คลอดออกมาแล้ว สำหรับ ผลการศึกษาติดตามสภาพอากาศของโลกเราในปี 2024 (พ.ศ. 2567) นี้ ก่อนรายงานออกมา

โดยเป็นผลการศึกษาติดตามของ “สำนักงานบริการติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโคเปอร์นิคัส” หรือ “ซี3เอส” ซึ่งเป็นหน่วยงานติดตามสภาพอากาศของภูมิภาคยุโรป

ทั้งนี้ ทาง “ซี3เอส” ระบุว่า ในปี 2024 นี้ เป็นปีที่โลกของเรามีอากาศร้อนที่สุด ทุบสถิติเป็นประวัติการณ์ หรือประวัติศาสตร์โลก นับตั้งแต่เริ่มการบันทึกข้อมูลเป็นครั้งแรกในปี 1850 (พ.ศ. 2393) หรือเมื่อ 174 ปีที่แล้ว ภายหลังจากดำเนินการศึกษาติดตามสภาพอากาศของโลกเราโดยทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สภาพอากาศของประเทศต่างๆ ของภูมิภาคยุโรป ซึ่งในการศึกษาติดตาม ทาง “ซี3เอส” ก็จะระดับอุณหภูมิของโลกในช่วงก่อน “ยุคอุตสาหกรรม” เป็นเกณฑ์กำหนด คือ ก่อนระหว่างช่วงปี 1850 – 1900 (พ.ศ.2393 – 2443) ทั้งนี้ ก่อนยุคอุตสาหกรรมของแต่ละประเทศ ก็ถือกำเนิดไม่เท่ากัน แต่จะอยู่ในช่วงของ 50 ปีข้างต้น คือ ระหว่างปี 1850 – 1900 นั่นเอง

รายงานของ “ซี3เอส” เปิดเผยว่า สภาพอากาศของโลกเราที่ร้อนสุดในปี 2024 นี้นั้น ก็จะมีอุณหภูมิสูงขึ้นมากกว่าเมื่อช่วงยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม 1.55 องศาเซลเซียส ทุบสถิติสูงกว่าเมื่อปีที่แล้ว ที่ตัวเลข 1.48 องศาเซลเซียส

ตัวเลข 1.55 องศาเซลเซียสดังกล่าว ทาง “ซี3เอส” ระบุด้วยว่า เป็นตัวเลที่ทะลุเกินกว่าที่เกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียสที่ตั้งเป้าไว้ คือ ทางคณะผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพภูมิอากาศ ไม่อยากให้อุณหภูมิโลกโดยเฉลี่ย สูงเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียสของอุณหภูมิโลกในช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม เมื่อร้อยกว่าปีก่อน

เรียกว่า ทางคณะผู้เชี่ยวชาญฯ ตั้งเพดานเอาไว้ว่า ไม่ควรมากไปกว่านี้ สำหรับ สถานการณ์ของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือภาวะโลกร้อน ที่ถูกยกให้เป็นวิกฤติ

ทางการสหรัฐฯ ต้องขึ้นป้ายเตือนอันตรายจากอากาศร้อนจัดในบางพื้นที่ (Photo : AFP)

นอกจากนี้ ตัวเลขที่จะไม่ให้สูงเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส หากเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม ก็ยังเป็นตัวเลขที่ตัวแทนทางการของเกือบ 200 ประเทศ ได้บรรลุข้อตกลงเอาไว้ว่าจะปฏิบัติตาม “ข้อ ตกลงปารีส 2015 (พ.ศ. 2558)” ซึ่งได้มีผลบังคับใช้เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2016 (พ.ศ. 2559) หรืออีก 1 ปีถัดมานั้นว่า จะจำกัดอุณหภูมิโลก ไม่ให้สูงเพิ่มขึ้นเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส จากช่วงยุคก่อนอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ ตัวเลข 1.55 องศาเซลเซียส ก็ยังถือเป็นครั้งแรกที่อุณหภูมิของโลกเรา ทะลุสูงเกินกว่าเพดานที่ตั้งไว้ 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งทางคณะผู้เชี่ยวชาญฯ บอกว่า น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง สำหรับ อุณหภูมิโลกที่ทะยานพุ่งสูงทุบสถิติเช่นนี้

