ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล

“ชีวา” ใน “ชีวิต” ไม่ได้มีอะไรซับซ้อน มันคือความเจิดจ้า ร่าเริง บันเทิง และ “บ้าบอ” สุดๆ

ปรีดาในวัย 45 ปีไม่ได้ดูเปลี่ยนแปลงไปมากนักถ้าเทียบกับเพื่อนร่วมรุ่นคนอื่น ๆ โดยเฉพาะถ้าดูจากสรีระและใบหน้า ที่ยังคงดูผอมเพรียว ไม่แห้งเหี่ยว หรือมีรอยยับย่นบนใบหน้ามากนัก ที่เขาบอกว่าคงเป็นเพราะ “คาถา” ที่เขายึดอยู่เสมอว่า “ใช้ชีวิตให้สนุก” เขายังชอบทำหน้าทะเล้น พูดตลกโปกฮา ร้องเพลงสนุกสนาน และร่าเริงอยู่ตลอด ซึ่งต่อมาเขาก็ได้มาร่วมงานสังสรรค์ต่าง ๆ กับพวกเราอยู่บ่อย ๆ เขาก็ยิ่งเปิดเผยตัวเองอย่างไม่ปิดบัง ว่าเขาได้ผ่าน “เรื่องสนุก ๆ” อะไรในชีวิตมาบ้าง

ตั้งแต่เด็ก ๆ ที่บ้านค่อนข้างเข้มงวด พ่อแม่พยายามอย่างมากที่จะให้เขาอยู่ในระเบียบวินัย ตั้งแต่ที่ต้องตื่นและทำอะไรต่าง ๆ ตามเวลา ถ้าเป็นวันที่ต้องไปโรงเรียน เขาก็จะต้องถูกปลุกแล้วไล่ให้ไปอาบน้ำแต่งตัว กระทั่งกินข้าว จัดกล่องข้าวไปกินที่โรงเรียน กลับมาก็ต้องทำการบ้านให้เสร็จ อาบน้ำกินข้าว ให้ดูทีวีได้นิดหน่อย แล้วต้องเข้านอนไม่เกินสองทุ่ม แต่เขาก็จะอ้างกับพ่อแม่ว่า รายการทีวีที่พ่อแม่ดูเขาไม่ชอบจะขอเข้านอนก่อนเกือบทุกคืน โดยคืนที่เขาพูดอย่างนั้นก็คือคืนที่เพื่อน ๆ ในซอยนัดกันเล่นตี่จับ โปลิศจับขโมย หรือเล่นซ่อนหา แล้วพอก่อนที่พ่อแม่จะเข้านอนตอนสามทุ่ม เขาจึงจะย่องกลับเข้าบ้าน โดยที่พ่อแม่ไม่รู้ ทั้งนี้เขาจะตกลงกับน้องชายที่นอนด้วยกันว่า ถ้าพ่อแม่มาถามหาก็บอกว่าเขาหลับแล้วอย่างนี้ทุกคืน แต่ก็มีบางครั้งที่พ่อหรือแม่มาเปิดดูถึงผ้าห่มที่คลุมโปงอยู่ ซึ่งอาจจะเป็นเวลาที่เขาเล่นกับเพื่อนสนุกมากไปจนเลยเวลา เขาก็จะแอบเข้าไปหลบอยู่ในห้องน้ำ แล้วบอกว่าเผลอหลับไปในห้องน้ำ แต่บางครั้งพ่อกับแม่ก็เห็นว่าเขาเพิ่งเปิดประตูบ้านเข้ามา นั่นก็จะเป็นวันที่โชคร้าย เพราะเขาจะโดนกักบริเวณอยู่ในบ้าน ซึ่งที่น่ากลัวที่สุดก็คือต้องถูกกักขังอยู่ในห้องน้ำเป็นชั่วโมง ๆ เพราะห้องน้ำนั่นทั้งมืดและอับชื้น รวมถึงมีแมลงสาบและจิ้งจกเยอะมาก ต่อมาภายหลังพอเขาถูกลงโทษแบบนี้บ่อย ๆ เขาก็ค้นพบวิธีแก้ปัญหาขึ้นมาเองว่าต้องร้องเพลงหรือลิเกออกมาดัง ๆ เพราะพ่อกับแม่จะทนรำคาญเสียงร้องเหล่านี้ไม่ได้ สุดท้ายก็ไม่จับเขากักขังในห้องน้ำนั้นต่อไป แต่หันไปใช้วิธีให้ทำงานบ้านหลาย ๆ อย่างแทนในวันหยุด เป็นต้นว่า ซักผ้า กวาดบ้าน ถูบ้าน และทำความสะอาดเฟอร์นิเจอร์ เพราะมันทำให้เขาไม่ได้ออกไปเล่นกับเพื่อน โดยเฉพาะการ “เที่ยวทุ่ง” หรือเล่นน้ำและจับปลาในทุ่งนา ที่อยู่รายรอบชุมชนอาคารสงเคราะห์ห้วยขวางในสมัยที่เขายังเด็กนั้น

