ลำพังความวุ่นวายจากกลุ่มกบฏต่างๆ และกลุ่มหัวรุนแรงติดอาวุธทั้งหลาย ก็สร้างความยุ่งยากให้แก่ซีเรียจนน่าเป็นห่วงมากพออยู่แล้ว

ทว่า ล่าสุด สถานการณ์ในซีเรีย ก็เพิ่มตัวแปรที่จะทำให้ความวุ่นวายในซีเรีย ทวีความรุนแรงมากขึ้น พร้อมๆ กับความซับซ้อนก็ถูกเติมเพิ่มขึ้นมากอีก ซึ่งมิใช่อื่นไกล แต่เป็น “อิสราเอล” ประเทศที่มีพรมแดนใกล้ชิดติดกันกับซีเรีย และเป็นชาติคู่ปรับ ปรปักษ์ต่อกันมา ถึงขั้นสู้รบปรบมือกันเมื่อ 57 ปีก่อน หรือปี ค.ศ. 1967 (พ.ศ. 2510) ในสงครามที่เรียกกันว่า “สงครามหกวัน” หรือ “สงครามยมคิปปูร์” หรือ “สงครามอาหรับ-อิสราเอล ค.ศ. 1967” หรืออีกชื่อหนึ่งว่า “สงครามอาหรับ-อิสราเอล ครั้งที่ 3” ซึ่งในสมรภูมิของสงครามข้างต้น ก็มีการสู้รบบน “ที่ราบสูงโกลัน” ของ “ซีเรีย” รวมอยู่ด้วย

ป้ายบอกทางเข้าสู่พื้นที่ที่ราบสูงโกลัน (Photo : AFP)

โดยผลของสงคราม ปรากฏว่า อิสราเอลเป็นฝ่ายชนะ เหนือเหล่าชาติอาหรับอื่นๆ ที่เป็นคู่สงคราม รวมทั้งซีเรีย ส่งผลให้ซีเรีย ต้องเสียดินแดนที่ราบสูงโกลันให้แก่อิสราเอล นับตั้งแต่บัดนั้น ตราบจนถึง ณ วินาทีนี้ ซึ่งซีเรีย มิสามารถเรียกคืนดินแดนดังกล่าว ให้กลับมาอยู่ในความครอบครอบได้อีก จากเดิมที่เคยได้รับการรับรองว่าเป็นดินแดนของซีเรีย นับตั้งแต่ที่ซีเรียได้รับเอกราชเมื่อปี 1944 (พ.ศ. 2487) ก่อนที่จะเสียให้แก่อิสราเอลจากผลพวงของสงครามหกวันข้างต้น

แม้ว่าทางสหประชาชาติ หรือยูเอ็น มีมติรับรองให้ที่ราบสูงโกลันเป็นดินแดนของซีเรีย ตาม “มติสหประชาชาติ 242” ซึ่งมติดังกล่าว เรียกร้องให้อิสราเอล ถอนตัวออกจากที่ราบสูงโกลัน ที่ยึดครองไว้เมื่อปี 1967 แต่ทว่า อิสราเอลก็ปฏิเสธที่จะทำตามข้อเรียกร้องของมติดังกล่าว โดยปฏิเสธแม้กระทั่งข้อตกลงที่จะให้ที่ราบสูงโกลันแห่งนี้ เป็น “เขตกันชน” ระหว่างอิสราเอลกับซีเรีย เมื่อปี 1975 (พ.ศ. 2518)

แถมมิหนำซ้ำ ในปี 1981 (พ.ศ. 2524) อิสราเอลก็ได้ประกาศผนวกให้ที่ราบสูงโกลันเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนอิสราเอลอย่างเป็นทางการไปเสียเลย โดยที่ซีเรีย หรือแม้กระทั่งสหประชาชาติได้แต่มองตาปริบๆ

