หมายเหตุ : นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ปาฐกถา ในงานสัมมนาพิเศษ หัวข้อ “ Thailand next station เดินหน้าประเทศไทย” ในภาคการเกษตร ในวาระครบรอบ 71 ปี นิตยสารสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา มีสาระสำคัญดังนี้
“ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินนโยบายสานต่อจากรัฐบาลที่แล้ว มาถึง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา ว่านโยบายที่เกี่ยวกับกระทรวงเกษตรฯนั้นจะใช้การตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ ให้กับพี่น้องเกษตรกร ซึ่งจะเป็นนโยบายที่สอดคล้องต่อเนื่องมาจากรัฐบาลนายกฯเศรษฐา ทวีสิน ดังนั้นกระทรวงเองได้นำพาทั้ง 9 นโยบายที่สอดรับกับการเอาการตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้
สำหรับนโยบายทั้ง 9 ข้อนั้นสามารถแบ่งออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ กลุ่มแรกคือเกษตรมูลค่าสูง จากเดิมจะปลูกแบบที่เคยทำมา ไม่ว่าตลาดหรือเทคโนโลยีจะเปลี่ยนไปอย่างไร ซึ่งอาจจะไม่ได้ไปดูการตลาดมากนักว่าตอนนี้ เราได้เปลี่ยนจากพืชชนิดเดิมๆที่เราเคยผลิต หันมาปลูกพืชที่มีความแตกต่างออกไป ซึ่งต้องปรับเปลี่ยนวิธีการเพาะปลูก จะได้มูลค่าและรายได้ที่สูงขึ้น จุดนี้ทางกรมส่งเสริมการเกษตร พยายามเข้าไปให้คำแนะนำกับพี่น้องเกษตรกร การที่จะเป็นเกษตรมูลค่าสูงได้นั้น จะต้องมีการนำเอานวัตกรรมเข้าไปเสริม ทั้งเอไอ ,การวางแผนการเพาะปลูก วางแผนการให้ปุ๋ย
อีกกลุ่มหนึ่งคือเกษตรยั่งยืน จะมีเรื่องของไบโอเทคโนโลยี จะนำมาช่วยได้อย่างไร ทั้งในส่วนของเกษตรหมุนเวียน จะทำอย่างไรเพื่อให้การเกษตรไม่ให้มีขยะเหลือเลย สามารถนำขยะทางการเกษตรมาแปรให้เป็นผลิตผลอื่นๆ ที่อาจจะเป็นเชื้อเพลิง หรืออาจจะเป็นสินค้าอื่นๆที่นำไปต่อยอด สร้างมูลค่าแต่ไม่สร้างผลเสียต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม การทำเกษตรยั่งยืนของกระทรวงเกษตรฯ จะสอดคล้องกับแนวทางของยูเอ็น คือเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทำให้สังคม และเศรษฐกิจไม่เกิดผลกระทบ เดินหน้าไปได้
นอกจากนี้ยังได้ต่อยอดจากสมัยที่ตนเองเคยทำหน้าที่ผู้แทนการค้า ทำให้เวลาที่เราไปเจอประเทศต่างๆ จึงได้มีการพูดคุยเพื่อขอเปิดตลาดการเกษตรของไทย ทั้งนี้เราต้องไปดูว่าแต่ละประเทศที่เราอยากไปเปิดตลาดด้วยนั้นเขาอยากได้สินค้าอะไร และไทยผลิตอะไรได้ หรือหากบางอย่างเรายังไม่ได้ผลิตหรือผลิตได้น้อยจะได้มาส่งเสริม เกษตรกรของเราให้ผลิตเพิ่ม เพราะมีตลาดรองรับ อย่างประเทศญี่ปุ่นเอง พบว่าเขาต้องการกล้วยหอมทองจากไทยเยอะมาก ที่นำเข้าส่วนใหญ่จะเป็นกล้วยหอมเขียว จากประเทศอื่น ซึ่งหากเป็นของไทยจะมีคุณภาพที่ดีมาก ซึ่งที่มีการเจรจากับทางญี่ปุ่นใหญ่โควต้าไทยเป็นหมื่นๆตัน แต่พอประสานกับทางกระทรวงเกษตรฯ และผู้ส่งออก ตอนนี้ยังส่งได้ประมาณ 5 พันตัน ส่วนที่เหลือยังไม่สามารถผลิตได้เพียงพอ
ซึ่งจุดนี้คือการตลาดนำที่แท้จริง ซึ่งเราได้ให้ทางกรมส่งเสริมการเกษตรไปบอกกับพี่น้องเกษตรกรให้ปรับมาปลูก ซึ่งทางญี่ปุ่นเองได้ทำสัญญาซื้อล่วงหน้า ราคาได้แน่นอน วางแผนการผลิด วางแผนต้นทุนได้ มีกำไรแน่นอน แต่เรื่องนี้ต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจกับเกษตรกรในพื้นที่พอสมควร