ปรีดาบอกว่านิสัยที่ชอบร้องเพลงของเขา ไม่ได้เป็นเพราะถูกพ่อแม่จับขังในห้องน้ำ แต่น่าจะเป็นเพราะ “ฝังใจ” ในเสียงร้องของขอทานผัวเมียคู่หนึ่งในตลาดห้วยขวาง ตอนนั้นเขายังไม่ได้เข้าโรงเรียน อายุราว 4-5 ขวบ แม่ชอบพาเขาไปตลาดในตอนเช้าวันเสาร์อาทิตย์ พอซื้อของสำหรับทำกับข้าวและเก็บไว้ในตู้เย็นที่มีจำนวนมากและพะรุงพะรังพอควร เพราะจะต้องเก็บไว้ทำกับข้าวไปทั้งสัปดาห์ แม่ก็จะพามานั่งพักกินขนมที่แม่ค้าเจ้าประจำ ที่เขาชอบมาก ๆ คือพวกน้ำแข็งไสต่าง ๆ ใส่น้ำหวานสีสวย ๆ และนมข้นหวานมัน แล้วแม่ก็จะซื้อขนมใส่ถุงไปฝากน้องกับพ่อที่บ้าน ที่พ่อชอบก็คือขนมปลากริมไข่เต่า ข้าวเหนียวถั่วดำ และข้าวหมากทานกับขนมทองหยิบหรือฝอยทอง ส่วนของน้องชายก็เป็นน้ำแข็งใสแบบที่เขากิน ตรงข้างร้านขนมนี่แหละที่มีขอทานคู่ผัวเมียมานั่งร้องเพลง ที่ร้องเพลงได้หลากหลายทั้งลูกทุ่งและลูกกรุง แต่ที่เขาชอบมากก็คือพวกเพลงที่แต่งจากกลอนลิเกและเพลงพื้นเมือง เพราะมีเรื่องราวต่าง ๆ ให้ตื่นเต้น อย่างเพลงดาวลูกไก่ของพร ภิรมย์ หรือเพลงแหล่ต่าง ๆ ของไวพจน์ เพชรสุพรรณ เขาฟังเพลงเหล่านี้อยู่ทุกสัปดาห์เป็นปี ๆ มันก็คง “ซึมซับ” จดจำเข้าไปในจิตใต้สำนึกของเขา ดังนั้นพอเกิดแรงกระทบบางอย่างขึ้นมา อย่างที่เขาถูกพ่อแม่ทำโทษกักขังในห้องน้ำ เขาก็ร้องเพลงเหล่านี้ขึ้นมาได้เอง แล้วพอเขาเป็นวัยรุ่นขึ้นมาก็ยังจำเพลงเหล่านั้นมาร้องใหม่ แต่มีการดัดแปลงเนื้อร้องให้สนุกสนาน ทั้งแบบที่ตลกโปกฮาและ “สองแง่สองง่าม” เหมือนกับว่ามันเป็น “พรสวรรค์” ที่เกิดขึ้นในตัวเขาได้โดยอัตโนมัติ

สมัยก่อนเด็ก ๆ ยังมีการละเล่นอีกอย่างหนึ่งที่ปรีดาจำได้ว่าเขาชอบเล่นและจดจำฝังใจคือ “เล่นเป็นพ่อเป็นแม่” โดยพวกเราในวัย 4-5 ขวบ (ซึ่งผมก็คือเพื่อนสนิทของเขาคนหนึ่งในสมัยที่ยังอยู่ในซอยเดียวกันของชุมชนอาคารสงเคราะห์ห้วยขวาง) จะแบ่งชายและหญิงเล่นบทบาทสมมติเป็นครอบครัวบ้านหลังหนึ่ง มีเพื่อนเด็กชายกับเด็กหญิงคู่หนึ่งเล่นเป็นกับแม่ คนที่เหลือก็จะเป็นลูก ๆ ที่สนุกสนานก็เพราะพวกเรามักจะเล่น “ล้อเลียน” พ่อแม่และคนในบ้าน เช่น การสั่งสอนให้ลูกทำโน่นทำนี่ หรือสอนให้เชื่ออย่างโน้นอย่างนี้ โดยปรีดามักจะเล่นเป็นลูกที่ชอบต่อล้อต่อเถียงพ่อแม่ (ซึ่งในชีวิตจริงของเขาตอนเด็ก ๆ นั้นถูกพ่อแม่ควบคุมอย่างเข้มงวด) ซึ่งลีลาและคารมในการต่อล้อต่อเถียงของเขานั้นเหมือนจะหลั่งไหลออกมาโดยธรรมชาติ อย่างกับเป็นนักแสดงมืออาชีพ แบบที่ “ตลกคาเฟ่” นั้นต้องอายเลยทีเดียว

