S&P Global Ratings (S&P) คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) ที่ BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Outlook) ที่ระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) 

เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.67 นายพชร อนันตศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2567 บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ S&P Global Ratings (S&P) ได้คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) ที่ BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Outlook) ที่ระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) โดยมีรายละเอียดที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการบริหารหนี้สาธารณะ ดังนี้ 

-S&P คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวและเติบโตจากร้อยละ 1.9 ในปี 2566 เป็นร้อยละ 2.8 และ 3.1 ในปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ อันเป็นผลจากการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่แท้จริง (Real GDP Growth) จะเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 3.0 ในช่วงปี 2567 – 2570 ขณะที่สัดส่วนการขาดดุลงบประมาณต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) เฉลี่ยคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 3.3 ในช่วงปี 2568 – 2569 

-S&P มองว่ารัฐบาลไทยจะยังคงเน้นการลงทุนตามยุทธศาสตร์ชาติ รวมถึงโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) และโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง โดยคาดว่าการลงทุน ของรัฐวิสาหกิจและความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (Public-Private-Partnerships) จะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และการลงทุนอย่างต่อเนื่องดังกล่าวจะยกระดับ ขีดความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป 

-หนี้ภาครัฐบาลสุทธิต่อ GDP (Net General Government Debt to GDP) คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 ในปี 2568 ซึ่งเป็นผลส่วนหนึ่งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจตามโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท โดย S&P คาดว่าการดำเนินงานตามมาตรการดังกล่าวจะทำให้การบริโภคของภาคเอกชนเติบโต 

-ภาคการเงินต่างประเทศ (External Finance) แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่ร้อยละ 1.4 ในปี 2566 และคาดว่าตั้งแต่ปี 2567 – 2570 ดุลบัญชีเดินสะพัดจะยังคงเกินดุลเฉลี่ยร้อยละ 2.3 จากการฟื้นตัวของภาคการบริการ (Services Exports) เป็นสำคัญ  

-ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะ 2 ปีข้างหน้า โดยนับตั้งแต่เดือนมกราคม – ตุลาคม 2567 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นเป็น 28.8 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 29.3 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากมาตรการของรัฐบาลในการยกเว้นการขอวีซ่าเข้าประเทศไทย 

-ปัจจัยสำคัญที่ S&P จะติดตามสำหรับพิจารณาการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ของประเทศไทย คือ การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่มีรายได้ระดับเดียวกัน (Peers) รายได้ต่อหัว (Income per Capita) และเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศ 

-อนึ่ง ในรายงานของ S&P ได้นำเสนอกรณีข้อเท็จจริงการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย กรณีพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐานต่างๆ ในภาพรวม อีกทั้งหากการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลมีความต่อเนื่องจะมีผลให้อันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยอยู่ที่ระดับ ‘A-’ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจัยของเสถียรภาพทางการเมืองที่จะมีผลต่อความต่อเนื่องของการกำหนดนโยบายด้านเศรษฐกิจดังกล่าว

#S&P #เครดิต #ข่าววันนี้ #กระตุ้นเศรษฐกิจ #สยามรัฐ #สยามรัฐออนไลน์