ความหวังรัฐบาลที่ต้องการแก้ปัญหาการ “ขาดดุลงบประมาณ” ที่พุ่งขึ้นต่อเนื่อง ในระยะเวลา 10 ปี เพิ่มจาก 1-2 แสนล้านบาท ล่าสุดปีงบประมาณ 2568 ทะลุ 8 แสนล้านบาท และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เป็น 9 แสนล้านบาท และล้านล้านบาท ในเวลาอันใกล้ หากไม่มีการจัดการอะไร!!!

ขณะที่หนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่ขยับกรอบเพดานความยั่งยืน จากไม่เกิน 60% ของจีดีพี เป็น 70% ของจีดีพี ก็มีวี่แววว่าจะเกินเพดานอีก หากไม่เร่งจัดการอะไร!!!

นั่นเพราะรายจ่ายภาครัฐมีแต่เพิ่มขึ้นทุกปี ขณะที่รายได้เพิ่มน้อย จนตามไม่ทัน ยิ่งช่วงหลายปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยโตขึ้นเพียงเล็กน้อย ยิ่งทำให้รายได้โตไม่ทันรายจ่าย หนี้จึงยิ่งพุ่งอย่างที่เป็นในปัจจุบัน

ดังนั้นแนวความคิดที่จะมีการ “ปรับโครงสร้างภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)” จากที่เก็บที่ 7% มานานขึ้นพรวดเดียวไป 15% จึงเกิดขึ้น เพราะแน่นอนว่าการเก็บ VAT เพิ่ม จะทำให้รัฐมีรายได้เป็นกอบเป็นกำขึ้นแน่นอน เนื่องจากเพิ่ม 1% ทำให้รัฐมีรายได้เพิ่ม 7 หมื่นล้านบาท (สุทธิหลังหักคืนภาษีแล้ว) เลยทีเดียว

ซึ่งการนำเสนอปรับขึ้น VAT ครั้งนี้ ทางกระทรวงการคลัง โดย “พิชัย ชุณหวชิร” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รวมทั้งปลัดกระทรวงการคลัง ส่งสัญญาณว่า กระทรวงการคลังกำลังทำการศึกษาแนวทางปฏิรูปการจัดเก็บภาษีใหม่ 3 ประเภทคือ 1.การเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำ (Global Minimum Tax) ที่อัตรา 15% ตามหลักการขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ซึ่งอัตราการจัดเก็บต้องลดลงจากปัจจุบันที่ 20% ,2.ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งหลายประเทศส่วนใหญ่จะจัดเก็บภาษีเงินได้อยู่ที่ 17-18% และต่ำที่สุดที่ 15% และ 3.เพิ่มภาษีบริโภค หรือภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ซึ่งเป็นฐานภาษีใหญ่ ปัจจุบันคงอัตรา 7% จากอัตราที่กฎหมายกำหนด 10% ขณะที่อัตราเฉลี่ยทั่วโลก 15-25% โดยจีนจัดเก็บที่ 19% สิงคโปร์ 9% และหลายประเทศในยุโรปอยู่ที่ 20%

แต่! เรื่องนี้กลับถูกเบรกโดย “นายกรัฐมนตรีอุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร ที่ออกมายืนยัน “ไม่มีการปรับ VAT เป็น 15%” แต่ก็ยังกำลังศึกษาการปรับโครงสร้างภาษีจากกระทรวงการคลัง ซึ่งต้องมองทั้งระบบให้ครบทุกมิติและเป็นธรรม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพราะการปรับโครงสร้างภาษีของประเทศอื่นๆ ก็ใช้เวลาศึกษา และปรับตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป บางประเทศใช้เวลาปรับเปลี่ยนกว่า 10 ปี

มองทางตลาดหลักทรัพย์ “ศาสตราจารย์พิเศษกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์” ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ เห็นว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องปฏิรูปโครงสร้างภาษี ที่ผ่านมานักการเมืองและรัฐบาลไม่มีใครกล้าแตะจุดนี้มาก เนื่องจากเกรงว่าจะกระทบต่อคะแนนเสียง ในขณะที่กฎหมายประมวลรัษฎากร บังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2482 มีอายุ 85 ปี ที่ผ่านมาเป็นการแก้ไขแบบปะผุเท่านั้น ไม่เคยปฏิรูปสำเร็จ โดยปัจจุบันประเทศไทยมีสัดส่วนจีดีพีต่อภาษีอยู่ที่ราว 16% ต่อเนื่องเกือบ 20 ปี ขณะที่ VAT จัดเก็บ 7% ตั้งแต่ปี 2540 จนถึงวันนี้ 28 ปี

“แน่นอนการแก้ไขมันไม่ได้เพอร์เฟกต์ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ต้องเดินหน้า หลักการคือขยายฐานให้กว้างมากที่สุด เก็บไม่ต้องมากแต่ต้องทั่วถึง เรื่องแรกที่น่าจะต้องทำคือ ปรับปรุง VAT การเพิ่มขึ้น 1% คาดว่ารัฐจะมีรายได้เพิ่มขึ้นหลายหมื่นล้านบาท ขณะเดียวกันก็ช่วยเหลือและลดผลกระทบกับคนรายได้ต่ำ ด้วยการยกเว้นภาษีสินค้าบางประเภท และรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ก็โอน VAT คืนให้ในอัตราที่เหมาะสม”

เช่นเดียวกับ “ผยง ศรีวณิช” กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ในนามของสมาคมธนาคารไทย อยากจะสื่อสารว่าการขึ้นภาษีเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะถ้าไม่มีการปรับโครงสร้างภาษี โครงสร้างคนที่อยู่ในระบบภาษีไม่เพียงพอต่องบประมาณรายจ่าย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงบฯสวัสดิการ ไม่ใช่งบฯลงทุน เมื่อประเทศขาดการลงทุน การแข่งขันสู้ได้ยาก ก็ไม่ต้องไปพูดถึงเรื่องการเติบโตของเศรษฐกิจ

ขณะที่ “สนั่น อังอุบลกุล" ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แม้ว่าตามกฎหมายจะกำหนดให้อัตราการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 10% แต่ภาวะเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวได้ไม่ดีนัก มุมมองเอกชนเห็นว่า รัฐบาลควรจะคง VAT ไว้ที่ 7% และรัฐบาลยังมีช่องว่างที่จะสามารถจัดเก็บรายได้จากคนที่อยู่นอกระบบภาษีได้ ซึ่งรัฐบาลควรจะต้องเร่งมาตรการดึงบุคคลเหล่านั้นเข้ามาในระบบภาษีให้ได้

และ “ฐนิวรรณ กุลมงคล” นายกสมาคมภัตตาคารไทย กล่าวว่า การปรับขึ้น VAT เป็น 10% หรือ 15 % สร้างความกังวลให้กับผู้ประกอบการร้านอาหารอย่างมาก โดยเฉพาะขนาดกลางและขนาดย่อมที่อาจต้องรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อราคาอาหาร และอาจทำให้ลูกค้าลังเลที่จะใช้บริการ ส่งผลต่อเนื่องไปยังความอยู่รอดของกิจการ

เรื่องการ “ปรับโครงสร้างภาษี” จึงเป็นที่จับตามองว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป!?!

แม้ “นายกรัฐมนตรีอุ๊งอิ๊ง” จะออกมาเบรก! แล้วก็ตาม

เพราะรายได้ของรัฐบาล คือ “ภาษี”