พมจ.บุรีรัมย์ หนุน อปท.จัดตั้งศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ เพื่อเป็นกลไกลในการพัฒนาด้านสุขภาพ สังคม เศรษฐกิจ และถ่ายทอดภูมิปัญญา ในระดับพื้นที่
วันนี้( 12 ธ.ค. 67) นายปิยะ ปิจนำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการโครงการเสริมสร้างกลไกลการพัฒนาผู้สูงอายุในชุมชน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ที่ห้องประชุมโรงแรมสกายวิวรีสอร์ทบุรีรัมย์ อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ โดยสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดบุรีรัมย์ จัดขึ้น เพื่อขับเคลื่อนการจัดตั้งศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ (ศพอส.) เป็นศูนย์รวมในการพัฒนาผู้สูงอายุในชุมชน ที่มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพการดำเนินงานให้มีมาตรฐาน มีกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง มีการบริหารจัดการที่เข้มแข็งมีประสิทธิภาพ ให้ผู้สูงอายุมีสถานที่จัดกิจกรรมและบริการด้านสุขภาพ สังคม เศรษฐกิจและสภาแวดล้อมของผู้สูงอายุรวมถึงสมาชิกอื่นในชุมชน เป็นศูนย์ส่งเสริมอาชีพและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ถ่ายทอดภูมิปัญญาผู้สูงอายุ รวมถึงให้ผู้สูงอายุได้รับการพัฒนาศักยภาพในทุกด้านคลอบคลุมทุกมิติ โดยมีนางกันตา ดีเติม พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดบุรีรัมย์ หัวหน้าส่วนในสังกัด เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คณะกรรมการ ศพอส.ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐที่ดำเนินงานด้านผู้สูงอายุ และเจ้าหน้าที่ พมจ.บุรีรัมย์ กว่า 130 คนร่วมกิจกรรม
ซึ่งการอบรมในครั้งนี้ มีผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คณะกรรมการศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ (ศพอส.) ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐที่ดำเนินงานด้านผู้สูงอายุ เข้าร่วมโครงการ จัดทำแผนงาน รวมถึงแลกเปลี่ยนในประเด็นปัญหาอุปสรรค ในการขับเคลื่อนงานในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์
ทั้งนี้ สืบเนื่องจาก ปัจจุบันประเทศไทยเผชิญกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรจากอัตราการเกิดลดลง คนมีอายุยืนยาวมากขึ้น ประเทศไทยมีผู้สูงอายุมากกว่า 13 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เริ่มขับเคลื่อนและจัดตั้งศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ (ศพอส.) ตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 ปัจจุบัน ได้จัดตั้งไปแล้ว 2,193 แห่ง ทั่วประเทศ ซึ่งมีศูนย์ฯที่ได้รับสนับสนุนงบประมาณจัดตั้งไม่เกิน 1 ล้านบาท จำนวน 1,677 แห่ง และที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการจัดตั้งเองโดยไม่ขอรับการสนับสนุนอีกจำนวน 516 แห่ง
ในส่วนของพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ มีประชากรผู้สูงอายุจำนวน 242,710 คน คิดเป็นร้อยละ 24.49 ของประชากรทั้งจังหวัด และได้มีการจัดตั้งไปแล้วจำนวน 59 แห่ง