สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ได้ดำเนินการขับเคลื่อนและยกระดับพืชน้ำเศรษฐกิจสู่สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ด้วยการกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร ควบคู่กับการส่งเสริมเกษตรกรผู้เลี้ยงผำให้เข้าสู่ระบบมาตรฐาน เพื่อพัฒนาและต่อยอดสินค้าผำไทยให้มีศักยภาพ อีกทั้งเพิ่มโอกาสการแข่งขันทางการตลาด ในประเทศและต่างประเทศ

นายชัยวัฒน์ โยธคล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ได้มอบหมายให้นางสาวกุลพิพิทย์ จันทร์บวย ผู้อำนวยการกองส่งเสริมมาตรฐาน และนางสาวจิตรลดา บุญเจริญ ผู้อำนวยการกลุ่มมาตรฐานประมงและผลิตภัณฑ์ พร้อมคณะ ลงพื้นที่ร่วมประชุมหารือและเตรียมความพร้อมกับกลุ่มเกษตรกรในการจัดทำโครงการนำร่อง : การพัฒนาต้นแบบการผลิตผำที่มีคุณภาพและโปรตีนสูงตามมาตรฐาน GAqP และการสร้างผลิตภัณฑ์ผำเชิงพาณิชย์ให้กับวิสาหกิจชุมชน ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในการดำเนินโครงการเพื่อให้เกิดความเข้มแข็งของกลุ่มและชุมชน สร้างชุมชนเกษตรกรต้นแบบ และสร้างความเชื่อมั่นในเครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร ให้แก่ผู้บริโภคทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ โดยมุ่งหวังว่าโปรตีนจากผำจะเป็นโปรตีนทางเลือกที่สามารถสร้างโอกาสการแข่งขันในระดับสากลได้ต่อไป   

นายชัยวัฒน์ โยธคล กล่าวว่า ภาครัฐมีนโยบายส่งเสริม “ผำ” ให้เป็นพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ของไทย เนื่องจากมีคุณค่าทางโภชนาการสูงและเห็นโอกาสในการนำผำมาเป็นวัตถุดิบผลิตอาหารโปรตีนจากพืช (Plant-based Protein Food) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่อยู่ในกระแสความนิยมจากผู้บริโภคที่ใส่ใจการรับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ เพื่อดูแลสุขภาพ ให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยของอาหาร ในขณะเดียวกันภาครัฐได้มีการกระตุ้นการศึกษาวิจัยพัฒนาขีดความสามารถสนับสนุนและส่งเสริมเกษตรกรไทยผลิตผำ เพื่อเป็นวัตถุดิบอาหารโปรตีนจากพืชรองรับเทรนด์การบริโภคอาหารโปรตีนจากพืช เพื่อสุขภาพของผู้บริโภคยุคใหม่ทั่วโลก และจะช่วยสนับสนุนให้ไทยก้าวสู่การเป็นฮับผลิตอาหารส่งออกไปยังตลาดโลก การสร้างนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต ปฏิรูปภาคการเกษตรด้วยพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่โดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากผำ ตอบโจทย์กระแสคนรักสุขภาพทั่วโลก อาหารแห่งอนาคต (Future Food) โดยประเมินมูลค่าตลาด Plant-based Food ทั่วโลกอยู่ที่ 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐและมีแนวโน้มเพิ่มเป็น 80,000 ล้านเหรียญสหรัฐในอีก 10 ปีข้างหน้า

“โดยในปี 2568 คาดว่าจะประกาศใช้มาตรฐานสินค้าเกษตร 2 เรื่อง ได้แก่ (1) การปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงที่ดีสำหรับฟาร์มผำเพื่อเป็นอาหาร (GOOD AQUACULTURE PRACTICES FOR WOLFFIA FARM AS FOOD) หรือ GAqP และ (2) การปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงที่ดีสำหรับฟาร์มผำเพื่อเป็นอาหารสัตว์ (GOOD AQUACULTURE PRACTICES FOR WOLFFIA FARM AS FEED) เพื่อให้เกษตรกรผู้ผลิตสามารถผลิตผำให้ได้มาตรฐานและมีความปลอดภัยทั้งต่อผู้บริโภคและการนำไปใช้เพื่อเป็นอาหารสัตว์ นอกจากนี้ มกอช. ได้มีแผนการดำเนินการนำร่องส่งเสริมให้เกษตรกรผู้เลี้ยงผำเพื่อเป็นอาหารของไทย เข้าสู่ระบบมาตรฐานเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าผำ พร้อมทั้งเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของผลิตภัณฑ์ผำไทยให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก” เลขาธิการ มกอช. กล่าว