ศรีสะเกษประชุมป้องกันและแก้ปัญหายาเสพติดแบบบูรณาการ โครงการรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด TO BE NUMBER ONE
วันที่ 12 ธ.ค.67 ที่ห้องประชุมลำดวนทอง โรงแรมพรหมพิมาน อำเภอเมืองศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ นายอนุพงศ์ สุขสมนิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ได้มอบหมายให้ นายธาตรี สิริรุ่งวนิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดแบบบูรณาการโครงการรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด TO BE NUMBER ONE จังหวัดศรีสะเกษ ครั้งที่ 3/2567 และการประชุมเชิงปฏิบัติการประกาศวาระจังหวัดศรีสะเกษต่อต้านยาเสพติด เพื่อติดตามสรุปผลการดำเนินงานและการขับเคลื่อนงานโครงการ TO BE NUMBER ONE จังหวัดศรีสะเกษ ประจำปีงบประมาณ 2568 โดยมี นายทนง วีระแสงพงษ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัด นายอำเภอ ผู้แทนนายอำเภอทุกอำเภอ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทุกแห่ง ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สาธารณสุขอำเภอทุกอำเภอ พัฒนาการอำเภอทุกอำเภอ ภาครัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน ตัวแทนชมรมฯ และคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดแบบบูรณาการ โครงการรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด TO BE NUMBER ONE จังหวัดศรีสะเกษ และผู้เกี่ยวข้องร่วมการประชุมฯ
สำหรับสาระสำคัญของการประชุมมีประเด็นที่สำคัญเกี่ยวกับ การจัดสรรงบประมาณสนับสนุนทีม TO BE NUMBER ONE TEEN DANCERCISE ที่ผ่านเข้ารอบระดับประเทศ และ การประกวดผลงานจังหวัด อำเภอ และชมรม TO BE NUMBER ONE ระดับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประจำปี 2568 ระหว่างวันที่ 26 - 28 มกราคม 2568 ณ โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชา ออคิด จังหวัดขอนแก่น รวมทั้งเตรียม แผนการสนับสนุนงบประมาณ สำหรับชมรมที่ผ่านการประกวดระดับภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าสู่การประกวดระดับประเทศในปี พ.ศ.2568
จากนั้น เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(MOU) ระหว่างผู้บริหารของจังหวัดศรีสะเกษ กับหัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด นายอำเภอทุกอำเภอ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรภาคีเครือข่าย และหน่วยงานหลัก ที่ต้องร่วมบูรณาการขับเคลื่อนในระดับจังหวัด อำเภอ รวมถึงชมรมต่างๆ ที่มีการดำเนินกิจกรรมโครงการ TO BE NUMBER ONE ที่เป็นรูปธรรมชัดเจน เพื่อขับเคลื่อนงานโครงการ TO BE NUMBER ONE จังหวัดศรีสะเกษ ให้มีความต่อเนื่อง เกิดการขยายเครือข่ายชมรม TO BE NUMBER ONE ให้ครอบคลุมทุกประเภท และเพิ่มจำนวนชมรม TO BE NUMBER ONE ให้มากขึ้น สร้างระบบการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน ด้วยกระบวนการพัฒนาศักยภาพคณะกรรมการและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ให้มีความรู้ความเข้าใจ โดยยึดแนวทางการดำเนินงานตาม 3 ยุทธศาสตร์หลัก ดังนี้ 1) การรณรงค์ปลุกจิตสำนึกและสร้างกระแสนิยมที่เอื้อต่อการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด 2) การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางจิตใจให้แก่เยาวชน 3) การสร้างและพัฒนาเครือข่ายเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด