ขอนแก่นจับมือเอกชนยักษ์ใหญ่ เดินหน้าจำหน่ายโคเนื้อ เชื่อม 3 ประเทศ
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 13 ธ.ค.2567 ที่ ห้องประชุม สภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น นายวิฑูรย์ กมลนฤเมธ ประธานกิตติมศักดิ์สภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานในพิธีลงนามกิจการค้าร่วม (Consortium) ระหว่างบริษัทศูนย์กลางกสิกรรม (ประเทศไทย) จำกัด กับ สหกรณ์บริการโคเนื้อแก่นคูน จำกัด โดย พล.อ.จิรศักดิ์ บุตรเนียร ประธานกรรมการบริหารบริษัทศูนย์กลางกสิกรรม (ประเทศไทย) จำกัด และนายสุรพล วรวงษ์ ประธานกรรมการ สหกรณ์บริการโคเนื้อแก่นคูณ ร่วมลงนาม เป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่บริษัทเอกชนจับมือกับสหกรณ์ 3ประเทศ ไทย ลาวและจีน ส่งออกเนื้อวัวไปยังประเทศจีนเพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรเลี้ยงวัวให้มีราคาสูงขึ้น
พล.อ.จิรศักดิ์ บุตรเนียร ประธานกรรมการบริหารบริษัทศูนย์กลางกสิกรรม(ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า พิธีลงนามระหว่าง บริษัทศูนย์กลางกสิกรรม (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับ สหกรณ์บริการโคเนื้อแก่นคูน จำกัด เพื่อเป็นการร่วมกันขับเคลื่อนแพลตฟอร์มการค้าต่างตอบแทนไทย-จีน เพื่อการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไปสาธารณรัฐประชาชนจีน แบบจตุภาคี ผสานพลังภาครัฐ มหาวิทยาลัย ภาคเอกชนชุมชนและต่างประเทศ มาร่วมมือเป็นกลไกขับเคลื่อนภาคการตลาด นำร่องด้วยการขับเคลื่อนห่วงโซ่การเกษตรและอุตสาหกรรมโคเนื้อภาคอีสานโดยได้รับการสนับสนุนทางด้านวิชาการจากคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งได้จัดประชุมเสวนาวิชาการ เมื่อวันที่ 17 ส.ค. ที่ผ่านมา เพื่อเป็นการเผยแพร่ภารกิจการแก้ไขปัญหาโคเนื้อราคาตกต่ำ พร้อมด้วยแผน ความร่วมมือจัดตั้งโรงงานเชือด ชำแหละ แปรรูปโคเนื้อ เพื่อการผลิตเนื้อวัวส่งออกไปจีนให้เป็นตลาดโคเนื้ออย่างถาวร
ขณะที่นายนวรัตน์ คุณะโคตร รองประธานสหกรณ์บริการโคเนื้อแก่นคูณจำกัด อ.มัญจาคีรี กล่าวว่า เบื้องต้นที่จะทำระหว่างศูนย์กลางกสิกรรมและสหกรณ์แก่นคูณ สิ่งที่จะทำให้เห็นภาพคือทำโรงงานชำแหชะขนาดใหญ่อัตราการผลิตอยู่ที่ 500 ตัวต่อวัน น่าจะเป็นที่ใหญ่สุดในประเทศไทยถ้าทำสำเร็จเริ่มต้นสร้างที่สหกรณ์แก่นคูณเพื่อที่จะชำแหละ จากนั้นจะมีโรงงานตัดแต่งเนื้อเพื่อแปรรูปเนื้อเป็นสินค้าในการส่งออกไปประเทศจีน และยังจะมีห้องเย็นเพื่อที่จะนำการส่งออกไปประเทศจีน ซึ่งถือว่าได้ว่าการส่งเนื้อโคจะเป็นเจ้าแรกของประเทศไทยที่เป็นเอกชนร่วมมือกับสหกรณ์
"เราไม่เพียงแค่เป็นโรงชำแหละแต่ยังเป็นศูนย์กักกันเพื่อการส่งออกของโคหรือโคมีชีวิตและยังมีการส่งออกไปยังประเทศลาว ที่นั่นจะมีตลาดที่จะส่งโคมีชีวิตไปประเทศจีน 1 ปี อยู่ที่ประมาณ 500,000 ตัว โคมีชีวิตจากไทยจะส่งไปที่ลาวโดยผ่านศูนย์กักกันของที่อำเภอมัญจาคีรีจะมีอัตราการกักกันอยู่ที่ประมาณ 15,000 ตัว เพราะว่าจะส่งไปยังประเทศลาวอยู่ 2 ตลาด"
นายนวรัตน์ กล่าวต่อว่า เริ่มจากการส่งโคมีชีวิตไปประเทศจีนโดยไปพักไว้ที่ลาว ส่วนที่2 ประเทศลาวทำการสร้างโรงชำแหละเพื่อที่จะแปรรูปและส่งไปที่ประเทศจีนวัสดุดิบหลักๆจะนำมาจดประเทศไทย เบื้องต้นทางศูนย์กลางกสิกรรมได้ข้อตกลงกับบริษัทครบวงจรกสิกรรมประเทศลาวเป็นตัวแทนในการนำเข้าของโคมีชีวิตทั้งที่จะส่งไปประเทศจีนและเข้าโรงชำแหละ ส่วนโรงชำแหละที่ประเทศลาวจะอยู่ที่ 1,000 ตัวต่อวัน โคทั้งที่จะส่งออกประมาณ 15,000 ตัว ที่จะต้องป้อนให้โรงงานที่ประเทศลาวตลาดประเทศไทยสามารถที่จะระบายโคออกไปยังประเทศลาวได้ ทั้งหมดนี้ถือได้ว่าศูนย์กลางกสิกรรมกับกสิกรรมตรงวงจรประเทศลายจะเป็นบริษัทเอกชนกลุ่มแรกที่ทำธุรกิจผ่าน 3 ประเทศเป็นเจ้าแรกที่จะส่งไปจีน และศูนย์กลางกสิกรรมร่วมมือกับสหกรณ์บริการแก่นคูณจะเป็นเจ้าแรกเช่นกันที่จะส่งโคเนื้อแปรรูปส่งไปจีนโดยตรงและมัญจาคีรีจะเป็นต้นแบบในการช่วยเหลือเกษตรกรยกระดับราคาวัวที่ตกต่ำให้สูงขึ้น
"เบื้องต้นที่จะส่งออกครั้งแรก 500 ตัว ตามที่ประสานงานกับประเทศลาวให้ทดลองส่งออกเบื้องต้นว่าติดปัญหาอะไร และหลังจากที่กลับจากประเทศจีนที่จะไปติดต่อธุรกิจเรื่องนี้จะเป็นรูปธรรมมากขึ้นในการส่งเบื้องต้นจะได้สมาคมผู้เลี้ยงโคภาคอีสานมาช่วยสนับสนุนทางสมาคมจะเป็นคนรวบรวมวัวเป็นทั้ง 500 ตัว ในอนาคตจะเป็นกี่ตัวก็แล้วแต่ทางสมาคมจะเป็นคนรวบรวมให้ทั้งหมดและจะมีระบบตรวจสอบย้อนกลับทำให้มั่นใจว่าเราจะทำได้และได้อย่างมีคุณภาพไม่มีสินค้าก่อนคุณภาพ"