มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ลุยประเด็นขุดลอกแม่สาย พบชาวบ้านเกือบพันยังกังวลใจ กลัวกระทบซ้ำ รัฐเดินหน้าขุดลอกแน่ก่อนฝนปีนี้
วันที่ 15 ธ.ค.2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีเกิดน้ำท่วมใหญ่พื้นที่ชายแดนไทย-เมียน มา อ.แม่สาย จ.เชียงราย และฝั่ง จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา ในระหว่างเดือน ส.ค.-ต.ค. 2567 จนได้รับความเสียหายอย่างหนักเป็นประวัติการณ์นั้น
ล่าสุดมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ได้ร่วมกับเทศบาล ต.แม่สาย ศูนย์สร้างสรรค์เมืองเชียงใหม่ กลุ่มท้องถิ่นศึกษา และมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ ได้จัดการเสวนา (BM24- 010) องค์กรปกครองท้องถิ่นกับการจัดการภัยพิบัติ" ขึ้น ณ ห้องประชุมเทศบาล ต.แม่สาย อ.แม่สาย จ.เชียงราย โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิร่วมถกประเด็นแก้ปัญหาให้ถาวร โดยผู้เข้าร่วมมีทั้งหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นักวิชาการ ฯลฯ อาทิ นายชัยยนต์ ศรีสมุทร นายกเทศมนตรี ต.แม่สาย ดร.ธนิกุล จันทรา คณบดีสำนักวิชานวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และ นางนภาจรี จิวะนันทประวัติ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายโครงการ มูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ ดร.สืบสกุล กิจนุกร นักวิชาการสำนักวิชานัวตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ฯลฯ
ทั้งนี้ได้รับทราบปัญหาจากชาวบ้านว่าปัจจุบันแม้จะมีการฟื้นฟูพื้นที่แต่ยังคงมีดินโคลนติดอยู่ในท่อระบายน้ำต่างๆ ส่วนชาวบ้านเมื่อทราบว่าจะมีการเวนคืนที่ดินริมฝั่งก็มีความกังวลว่าจะสูญเสียที่อยู่อาศัยโดยบางจุดลึกเข้ามา 30-250 เมตร จึงขอให้เจ้าหน้าที่ได้เข้าไปสอบถามชาวบ้านก่อนสรุป เพราะไม่ได้อยากได้รับผลกระทบสูญเสียเพิ่มจากน้ำท่วม บางคนถึงขั้นเสนอให้เปลี่ยนจากเวนคืนที่ดินให้เป็นการจัดการพื้นโดยคำนึงถึงชีวิต ทรัพย์สิน อาชีพ หรือถ้าจะย้ายประชาชนออกไปอยู่ที่อื่นให้ชดใช้เต็มจำนวน ฯลฯ
ทางด้านนายอนันต์ เพ็ชร์หนู ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติภาค 1 กล่าวว่าปัจจุบันหน่วยงานที่รับผิดชอบคือคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน สำหรับเหตุการณ์น้ำท่วมที่ อ.แม่สาย พบว่าเกิดในช่วงที่มีความกดอากาศต่ำและมีพายุ 2-3 ลูก โดยเฉพาะ
”ยางิ“ พัดผ่านทำให้เกิดฝนตกแช่หลายวันในประเทศเมียนมาชั่วโมงละ 200 มิลลิเมตร ประกอบกับพื้นที่ฝั่งตรงกันข้ามประเทศไทยมีแต่ภูเขาหัวโล้นโดยไม่มีป่าและอ่างกักเก็บน้ำจึงทำให้ปริมาณน้ำและตะกอนดินโคลนลงมาสู่ชายแดนทั้งหมด เมื่อไปถึงแม่น้ำสายที่ติดประเทศไทยระยะทาง 15 กิโลเมตร ซึ่งคับแคบและตื้นเขิน รวมทั้งมีสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำทำให้มีผลกระทบมากดังกล่าว