ที่ผ่านมาตนเองได้ประกาศบนเวทีที่จ.อุดรธานี ต่อไปประเทศไทยจะต้องเป็นผู้กำหนดราคายางในตลาดโลก เพราะเราเป็นผู้ส่งออกยางอันดับหนึ่งของโลก เราอยากให้ราคายางในประเทศไทยเป็นตัวกำหนดในราคายางในตลาดโลก ไม่ใช่ผู้ซื้อกำหนดราคาผู้ขายอย่างเรา และเขาต้องอ้างอิงราคาจากไทยเวลาที่มีการซื้อขายกันในประเทศอื่น นี่คือเป้าหมายที่เรากำลังจะเดินไปเพื่อให้ผลประโยชน์ไปอยู่ที่พี่น้องเกษตรกร ชาวสวนยางจะต้องได้ราคายางที่สูงขึ้น
ในช่วงที่ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นรมว.เกษตรฯ เราได้ทำกันมาต่อเนื่อง ในตอนนั้นที่ตนเป็นผู้แทนการค้าไทย ได้ดำเนินงานเรื่องนี้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แล้วราคายางก็สูงขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เพราะการทำตามกฎหมายต่างๆเพื่อให้ไทยเป็นผู้กำหนดราคายาง ต้องกำจัดยางเถื่อน รวมถึงสินค้าเกษตรเถื่อนอื่นๆทั้งหมดที่เข้ามาในประเทศไทย
ในสมัยร.อ.ธรรมนัส ได้ทำอย่างจริงจัง พอมาถึงยุคนี้เราก็สานต่อ หน่วยเฉพาะกิจพญานาคราชก็ยังอยู่ เราได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้ง หากตรงไหนพบว่า มีการลักลอบนำเข้า เรามีหน่วยความมั่นคงที่ร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ เข้าไปดำเนินคดีอย่างจริงจัง เราต้องทำจริงจัง ในการคอนโทรล ระหว่างซัพพลายกับดีมานด์ ถ้าเราทำตรงนี้ได้ กลไกตลาดจะเดินไปเอง เราไม่จำเป็นต้องไปแทรกแซงราคาเลย
หากเราสามารถควบคุมซัพพลายไม่ให้มากล้น เราจะกำหนดดีมานด์ได้ เพื่อไม่ให้โอเวอร์ซัพพลายราคาก็จะสูงขึ้น เพื่อเป้าหมายพี่น้องชาวสวนยางในอนาคต
ล่าสุดเมื่อวันที่ 25 พ.ย.67 ที่ผ่ามมา กบข. มีมติที่เป็นข่าวดีให้กับพี่น้องชาวนาว่าสนับสนุนโครงการเพิ่มผลผลิต ให้กับพี่น้องที่ปลูกข้าว ไร่ละ1พันบาท ไม่เกิน10ไร่ ซึ่งในปีการผลิต 2567-2568 พี่น้องชาวนายังไม่ได้รับการสนับสนุนอะไรเลย และช่วงนี้ราคาข้าวขาวตก เราจึงอยากช่วยพี่น้องชาวนา และหวังว่าจะสามารถเข้าไปช่วยเพิ่มผลผลิตให้ โดยจะให้ขึ้นทะเบียนสมาชิกศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อให้เข้าไปพัฒนาการผลิต เพิ่มผลผลิตให้ เพิ่มการเพาะปลูกที่สามารถทำให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น
“สิ่งที่พี่น้องชาวนาอยากได้ คือเมล็ดพันธุ์ที่ดี ส่วนที่สองคือเรื่องของความเสี่ยง ที่เกษตรกรต้องเผชิญ ถ้าเรามีเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยงทั้งสองเรื่องนี้ได้ คือเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงด้านกายภาพ และทางการเงิน”
ทางกายภาพ ถ้าเป็นเรื่องน้ำ เราต้องทำกันอย่างต่อเนื่องในโครงการขนาดกลางและขนาดใหญ่เพื่อการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ส่วนกรณีที่ยังมีน้ำท่วมอยู่ มีน้ำแล้ง เพราะเครื่องมือกรมชลฯมียังไม่ครบ ในแม่น้ำสายหลัก ปิง วัง ยม น่าน เวลามีภัยธรรมชาติมา เรายังไม่มีเขื่อนที่จะสามารถเก็บกักน้ำได้ และยังมีอีกหลายจุดที่ยังทำไม่ได้