ถ้าเป็นคนทั่วไปอาจจะมองว่าปรีดาเป็นคนที่หยาบโลน “ค่อด ๆ” เขาเองก็บอกว่ามันเป็นไปโดยไม่รู้ตัว มันเหมือนกับเขาอยากทำให้ตัวเองสนุกสนานนั้นขึ้นมาก่อน แต่พอทำออกมาแล้วก็เห็นคนอื่นได้สนุกสนานร่วมด้วย ก็ยิ่งทำให้เขายิ่งอยากทำแบบนั้นมากขึ้นไปอีก แบบว่า “ยิ่งยุยิ่งบ้า” เช่นในการเล่นเป็นพ่อเป็นแม่นั้น บางครั้งก็เล่นบทว่าพ่อแม่นั้นได้ตายไปแล้วก็ต้องไปตกนรก โดยในนรกก็จะมีสิ่งต่าง ๆ ที่น่าเกลียดน่ากลัว เขาก็กล้าที่จะให้พ่อกับแม่(ในบทบาทสมมุติ)ได้เผชิญกับความน่าเกลียดน่ากลัวนั้นอย่างสนุกสนาน โดยมาคิดได้ภายหลังว่าน่าจะเกิดจากความ “สะใจ” ที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้สึกตัว จากการที่เคยถูกพ่อแม่เข้มงวดกวดขันจนเป็นแรงต้านให้ระเบิดออกมาแบบนั้น (ภายหลังเมื่อเขาเติบโตขึ้น จนเมื่อพ่อแม่มาเสียชีวิต เขาก็มาระลึกถึง “วีรเวร” ในสมัยเด็ก ๆ ก็เกิดความเสียใจ แล้วคิดว่าพ่อแม่คงไม่ได้คิดร้ายต่อเขาแบบที่เขาคิด โดยทุกครั้งที่เขาทำบุญก็จะขออโหสิกรรมต่อพ่อแม่ในสิ่งที่เขาได้ทำไปเสมอ ๆ)

ปรีดาเล่าว่าเขายังชอบล้อเลียนคนอื่น ๆ โดยเฉพาะคนที่กำลังเจอปัญหาต่าง ๆ เขาบอกว่ามันเหมือนกับการเอา “ปมด้อย” ของคนเหล่านั้นมาล้อเล่น แต่ทุกครั้งที่เขาทำไปมันเหมือนกับว่าทำไปโดยที่เขาไม่รู้สึกตัว บางทีเขาก็มองว่าคนเหล่านั้นน่าจะต้องการความช่วยเหลืออะไรบางอย่าง อย่างน้อยก็ควรจะมีเสียงหัวเราะหรือได้รับความสุข ซึ่งเขาคิดไปว่าการทำให้ตลกขบขันแบบที่เขาทำนั้นก็คือการสร้างความสุขอย่างหนึ่ง ทว่ามีบางครั้งที่เขาทำไปแล้วก็ไม่มีใครตลกด้วยหรือไม่มีเสียงหัวเราะออกมา ก็ทำให้เขาเกิดความฉุกคิดว่าไม่ได้มีใคร ๆ ที่ชอบในสิ่งที่เขาได้ล้อเลียนออกมานั้นเสมอไป ที่สุดเขาก็มีความรู้ขึ้นมาใหม่ว่ายังมีวิธีอื่น ๆ ที่จะทำให้ผู้คนมีความสุขโดยไม่จำเป็นต้องเอาปมด้อยของคนคนนั้นออกมาล้อเลียน

อย่างที่บอกไว้ว่าความสุขของแต่ละคนไม่เหมือนกันและไม่เท่ากัน ซึ่งก็คือการสร้าง “ชีวา” ให้กับ “ชีวิต” ที่แตกต่างกันไปในแต่ละคน โดยปรีดาก็มี “ชีวา” ที่เป็นแบบของเขาเองได้ในที่สุด