นายอนันต์ กล่าวอีกว่า ดังนั้นภาครัฐจึงได้มีการแก้ไขปัญหาด้วยการสำรวจและขุดลอกแม่น้ำสายเป็นะระยะเร่งด่วนก่อน โดยอยู่ภายใต้ความร่วมมือไทย-เมียนมา คือคณะกรรมการร่วมไทย-เมียนมา เกี่ยวกับเขตแดนคงที่ช่วงแม่น้ำสาย-แม่น้ำรวก (JCR) โดยฝ่ายทหารได้ทำการสำรวจพื้นที่และจะมีการประชุม JCR เพื่อหาข้อสรุปในวันที่ 19-20 ธ.ค.นี้ ดังนั้นจึงไม่ได้ถึงขั้นที่จะไปรื้อถอนอาคารริมฝั่งแต่เป็นเพียงการขุดลอกระยะแรก
ส่วนกรมโยธาธิการและผังเมืองก็มีการออกแบบเพื่อสร้างพนังกั้น ในระยะทาง 3.96 กิโลเมตรต่อไป
อย่างไรก็ตามในการเดินทางไปดูพื้นที่ของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก็ได้หน่วยงานต่างๆ ได้ทบทวนร่วมกันเพื่อให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ 843 กว่าหลังคาเรือนซึ่งมีทั้งที่มีเอกสารสิทธิ์และไม่มีเอกสารสิทธิ์ไม่ให้ได้รับผลกระทบ
ดังนั้นจึงไม่ได้หมายความว่า แผนงานที่นำเสนอจะดำเนินการได้ทันที แต่ก็ขอให้คำนึงว่าหากมีฝนตกหนักในฤดูกาลถัดไป อาจจะเกิดน้ำท่วมใหญ่ได้ เพราะปัจจุบันลำน้ำมีแต่ดินโคลนตะกอนแม้แต่ท่อน้ำต่างๆ ก็มีดินโคลนติดอยู่โดยสังเกตุได้จากฝนล่าสุดที่ตกเพียงเล็กน้อยน้ำก็เอ่อล้นขึ้นมา ระยะเร่งด่วนในเดือน มี.ค.2568 จึงต้องขุดลอกเพื่อรองรับฤดูฝนหน้า ส่วนภายใน 1 ปี จะมีการติดตั้งระบบเตือนภัยและอื่นๆ ต่อไป
ส่วนกรณีพนังกั้นทางนายกรัฐมนตรีได้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปคิดหาวิธีสร้างอย่างถาวรโดยไม่ใช่พนังชั่วคราวเพื่อไม่ให้กระทบด้านการใช้งบประมาณแต่เงื่อนไขคือไม่ให้ประชาชนต้องเดือดร้อน
รายงานข่าวจากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติรายงานว่า แผนที่นำเสนอรัฐบาลและ JCR คือ การขุดลอกและปรับปรุงแม่น้ำสาย-แม่น้ำรวก การขุดลอกแม่น้ำสายเป็นะระยทาง 14.45 กิโลเมตร แบ่งเป็นโซน 1 ระยะทาง 12.39 กิโลเมตร และโซน 2 ระยะทาง 2.06 กิโลเมตร ส่วนแนวการสร้างพนังมีระยะทาง 3.960 กิโลเมตร ส่วนแม่น้ำรวกมีการขุดลอก 30.89 กิโลเมตร ปัจจุบันมีการสำรวจและออกแบบแล้วเสร็จแล้ว หากได้รับการอนุมัติจาก JCR จะขอรับการจัดสรรงบประมาณจาก สทนช.และกองทัพบกในเดอน ธ.ค.2567-ม.ค.2568 จากนั้นเริ่มดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือน พ.ค.2568 ด้วยงบประมาณประมาณ 100 ล้านบาท
ทั้งนี้ผู้ที่จะได้รับผลกระทบทั้ง 843 หลัง เป็นผู้ที่มีกรรมสิทธิ์ที่ดิน เช่น โฉนด นส.3 นส.3 ก.จำนวน 178 หลัง และอยู่ในที่ราชพัสดุจำนวน 162 หลัง รวมทั้งอยู่ในที่สาธารณะและอื่นๆ กว่า 508 หลัง.