นายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวความคืบหน้าโครงการตรวจสุขภาพฟรี 1 ล้านคน ว่า จากการประชุมหัวหน้าหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 12/2567 ได้รับรายงานว่า ล่าสุดมีผู้เข้ารับการตรวจแล้ว 726,786 คน พบประชาชนนอกเขต กทม. 62,803 คน และนักเรียนสังกัด กทม. 250,000 คน ความเสี่ยงสุขภาพส่วนใหญ่คือสภาวะน้ำหนักเกินในทุกช่วงอายุ ตั้งแต่ 5-60 ปีขึ้นไป รองลงมาคือโรคความดันโลหิตสูง และน้ำตาลในเลือดสูง ในกลุ่มอายุตั้งแต่ 6-60 ปีขึ้นไป
ด้านพฤติกรรมที่มีผลต่อสุขภาพ ในกลุ่มอายุ 15-34 ปี พบผู้สูบบุหรี่ร้อยละ 12.22 ดื่มแอลกอฮอล์ร้อยละ 25.56 มีความเครียดมาก-มากที่สุดร้อยละ 5.31 เสี่ยงซึมเศร้าร้อยละ 21.25 ในกลุ่มอายุ 35-49 ปี สูบบุหรี่ร้อยละ 10.31 ดื่มแอลกอฮอล์ร้อยละ 22.43 มีความเครียดมาก-มากที่สุดร้อยละ 2.45 เสี่ยงซึมเศร้าร้อยละ 13.35 ในกลุ่มอายุ 50-59 ปี สูบบุหรี่ร้อยละ 8.53 ดื่มแอลกอฮอล์ร้อยละ 15.10 มีความเครียดมาก-มากที่สุดร้อยละ 1.33 เสี่ยงซึมเศร้าร้อยละ 9.86 ด้านการตรวจเอ็กซเรย์ปอด พบความผิดปกติร้อยละ 14.96 เสี่ยงภาวะหัวใจโต วัณโรคปอด และตรวจพบก้อนปอด
นอกจากนี้ ยังมีการขยายกลุ่มเป้าหมายเพิ่มเติม โดยในวันที่ 23 ธ.ค.นี้ จะมีการให้บริการตรวจสุขภาพวินมอเตอร์ไซค์ฟรี ตั้งแต่เวลา 08.00-15.00 น. ใน 14 จุด ได้แก่ 1. รพ.พระมงคลเทพมุนี เขตภาษีเจริญ 2. ห้าง SC Plaza เขตตลิ่งชัน 3. Health Tech ซีคอนบางแค เขตภาษีเจริญ 4. หอประชุมสำนักงานเขตบางบอน เขตบางบอน 5. วัดทองนพคุณ เขตคลองสาน 6. รพ.ผู้สูงอายุบางขุนเทียน เขตบางขุนเทียน 7. ศูนย์การค้า tree on 3 เขตบางคอแหลม 8. สมาคมนายทหารขนส่งกรมขนส่งทหารบก เขตดุสิต 9. สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น เขตดินแดง 10. วัดพระพิเรนทร์ เขตป้อมปรามศัตรูพ่าย 11. รพ.บุษราคัมจิตการุณย์ เขตสายไหม 12. วัดบึงทองหลาง เขตบางกะปิ 13. ศาลาประชาคมสำนักงานเขตหนองจอก เขตหนองจอก 14. วัดปลูกศรัทธา เขตลาดกระบัง
นายต่อศักดิ์ กล่าวว่า เป้าหมายในปี 2568 กทม.ตั้งเป้าตรวจสุขภาพข้าราชการกรุงเทพมหานครทั้งหมด 76,639 คน (100%) ปัจจุบันตรวจไปแล้ว 30,729 คน หรือร้อยละ 38.58 จากการให้บริการตรวจสุขภาพฟรีที่ผ่านมา ทำให้ กทม.มีข้อมูลด้านสุขภาพของประชาชน สามารถนำไปวิเคราะห์และขยายผลด้านการป้องกันโรคเบื้องต้นได้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จึงเห็นความสำคัญในการสนับสนุนงบประมาณให้ กทม.ดำเนินโครงการต่อไป
สำหรับงบประมาณสนับสนุนดังกล่าว รายงานข่าวแจ้งว่า คิดเป็นรายบุคคลที่เข้ารับการตรวจสุขภาพ โดยอายุต่ำกว่า 35 ปี คิดรายละ 200 บาท อายุมากกว่า 35 ปี คิดรายละ 500 บาท ตามโปรแกรมตรวจสุขภาพ ประกอบด้วย 1. ตรวจคัดกรองสัญญาณชีพ 2. คัดกรองสุขภาพจิต/ความเครียด 3. คัดกรองความเสี่ยงการเกิดโรคเบาหวานความดันโลหิตสูง ภาวะน้ำหนักเกิน 4. คัดกรองความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
5. โปรแกรมเจาะเลือดตรวจสุขภาพ ได้แก่ ตรวจระดับน้ำตาลในเลือด (Blood sugar/FBS) ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC) ตรวจระดับไขมันในเลือด คอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ เอชดีแอล ตรวจการทำงานของไต (Creatinine) ตรวจการทำงานของตับ (SGOT,SGPT) 6. ตรวจเอ็กซเรย์ปอด (Chest X-Ray) 7. ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) 8. ตรวจภาวะแทรกซ้อนทางตา (DR Screening) สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน หรือตรวจพบระดับน้ำตาลมากกว่า 200 Mg% 9. บริการแนะนำสำหรับกลุ่มเสี่ยงหรือต้องการตรวจเพิ่มเติม ได้แก่ คัดกรองมะเร็งปากมดลูก คัดกรองมะเร็งลำไส้ คัดกรองเอชไอวี
นอกจากนี้ ยังมีบริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ High-Dose (High-Dose Influenza Vaccine) สำหรับผู้มีสิทธิและบุคคลในสิทธิกรุงเทพมหานคร ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป รวมถึงมีบริการวัคซีนอื่น ๆ สำหรับผู้ที่สนใจ เช่น วัคซีนไวรัสตับอักเสบ วัคซีนไข้เลือดออก วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก วัคซีนโควิด วัคซีน RSV เป็นต้น