญ่ล้อมเป็นวงกลม ก่อนที่พราหมณ์จะดำเนินพิธีทำน้ำมนต์ ซึ่งน้ำมนต์นี้จะถูกใช้ในช่วงต่อมาที่ให้พ่อแม่ ญาติ เพื่อนเข้ามาผูกข้อมืออวยพรทั้งคู่ โดยเอาเส้นด้ายจุ่มในน้ำมนต์ก่อน และในช่วงนี้ก็จะเป็นการให้ของขวัญแก่คู่บ่าวสาว จะเป็นเงิน หรือเครื่องประดับก็แล้วแต่ เมื่อจบพิธีการแล้ว จะเป็นการส่งตัวเข้าหอ โดยฝ่ายชายจะจับชายสไบของฝ่ายหญิงให้แน่น เช่นเดียวกับพระทองที่จับสไบของนางนาคตามลงไปอภิเษกในเมืองนาคนั่นเอง มีการรำอวยพรบ่าวสาวในงานแต่งงาน จะเห็นได้ว่า พิธีแต่งงานของชาวกัมพูชาตามประเพณีโบราณนั้น มีขั้นตอนมากมาย และแต่ละอย่างก็มีความหมายลึกซึ้ง มีความประณีต พิถีพิถัน แค่เฉพาะพิธีช่วงเช้าทั้งหมด บ่าวสาวเปลี่ยนเครื่องแต่งกายไปแล้วถึง 5 ชุด แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสถานะ และความสะดวกด้วย และอย่างที่ว่า งานแต่งงานถือเป็นงานใหญ่ ที่เจ้าภาพจะเลี้ยงหาอาหารแขกเหรื่อที่มาในงานอย่างดี เรียกว่าสมัยก่อนจัดที่บ้านก็ทำเลี้ยงกันทุกมื้อ แต่ปัจจุบันนี้ธุรกิจจัดงานแต่งงานเข้ามาอำนวยความสะดวก ทั้งพิธีการ สถานที่ การจัดเลี้ยง มีครบหมดอยู่ที่จะเลือก ช่วงสุดท้ายของพิธี คู่บ่าวสาวจะแต่งกายเป็นพระทอง-นางนาค ในช่วงเย็นก็มีพิธีฉลองสมรส เลี้ยงอาหารเย็น ซึ่งเหมือนกับในประเทศไทย เป็นธรรมเนียมสากล แต่ที่ในกัมพูชาจะไม่มีขั้นตอนมากเท่า เช่น เจ้าบ่าว เจ้าสาว และพ่อแม่สองฝ่ายจะต้อนรับแขกเหรื่อที่มาด้านหน้างาน จนกระทั่งถึงเวลา เจ้าบ่าวก็จะพาเจ้าสาวเดินเข้างาน บนเวทีก็ไม่ต้องมีประธานในพิธี เพียงแต่พ่อแม่ และเจ้าบ่าว เจ้าสาว ขึ้นกล่าวขอบคุณผู้มาร่วมงานเท่านั้น เมื่อเสร็จแล้ว บ่าวสาวก็ลงมาเต้นรำเปิดฟลอร์ จากนั้นก็จะเข้าสู่ช่วงของการเฉลิมฉลองกัน มีทั้งการร้องรำทำเพลงแบบร่วมสมัย และเพลงสากล เพลงไทยตามสมัยนิยมก็ใช้แพร่หลายในงานฉลองช่วงเย็น ถือเป็นอันเสร็จพิธี งานฉลองในช่วงเย็นจะไม่มากพิธีการ แค่เจ้าภาพขึ้นกล่าวขอบคุณแขกเหรื่อ โดยงานเลี้ยงฉลองในช่วงเย็นนี่เอง ที่จะเป็นช่วงที่มีคนมาจำนวนมาก จากคำบอกเล่า จำนวนแขก 500 – 600 คนถือว่าเป็นงานระดับธรรมดา ถ้าตั้งแต่ 1,000 คน หรือ 100 โต๊ะขึ้นไปก็ถือว่าเป็นงานใหญ่แล้ว อย่างไรก็ตาม หนุ่มสาวกัมพูชายุคใหม่ มีแนวคิดในเรื่องนี้ค่อนข้างแตกต่าง โดยพวกเขาและเธอกล่าวว่า ที่ต้องจัดงานใหญ่โตนั้นเป็นความต้องการของครอบครัว งานแต่งงานถือเป็นหนึ่งในการแสดงสถานะทางสังคม แขกที่มาร่วมงานเลี้ยงฉลอง ที่เป็นแขกของบ่าวสาวจริงๆ เพียงแค่ร้อยละ 30 ที่เหลือก็จะเป็นแขกของบิดา มารดา แต่อย่างไรแล้ว ไม่ว่าคนรุ่นไหนก็ยังให้ความสำคัญกับพิธีโบราณในช่วงกลางวัน เพราะไม่เพียงแต่มีความงดงามแล้ว ยังมีความศักดิ์สิทธิ์ เป็นวัฒนธรรมประเพณีของชาติที่น่าภูมิใจ และต้องสงวนรักษาไว้ต่อไป ช่วงเวลาเฉลิมฉลองในงานเลี้ยงฉลองมงคลสมรส