วันที่ 13 ธ.ค.67 ที่ว่าการอำเภอปะทิว อ.ปะทิว จ.ชุมพร นายเจริญโชค พรหมชุติมา นายอำเภอปะทิว เป็นประธานลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการ “ตำบลเข้มแข็งตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568  และเพื่อให้การขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการฯ สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพอำเภอปะทิว จึงทำหนังสือเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมในวันที่ 12 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยพร้อมเพรียงกันประกอบด้วย 1.บริษัท เดอะ ไพเนอรี่ จำกัด  2.ภาคประชาสังคม 3.สื่อมวลชน 4.ภาคประชาชน 5.พัฒนาการอำเภอปะทิว 6.เจ้าอาวาสวัดเอราวัณนันทิยาราม 7.รองอธิการบดี วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ 8.สาธารณสุขอำเภอปะทิว 9.เกษตรอำเภอปะทิว 10.ประมงอำเภอปะทิว 11.นายกเทศมนตรีตำบลชุมโค 12.กำนันตำบลชุมโค 13.ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนบ้านวังช้าง

ทั้งนี้ เมื่อได้เวลาตามกำหนดการประชุมเพื่อร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการ “ตำบลเข้มแข็งตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ซึ่งการลงนามดังกล่าวมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนในระดับตำบล อำเภอและจังหวัดตามลำดับ  ปรากฏว่าผู้เข้าร่วมประชุมมาร่วมไม่ครบตามหนังสือเชิญโดยขาดไปจำนวน 5 รายชื่อ บางรายส่งตัวแทนเข้าร่วมทำให้มองว่าผู้ที่ไม่เข้าร่วมไม่ให้ความสำคัญ ทำให้นายอำเภอปะทิว เกิดอาการไม่พอใจ โดยว่ากล่าวในห้องประชุมว่า “การลงนาม MOU ไม่รู้หรือว่าไม่มากันแน่ การทำลงนามMOU แม้กระทั้งระดับจังหวัดผู้ว่าฯก็ต้องมาเอง อะไรก็แล้วแต่เจ้าตัวที่รายชื่อต้องมาเองนี่อะไรส่งตัวแทนมาเปลืองอากาศหายใจ ไม่ต้องมา ทำให้อารมณ์เสีย พอเห็นสภาพแล้วไม่ผ่าน ลงนาม MOU จะศักดิ์สิทธิ์ได้อย่างไร ที่ไม่มาเป็นเพราะอะไรมารยาทต้องมีมาไม่ครบMOU จะลงนามได้ยังไง เป็นเรื่องที่ไม่ควรพูด แต่พอเห็นสภาพต้องพูดแล้วเราไม่ได้เล่นข้าวแกงมาทำงาน ทีเรื่องประเมินเลื่อนขั้นมาให้เซ็นต์กันหมด หนังสือส่งให้ทุกหน่วยงาน เป็นข้าราชการเสียเปล่าขนาดพระยังมา ระดับตำบลยังไม่เข้มแข็งอำเภอจะเข้มแข็งได้อย่างไร” 

ซึ่งการทำหนังสือร่วมลงนามครั้งนี้จำนวน 13 รายชื่อประกอบด้วย ผู้นำชุมชน บริษัทเอกชน หน่วยงานรัฐ และสถานศึกษา  สื่อมวลชน  ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน แต่ไม่มาร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(MOU) โครงการ “ตำบลเข้มแข็งตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568

สำหรับเนื้อหาสาระการลงนามร่วมกัน ซึ่งมีความปะสงค์ที่จะมีความร่วมมือในการขับเคลื่อนตำบลชุมโคให้เป็นตำบลเข้มแข็ง  ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้มีขีดความสามารถในการบริหารจัดการ ประชาชนมีส่วนร่วมตามหลักประชาธิปไตย มีความมั่นคงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจฐานรากมั่นคง โดยบูรณาการความร่วมมือกลไก 7 ภาคีเครือข่าย ให้มีความเข้มแข็ง ใน 3 มิติ คือ มิติด้านความมั่นคง  ตำบลที่มีความสามารถในการบริหารจัดการตำบลมีความมั่นคงด้านอาหาร ประชาชนมีรายได้มั่นคงและอยู่ร่วมกันอย่างรู้รัก สามัคคีเกื้อกูลเป็นต้น