นอกจากนี้ ชาติมหาอำนาจพี่เบิ้มใหญ่ และเป็นพันธมิตรใกล้ชิดกับอิสราเอลอย่างที่สุด อย่าง “สหรัฐอเมริกา” ในสมัยของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ ในสมัยแรก (ระหว่างปี 2017 – 2021 หรือ พ.ศ. 2560 – 2564) ได้ลงนามในเอกสารให้การรับรองว่า ที่ราบสูงโกลันเป็นของอิสราเอลอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2019 (พ.ศ. 2562) ซึ่งแม้ว่านายโจ ไบเดน ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในสมัยต่อมา ก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เกี่ยวกับเอกสารให้การรับรองดังกล่าว

นายโดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามในเอกสารรับรองว่า ที่ราบสูงโกลันเป็นของอิสราเอลอย่างเป็นทางการ ในระหว่างที่เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อปี 2019 โดยมีนายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ร่วมในพิธีลงนามดังกล่าวด้วย (Photo : AFP)

ที่ผ่านมา อิสราเอล ก็ดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในอันที่จะตอกย้ำถึงอำนาจครอบครองบนที่ราบสูงโกลันอยู่เป็นระยะๆ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมทางการทหาร การตั้งชุมชนของเหล่าพลเรือน แม้ว่าบริเวณที่ราบสูงโกลัน จะมี “กองกำลัง “ยูเอ็นดีโอเอฟ” อันเป็นกองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ ประจำการ ร่วมกับทหารกองทัพรัฐบาลซีเรีย อยู่บนที่ราบสูงดังกล่าวก็ตาม

ก่อนที่กิจกรรมจะมาเข้มข้นขึ้นนับตั้งแต่เกิดสงครามอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสของชาวปาเลสไตน์ ในฉนวนกาซา หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “สงครามกาซา” ตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคมปีที่แล้วเป็นต้นมา ทางอิสราเอลก็ดำเนินกิจกรรมทางการทหารบนที่ราบสูงโกลันเข้มข้นขึ้น

ไม่ว่าจะเป็นการตั้งฐานทัพทางการทหารเพื่อปฏิบัติการตรวจการณ์ และเพื่อปฏิบัติการโจมตีฝ่ายตรงข้าม

ทั้งนี้ เมื่อกล่าวถึงที่ราบสูงโกลัน ก็ต้องถือว่าเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทั้งในเชิงภูมิศาสตร์ที่ใช้เป็นจุดชมทัศนีภาพ และเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ในทรัพยากรธรรมชาติ เช่น แหล่งน้ำจืดที่สำคัญ จากการที่น้ำจืด เช่น ทะเลสาบกาลิลี และแม่น้ำจอร์แดน ในอิสราเอล ก็มีแหล่งกำเนิดมาจากที่ราบสูงแห่งนี้ หรืออาจกล่าวได้ น้ำจืดในอิสราเอลจำนวนถึง 1 ใน 3 มาจากที่ราบสูงโกลันเลยก็ว่าได้ นอกจากนี้ ที่ราบสูงโกลันก็ยังมีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ต่ออิสราเอล ในฐานะที่เป็นพื้นที่สูงตามลักษณะที่เป็นที่ราบสูง และยังติดกับพรมแดนหลายประเทศ เช่น ซีเรีย เลบานอน รวมถึงจอร์แดน โดยมันสามารถใช้เป็นพื้นที่ตรวจการณ์บรรดาประเทศที่มีพรมแดนติดกับที่ราบสูงโกลันได้

