ในทุกๆ อุตสาหกรรม หรือห่วงโซ่การผลิตใดๆก็ตาม มักจะมีผู้เกี่ยวข้องในห่วงโซ่นั้นๆ เป็นจำนวนมาก และยิ่งถ้าเป็น “อุตสาหกรรมการเกษตร” ที่การผลิตสินค้าต้องมีองค์ประกอบหลายปัจจัย ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ หรือตั้งแต่ผู้ผลิตไปจนถึงผู้บริโภคนั้น มีคนเกี่ยวข้องคนนับแสนนับล้านรายทีเดียว เอาแค่เฉพาะ “การผลิตหมู” และลองตัดภาพไปที่ “ผู้เลี้ยง” หรือเกษตรกร ก็มีมากกว่าสองแสนราย ซึ่งเป็นกลุ่มคนผู้ทำหน้าที่เลี้ยงหมูป้อนผู้บริโภคทั้งประเทศปีละราว 20 ล้านตัว เรียกได้ว่า คนกลุ่มนี้เป็นบุคคลสำคัญที่รับภารกิจรักษาความมั่นคงทางอาหารให้คนไทยด้วย ก็คงไม่ผิดนัก
ในจำนวนผู้เลี้ยงหมูของไทยเรา มีเกษตรกรหลายขนาดอยู่ร่วมกันในห่วงโซ่การผลิต ไล่เรียงตามจำนวนหมูที่เลี้ยง อาทิ รายเล็ก (S) น้ำหนักหน่วยปศุสัตว์ ตั้งแต่ 6-60 หรือ เทียบเท่าฟาร์มสุกรขุนตั้งแต่ 50-500 ตัว รายกลาง (M) น้ำหนักหน่วยปศุสัตว์ตั้งแต่ 60-600 หรือเทียบเท่าฟาร์มสุกรขุนตั้งแต่ 501-5,000 ตัว รายใหญ่ (L) น้ำหนักหน่วยปศุสัตว์มากกว่า 600 หรือเทียบเท่าฟาร์มสุกรขุนตั้งแต่ 5,000 ตัวขึ้นไป (ส่วนผู้เลี้ยงหมูรายย่อย ก็น่าจะมีจำนวนหมูต่ำกว่า 50 ตัว) หมายเหตุ : น้ำหนักหน่วยปศุสัตว์ (นปส.) 1 หน่วย = น้ำหนักสุกรรวม 500 kg โดยสุกรแต่ละช่วงวัย มีน้ำหนักประมาณ ดังนี้ สุกรพ่อแม่พันธุ์ 170 กิโลกรัม สุกรขุน 60 กิโลกรัม และ ลูกสุกร 12 กิโลกรัม
ในแต่ละช่วงเวลา คนเลี้ยงหมูต้องเผชิญปัญหาหนักบ้างเบาบ้างหลายต่อหลายครั้ง ไม่ต่างจากอาชีพเกษตรอื่นๆ และที่สำคัญ คนในวงการเดียวกันก็มักจะร่วมมือร่วมใจแก้ปัญหาจนคลี่คลายได้หลายครั้งหลายครา แบบที่แทบจะไม่ต้องพึ่งพางบประมาณรัฐเลย แน่นอนว่าผู้ประกอบการเลี้ยงหมูรายใหญ่ รายกลาง หลายๆ รายมักจะเป็นผู้เสียสละและขับเคลื่อนแนวทางแก้ไขเหล่านั้น ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของความต้องการสร้าง “เสถียรภาพ” ของอุตสาหกรรมหมูให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้ตลอดห่วงโซ่เดียวกัน
ยกตัวอย่างเมื่อครั้งเกิดโรคระบาด ASF ผู้ประกอบการรายใหญ่ของประเทศลงขัน สร้างด่านพ่นยาฆ่าเชื้อ 5 ด่านหลักใน 5 จังหวัดชายแดน รวมถึงลงขันตั้ง "กองทุนชดเชยและป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือ ASF" มูลค่าราว 200 ล้าน เป็นตัวอย่างที่ดีที่ได้เห็นรายใหญ่ รายกลาง ร่วมดูแล รายเล็ก รายย่อย เป็นความร่วมมือเพื่อรักษา “เสถียรภาพวงการเลี้ยงหมู” ให้อยู่รอด
พัฒนาการเลี้ยงหมูของไทยก้าวหน้าเติบโตขึ้นมาก มีระบบป้องกันโรคที่เข้มแข็ง และการดูแลหมูที่ได้มาตรฐาน ตามมาตรฐานฟาร์มของกรมปศุสัตว์ เพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยงได้อย่างเป็นรูปธรรม ผู้ประกอบการรายใหญ่เป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำและความรู้เชิงวิชาการ ส่งเสริมให้รายเล็ก-รายย่อย เติบโตแข็งแรงไปด้วย ช่วยกันยกระดับวงการหมูได้อย่างน่าชื่นชม
อย่างไรก็ตาม การสร้างสมดุลระหว่างซัพพลาย-ดีมานด์ หรือผลผลิตหมูกับความต้องการบริโภคของคนไทยทั้งประเทศ เป็นสิ่งที่ต้องพิจารณา และนับเป็นปัจจัยสำคัญของ “เสถียรภาพด้านราคา” ที่จะทำให้ทุกคนยังสามารถประกอบอาชีพนี้ต่อไปได้ เมื่อคนเลี้ยงหมูมีหลายขนาด หากไม่มีความสมดุล สร้างผลผลิตหมูกันเกินกว่าความต้องการบริโภค ย่อมส่งผลกระทบถึงเกษตรกรรายย่อย-รายเล็กก่อน และจะลามตามไปถึงคนทั้งอุตสาหกรรมตลอดห่วงโซ่ในที่สุด
จริงอยู่ว่าอนาคตฟาร์มเลี้ยงหมูที่ไม่ผ่านมาตรฐานฟาร์มจะค่อยๆ หายไป แต่มันคงดีกว่าถ้าคนเลี้ยงหมูรายใหญ่ที่มีกันอยู่นับ 10 ราย จะไม่มัวแต่เพิ่มกำลังผลิตของตนเอง แล้วหันมาพยุงรายเล็ก-รายย่อยให้สามารถยกระดับมาตรฐานฟาร์ม ตอบสนองการผลิตอาหารปลอดภัยให้คนไทย และยังคงรักษาอาชีพเลี้ยงหมูต่อไป ทุกคนในห่วงโซ่การผลิตนี้ก็จะอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน
คงถึงเวลาจับมือสานสามัคคี สร้างเสถียรภาพอุตสาหกรรมหมูร่วมกันอีกครั้ง ของคนเลี้ยงหมูทั้งประเทศแล้วครับ
โดย : สมคิด เรืองณรงค์