อย่างไรก็ดี หากเมื่อกล่าวถึงสถานการณ์สภาพอุณหภูมิเฉพาะในช่วงเดือนพฤศจิกายน ก็ต้องบอกว่า อุณหภูมิโลกเราเฉลี่ยในปีนี้ ก็ยังต่ำกว่าช่วงเดือนพฤศจิกายนของปีที่แล้ว ตามการศึกษาติดตามของ “ซี3เอส” ที่ระบุว่า เฉพาะเดือนพฤศจิกายน ปี 2023 (พ.ศ. 2566) อุณหภูมิโลกเราโดยเฉลี่ยสูงถึง 1.68 องศาเซลเซียส แต่เมื่อกล่าวถึงอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยในปี 2023 ที่ผ่านมานั้น ก็อยู่ที่ 14.98 องศาเซลเซียส ยังต่ำกว่าเพดานที่คณะผู้เชี่ยวชาญฯ และ “ข้อตกลงปารีส 2015” กำหนดไว้ที่ไม่ให้เกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม

บรรดาผู้เชี่ยวชาญฯ ยังคาดการณ์ด้วยว่า ในปีหน้า และปีต่อๆ ไป โลกเราก็จะมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงเพิ่มขึ้นยิ่งกว่าปีนี้อีกแน่ๆ ตามแนวโน้มที่ส่งสัญญาณว่า อุณหภูมิโลกจะเพิ่มสูงขึ้นกันทุกๆ ปี

นั่น! หมายความว่า โลกเราจะมีอากาศร้อนมากขึ้น นั่นเอง

ทางการในบางประเทศของภูมิภาคยุโรป เช่น อิตาลี ขึ้นป้ายบอกอุณหภูมิในแต่ละพื้นที่ (Photo : AFP)

ทั้งนี้ จากอุณหภูมิโลกที่พุ่งสูงขึ้น ก็ต้องถือว่า นานาชาติเกือบ 200 ประเทศประสบความล้มเหลวในการปฏิบัติตาม “ข้อตกลงปารีส 2015” ที่เคยให้สัตยาบันกันไว้

พร้อมกันนี้ เหล่าผู้เชี่ยวชาญฯ เรียกร้องให้นานาประเทศ เร่งดำเนินมาตรการให้เป็นไปตาม “ข้อตกลงปารีส 2015” ก่อนสถานการณ์วิกฤติภาวะโลกร้อนจะเลวร้ายมากยิ่งขึ้นไปกว่าที่เป็นอยู่

โดยผลพวงจากอุณหภูมิโลกที่ทะยานพุ่งสูงขึ้นเช่นนี้ ก็ส่งผลกระทบต่อชีวิตและสุขภาพของผู้คนพลเมืองโลก จากการศึกษาติดตามสถานการณ์ในช่วงที่ผ่านมา

จากอุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้นในรอบปี 2024 ที่กำลังจะหมดไปนี้ ก็ได้คร่าชีวิตผู้คนของประเทศในภูมิภาคต่างๆ ทั้งยุโรป เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เอเชียใต้ เช่นในอินเดีย ถูกจัดว่าเป็นประเทศที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดจากผลกระทบของอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นเมื่อปีที่แล้ว

ตามตัวเลขเป็นทางการในภูมิภาคยุโรป ก็มีผู้เสียชีวิตจากอุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้น จำนวน 19 ราย

ส่วนประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออุษาคเนย์ ซึ่งประกอบด้วย 10 ประเทศ มีตัวเลขผู้เสียชีวิต จำนวน 1,473 ราย ในจำนวนนี้เป็นพลเมืองในเมียนมามากกว่า 100 ราย ซึ่งถือเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นในปีนี้ นอกจากนี้ ยังมีผู้ที่ล้มป่วยอีกหลายพันคน จากผลพวงของอากาศที่ร้อนมากขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม ภูมิภาคที่นับว่าได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด ก็ได้แก่ เอเชียใต้ โดยเฉพาะอินเดีย ประเทศพี่เบิ้มใหญ่ในภูมิภาคเอเชียใต้ โดยมีตัวเลขของผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการมากกว่า 360 ราย แต่ตัวเลขที่ตกการสำรวจไปน่าจะมีมากกว่านั้น ส่วนผู้ที่ล้มป่วยเพราะอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น จนถึงขั้นต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลมีจำนวนมากกว่า 40,000 ราย สำหรับตัวเลขที่เป็นทางการ และคาดว่า ยังมีที่หลุดจากการสำรวจติดตามของทางการอินเดีย ก็ยังมีอีกมาก

ทั้งนี้ อุณหภูมิที่อินเดียของเมื่อปีที่แล้ว พุ่งสูงขึ้นถึง 50.5 องศาเซลเซียส ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และอาจคร่าชีวิตผู้คนได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาสุขภาพเป็นทุนเดิม และผู้สูงอายุ ที่ถูกจัดให้เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง

นอกจากนี้ อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น ก็ยังส่งผลกระทบให้เกิดภัยแล้วอย่างรุนแรงในหลายพื้นที่ช่วงรอบปีที่กำลังจะหมดไปนี้ด้วย