ศปช. สั่ง 5 จังหวัดภาคใต้เตรียมพร้อมรับมือ หลังได้รับรายงานจากกรมอุตุฯ ช่วง 2 วันนี้ (13-14 ธ.ค.) จะเป็นช่วงที่ฝนตกหนักมากที่สุดตามที่ได้ออกประกาศแจ้งเตือนก่อนหน้านี้
วันนี้ (13 ธันวาคม 2567) นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่ ศปช.ได้ประกาศแจ้งเตือนให้เฝ้าระวังฝนตกหนักในช่วงระหว่างวันที่ 12-16 ธันวาคม 2567 ซึ่งอาจก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม ในพื้นที่ 9 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ซึ่งจากการติดตามสถานการณ์ต่อเนื่องพบว่าในช่วง 2 วันนี้ (13-14 ธ.ค.) จะเป็นช่วงที่ปริมาณฝนสูงสุด โดยเฉพาะในพื้นที่ 5 จังหวัดที่มีแนวโน้มฝนตกหนักมากได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ผอ.ศปช.) ได้สั่งการไปยังทุกพื้นที่เสี่ยงให้เตรียมความพร้อมระดับสูงสุด โดยขณะนี้ ศูนย์ปภ.เขต 11 สุราษฎร์ธานี ได้เตรียมเครื่องจักรกลสาธารณภัยในพื้นที่รับผิดชอบ 44 หน่วย กระจายไปในจังหวัด ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และพัทลุง ขณะที่ ปภ.เขต 12 สงขลา ได้เตรียมเครื่องจักรกลสาธารณภัยใน 5 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง 712 หน่วย ซึ่งทุกจังหวัดได้ซักซ้อมแผนเผชิญเหตุและเตรียมศูนย์พักพิงไว้รองรับการอพยพประชาชนไปยังจุดปลอดภัยแล้ว
“ในช่วง 2 วันนี้ ทุกหน่วยได้เตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่ หากผ่านช่วงนี้ไปได้แนวโน้มฝนจะเริ่มลดลง และเมื่อถึงวันที่ 18 ธ.ค.ก็จะถือว่าผ่านฝนระลอกนี้ไปได้อย่างสมบูรณ์ แต่ที่ยังน่ากังวลคือปริมาณฝนที่ตกลงมาจะต้องมีการบริหารจัดการน้ำที่ดี โดยเฉพาะในภาคใต้ตอนล่างที่มีน้ำสะสมในแม่น้ำปัตตานี แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำโก-ลกจำนวนมาก ส่งผลให้ยังต้องใช้เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำเร่งระบายน้ำซึ่งคาดว่าระดับน้ำจะเพิ่มสูงสุดในช่วงวันที่ 19-20 ธ.ค.”
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยความคืบหน้าการฟื้นฟูผลกระทบจากน้ำท่วม ล่าสุดได้รับรายงานว่า ระบบสื่อสารโทรคมนาคม โทรศัพท์ และอินเทอร์เน็ต กลับมาใช้งานได้ครบทุกพื้นที่ เช่นเดียวกับสถานบริการสาธารณสุขที่ก่อนหน้านี้ได้รับผลกระทบ 135 แห่ง ขณะนี้กลับมาเปิดให้บริการได้ตามปกติทั้งหมดแล้ว
“ในด้านการจ่ายเงินเยียวยามีเสียงสะท้อนจากประชาชนถึงความไม่สะดวกในการลงทะเบียนรับเงินเยียวยาในบาง อปท. ซึ่งที่ประชุมได้มีการสั่งการผ่าน ปภ. ให้หาแนวทางเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกประชาชนให้ได้มากที่สุด และอาจพิจารณานำแนวทางดังกล่าวไปใช้กับจังหวัดอื่น ๆ เพื่อให้สามารถจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบได้เร็วที่สุด” นางสาวศศิกานต์ กล่าว