เมื่อซีเรีย มีอันต้องล่มสลาย จากกการที่กลุ่มกบฏสามารถบุกยึดพื้นที่เมืองต่างๆ ได้ รวมถึงกรุงดามัสกัส เมืองหลวงของซีเรีย อันมีผลทำให้ระบอบการปกครองจากตระกูลอัสซาดที่มีมาอย่างยาวนานกว่า 50 ปี ต้องปิดฉากไป เมื่อช่วงต้นสัปดาห์นี้ ทางการอิสราเอล จึงถือโอกาสนี้ กอปรกับทหารของกองทัพรัฐบาลซีเรีย ได้ถอนกำลังออกไป หลังกรุงดามัสกัสถูกกลุ่มกบฏยึดครอง ก็ได้เคลื่อนกำลังพลของกองกำลังป้องกันอิสราเอล หรือไอดีเอฟ พร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์ เช่น รถถัง ยานรบหุ้มเกราะ เป็นต้น เข้าไปประจำการบนที่ราบสูงโกลันทันที

โดยปฏิบัติกายึดครองที่ราบสูงโกลันของอิสราเอลข้างต้น สร้างความไม่พอใจอย่างรุนแรงให้แก่บรรดาขาติอาหรับต่าง เช่น ซาอุดีอาระเบีย และจอร์แดน เป็นต้น ถึงขนาดออกแถลงการณ์ประณามอิสราเอลว่า ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ

ไม่เว้นกระทั่งสหรัฐฯ ชาติพันธมิตรสำคัญของอิสราเอล ก็แสดงความวิตกกังวลต่อการบุกยึดครองที่ราบสูงโกลันอย่างสายฟ้าแลบของอิสราเอล โดยระบุว่า ต้องเป็นการดำเนินการแบบชั่วคราวเท่านั้น” สำหรับความเคลื่อนไหวในการยึดครองที่ราบสูงโกลันของอิสราเอลอย่างที่เป็นอยู่นี้

งานเปิดป้ายที่ราบสูงโกลัน ซึ่งถูกระบุชื่อว่า “ที่ราบสูงทรัมป์” ตั้งอยู่ที่บริเวณหนึ่งของที่ราบสูงโกลัน โดยนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู แห่งอิสราเอล เป็นผู้เปิดงาน (Photo : AFP)

นอกจากปฏิบัติการยึดครองที่ราบสูงโกลันแล้ว ทางการอิสราเอล ยังได้มีปฏิบัติการโจมตีทางอากาศเข้าใส่พื้นที่ทั่วประเทศซีเรีย เมื่อช่วงต้นสัปดาห์นี้ หลังจากที่รัฐบาลซีเรียของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด ล่มสลายไปแล้วด้วยน้ำมือของกลุ่มกบฏ

โดยมีรายงานว่า อิสราเอลโจมตีทางอากาศในซีเรียกว่า 100 จุด ในพื้นที่เมืองต่างๆ รวมถึงกรุงดามัสกัส ด้วยการอ้างว่า มุ่งโจมตีพื้นที่เป้าหมายที่เป็นทางการทหารเป็นประการสำคัญ เพื่อทำลายอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ไม่ให้ตกไปถึงมือกลุ่มหัวรุนแรงติดอาวุธต่างๆ อันจะเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของอิสราเอลได้ ยกตัวอย่างกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ เป็นต้น ซึ่งได้อาวุธส่วนหนึ่งจากซีเรีย จนทางอิสราเอล ต้องสกัดด้วยการโจมตีทางอากาศเมื่อช่วงก่อนหน้า

สภาพความเสียหายของเรือรบต่างๆ ของกองทัพเรือซีเรีย ที่เมืองท่าลาตาเกีย หลังถูกกองทัพอิสราเอล โจมตีทางอากาศ โดยอ้างว่า เพื่อไม่ให้กลุ่มหัวรุนแรงในซีเรีย นำไปใช้ได้อีก (Photo : AFP)

เมื่ออิสราเอลยังมีปฏิบัติการทางทหารในซีเรียอยู่เช่นนี้ ที่ราบสูงโกลันก็ยังจะต้องถูกใช้เป็นฐานทางการทหารของอิสราเอล ไม่ถอนตัวออกไปง่ายๆ ในขณะที่สถานการณ์สู้รบจากบรรดากลุ่มติดอาวุธต่างๆ ในซีเรีย ที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจมีอิสราเอลเข้าไปผสมโรง