วันที่ 14 ธ.ค.67 นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว "Panat Tasneeyanond" ระบุว่า... 


ไหล่ทวืปคือพื้นที่ใต้ทะเลและชั้นดินใต้พื้นทะเล (seabed and subsoil) การประกาศอ้างสิทธิอธิปไตยของรัฐชายฝั่งเหนือไหล่ทวีปที่เป็นส่วนต่อขยายของพื้นที่ใต้ทะเลจากผืนแผ่นดินอันเป็นที่ตั้งของรัฐชายฝั่งเป็นการอ้างสิทธิอธิปไตยเพื่อทำการสำรวจและแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรปิโตรเลี่ยมและแร่ธาตุต่างๆ รวมทั้งทรัพยากรอื่นที่มีอยู่ตามธรรมชาติในพื้นที่ไหล่ทวีป เท่านั้น มิใช่เป็นการอ้างการมีอธิปไตยหรือกรรมสิทธิ์เหนือพิ้นที่ไหล่ทวีปเหมือนการมีอธิปไตยเหนือดินแดนบนบกของแต่ละประเทศ การอ้างสิทธิอธิปไตยจึงเป็นการอ้างสิทธิเพื่อแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่ในไหล่ทวีปเท่านั้น พื้นที่ไหล่ทวืปจึงมิใช่ดินแดนของประเทศใดในโลก ดังนั้น การที่คนไทยรู้สึกเป็นกังวลเกรงกลัวว่าจะต้องสูญเสียดินแดนเหมือนกรณีเขาพระวิหารอีกตามที่มีการปลุกปั่นกันโดยคนกลุ่มหนึ่งอยู่ในขณะนี้ จึงไม่มีทางเป็นไปได้แน่นอน เพราะไหล่ทวีปทั้งในอ่าวไทยและทะเลอันดามันไม่ใช่”ดินแดน”ของประเทศไทยและประเทศอื่นใดทั้งสิ้น สิ่งที่ทับซ้อนกันคือการอ้างสิทธิทับซ้อน (Overlapping Claims)เหนือพื้นที่ไหล่ทวีปที่แต่ละประเทศต่างก็อ้างสิทธิอธิปไตยของตนตามหลักกฎหมายทะเลระหว่างประเทศที่ประกอบด้วยกฎหมายจารีตประเพณีและข้อตกลงระหว่างประเทศที่ยอมรับกันโดยทั่วไปเท่านั้น และการอ้างสิทธิทับซ้อนกันก็เป็นเรื่องปกติธรรมดาของการแบ่งเขตทางทะเลของประเทศที่มีอาณาเขตใกล้ชิดติดกัน เพราะส่วนใหญ่เป็นการอ้างโดยพละการตนเองของแต่ละประเทศ 

ดังนั้น หลักการสำคัญที่เป็นหัวใจของหลักฎหมายทะเลระหว่างประเทศจึงต้องเป็นการหาทางตกลงกันให้ได้ระหว่างประเทศที่มีการอ้างสิทธิทับซ้อนกัน หากตกลงกันไม่ได้ก็จะต้องเข้าสู่กระบวนการระงับข้อพิพาทภาคบังคับโดยอาศัยกลไกที่ยอมรับกันให้มีอำนาจชี้ขาดตัดสิน เช่น ศาลโลก (ICJ) อนุญาโตตุลาการ การไกล่เกลี่ย ตามอนุสัญญากม.ทะเล (UNCLOS) 1982 กลไกที่กำหนดเพิ่มขึ้นมาใหม่คือ International Tribunal for the Law of the Sea (ITLOS)

สำหรับ “เขตเศรษฐกิิจจำเพาะ” (Exclusive Economic Zone -EEZ) ก็ทำนองเดียวกันกับไหล่ทวืปในแง่ที่ว่ามิใช่เป็น”ดินแดน”ของรัฐชายฝั่งที่เพียงแต่มีสิทธิอธิปไตยเพื่อแสวงหา ใช้ประโยชน์และอนุรักษ์ทรัพยากรสิ่งมีชีวิต (ปลาและสัตว์น้ำทุกชนิด)ในอาณาเขตพื้นท้องทะเลไม่เกิน 200 ไมล์ทะเลจากชายฝั่งของรัฐตนเอง ส่วนพิ้นท้องทะเลที่เป็นน่านน้ำเขตเศรษฐกิจจำเพาะนั้นยังคงมีฐานะเป็น “ทะเลหลวง” (High Sea) อยู่ ที่ประเทศใดๆก็ไม่อาจอ้างว่าเป็น”ดินแดน” ของประเทศตนเองได้ตามหลักกฎหมายทะเลระหว่างประเทศ 

การพยายามปลุกปั่นว่าปัญหาการอ้างสิทธิทับซ้อนกันระหว่างไทยกับกพช.เหนือพื้นที่ไหล่ทวีป และเขตเศรษฐกิจจำเพาะในอ่าวไทยจะนำไปสู่การสูญเสียดินแดนภายใต้อธิปไตยของไทยให้กพช.อีก จึงเป็นวาทกรรมที่มีเหตุจูงใจทางการเมืองที่ไม่สุจริตใจและหวังดีต่อประเทศชาติและความสามัคคีของประชาชนคนไทยดังทีีมักจะหยิบยกขึ้นมากล่าวอ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่การกระทำของตนเองอยู่เสมอมา