ย้อนกลับไปในอดีต เหตุใดเราจึงทำเขื่อนขนาดใหญ่ได้ ในแม่น้ำปิง วัง น่าน เนื่องจากมีโครงการพระราชดำริ ในหลวง รัชกาลที่ 9 ท่านเสด็จไปที่ใด ท่านเห็นปัญหา ท่านก็มีพระราชดำริให้สร้างเขื่อน แม้จะมีชาวบ้านคัดค้าน แต่ท้ายที่สุดด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ โครงการก็เลยเกิดขึ้นได้ มีเขื่อนขนาดใหญ่เกิดขึ้น แก้ปัญหาแล้งได้ในหลายจุด
แต่ภายหลังมาโครงการทั้งหลาย ก็จะต้องกลายเป็นโครงการของรัฐบาล บางโครงการก็เกิดไม่ได้ เพราะมีการต่อต้านจากมวลชน บางโครงการเกิดไม่ได้ เพราะไม่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงทรัพย์ฯ เนื่องจากต้องมีการขอใช้พื้นที่ เราเข้าใจว่าเราสวมหมวกกันคนละใบ เราอยู่ในฝั่งของกระทรวงเกษตรฯ ก็อยากทำแหล่งน้ำ ให้เกษตรกร แต่ฝั่งของกระทรวงทรัพย์ฯ ก็จะต้องดูแลอนุรักษ์ ทรัพยากรธรรมชาติ การขอใช้พื้นที่ก็ต้องใช้ระยะเวลา ดังนั้นโครงการขนาดใหญ่จึงยังเกิดไม่ได้
เรื่องนี้ได้เรียนนายกฯแพทองธาร ไปแล้วว่าถ้าเราจะทำโครงการขนาดใหญ่ อีกครั้งก็ต้องเป็นโครงการของรัฐบาล ไม่ใช่ของกระทรวงเกษตรฯ อย่างเดียว เพราะต้องมีหลายกระทรวงเข้ามาร่วม นายกฯก็รับที่จะไปผลักดันให้เกิดขึ้น นี่คือการบริหารความเสี่ยงในด้านกายภาพในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำ
แต่ในด้านเงินตอนนี้เราได้นำคณะทำงานเข้ามาดูว่าจะมีเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงทางการเงินให้กับพี่น้องเกษตรกรได้อย่างไร เพื่อให้ผู้ประกอบการ และผู้บริโภคเข้ามามีส่วนมาร่วมกระจายความเสี่ยงของพี่น้องเกษตรกร หากเราเข้าไปดูในพื้นที่ เราจะเห็นว่าเกษตรกรต้องเผชิญกับความเสี่ยงอยู่ฝ่ายเดียว ทั้งเรื่องน้ำท่วม ฝนจะตกหรือไม่ มีโรคระบาดหรือไม่ จะขายได้หรือไม่ จะเกิดสงครามการค้าเกิดขึ้นหรือไม่
ซึ่งจุดนี้ยังไม่มีใครเข้าไปกระจายความเสี่ยงให้กับเกษตรกร เลยนอกจากรัฐบาล ตอนนี้กระทรวงกำลังดูเรื่องรูปแบบของการประกันพืชผล หรือประกันรูปแบบอื่นใด ที่จะสามารถเป็นไปได้
“ทุกวิกฤติมีโอกาส ดังนั้นทุกการเปลี่ยนแปลง เราเชื่อว่ามีโอกาส อย่างเวลานี้ มีการพูดถึงการเปลี่ยนแปลงประธานาธิบดีในสหรัฐฯ หลายเวทีเริ่มกันแล้วว่าจะเกิดผลกระทบอะไร ซึ่งภาคการเกษตร ทางกระทรวงก็มาดูว่าจะเกิดผลกระทบอะไรกับเราบ้าง”
ถ้าเป็นกลุ่มสินค้าการเกษตร จะมีกลุ่มทั้งความเสี่ยงและโอกาส โดยถ้าทางสหรัฐฯเพิ่มภาษีนำเข้ากับทางจีน เพราะต้องการทำสงครามการค้ากันกับจีน ก็จะกลายเป็นโอกาสสำหรับสินค้าเกษตรบางตัวที่จีนเคยส่งไปยังสหรัฐฯ แล้วถูกขึ้นภาษี อาจทำให้จีนส่งออกไปไม่ได้ เขาก็จะหันมาซื้อจากไทย ซึ่งจะมีกลุ่มสินค้าประมง และหลายตัวที่จะเป็นโอกาสของไทย
รัฐบาลยืนยันว่าเราให้ความสำคัญกับพี่น้องประชาชนทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการหรือรากหญ้า โดยเฉพาะเราจะเห็นว่านายกฯพยายามเข้ามาแก้ปัญหาให้กับระดับรากหญ้า ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื้อรังอย่างปัญหาเรื่องหนี้ครัวเรือน เรื่องที่ดินทำกิน นายกฯให้ความสำคัญด้วยการตั้งคณะกรรมการชุดต่างๆขึ้นมาดูแล