วันที่ 12 ธ.ค.67 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกล่าวถึงแนวทางดูแลคนไร้บ้านในกรุงเทพมหานครว่า ปัจจุบันในโซนสุขุมวิทพบคนไร้บ้านและขอทานค่อนข้างเยอะ ซึ่งต้องเก็บข้อมูลให้ครบ และแยกให้ชัดว่าเป็นคนต่างด้าวหรือคนไร้บ้าน เพราะต้องดำเนินการ 2 กรณี โดยร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กรณีคนต่างด้าว อาจไม่ใช่คนไร้บ้านตัวจริง มีการจับกุมและส่งกลับภูมิลำเนาหลายครั้งแล้ว ส่วนกรณีคนไร้บ้านตัวจริง ปัจจุบัน กทม.กำลังทำโครงการบ้านอุ่นใจ ที่บริเวณแยกแม้นศรี เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เพื่อเป็นที่พักพิงชั่วคราวของคนไร้บ้าน อย่างไรก็ตาม การดำเนินการเรื่องคนไร้บ้านมีความละเอียดอ่อน เพราะเป็นประชาชนคนหนึ่งเหมือนกัน แต่อาจมีความโชคร้ายในบางช่วงของชีวิต ไม่มีสิทธิ์ไปจับกุมคุมขังได้ ต้องหาทางช่วยเหลือด้านอื่น เช่น การช่วยให้เข้าถึงสิทธิต่าง ๆ ตามกฎหมาย การช่วยส่งกลับภูมิลำเนา การช่วยหางานทำ ซึ่งต้องร่วมมือกับหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะ พม. คาดว่าในปี 68 โครงการบ้านอุ่นใจจะเป็นศูนย์รวมของการช่วยเหลือคนไร้บ้านให้ได้รับสิทธิต่าง ๆ มากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาในเรื่องนี้ต่อไป
ในส่วนของขอทานต่างด้าว ต้องมีการจับกุม พบว่ามีการนำเด็กมาร่วมด้วย ซึ่งอาจเข้าข่ายการค้ามนุษย์ เป็นเรื่องค่อนข้างรุนแรง หากใครพบเห็นสามารถแจ้งมาที่ทราฟฟี่ ฟองดูว์ ได้ทันที
ด้านนางสาวกาญจนา ภูพิพัฒน์ผล รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม (สพส.) กทม. กล่าวกรณีมีข้อสังเกตขอทานต่างด้าวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะย่านใจกลางเมืองว่า สพส. ได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดระเบียบผู้ทำการขอทานในพื้นที่สาธารณะของกรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่อง ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ได้แก่ สำนักเทศกิจ สำนักงานเขต กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กรมสุขภาพจิต กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ (บก.ปคม.) สถานีตำรวจนครบาล (สน.) สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย มูลนิธิกระจกเงา และมูลนิธิอิสรชน เป็นต้น โดยจัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่จัดระเบียบในพื้นที่ที่มีผู้ทำการขอทาน
ในย่านธุรกิจ หน้าห้างสรรพสินค้า ตลาด แหล่งชุมชน สถานีรถไฟฟ้า MRT รวมถึงบริเวณสกายวอล์กราชประสงค์ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ใต้สถานีรถไฟฟ้า BTS พร้อมพงษ์ ตรงข้ามสถานีขนส่งเอกมัย ซึ่งมีขั้นตอนดำเนินการตั้งแต่การสำรวจ คัดกรอง จัดทำประวัติ ให้คำปรึกษาแนะนำ การทำความเข้าใจกับผู้ทำการขอทาน กรณีพบผู้ทำการขอทานที่เป็นคนต่างด้าวจะนำตัวส่ง สน. ในพื้นที่เพื่อสอบสวน บันทึกการจับกุม เปรียบเทียบปรับตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมการขอทาน พ.ศ. 2559 และส่งตัวไปยัง สตม. เพื่อผลักดันกลับประเทศต้นทางต่อไป
ทั้งนี้ กทม. ให้ความสำคัญในการแก้ไขบัญหาดังกล่าวและได้เพิ่มมาตรการเข้มงวดกวดขันตรวจสอบความเป็นระเบียบเรียบร้อย โดยได้มีหนังสือประสานแจ้งสำนักงานเขต 50 เขต ในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยเป็นหน่วยร่วมบูรณาการสนับสนุน การอำนวยความสะดวก และประสานงานในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการในพื้นที่ตามบทบาทและอำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ. ควบคุมการขอทาน พ.ศ. 2559 และตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 กรณีสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่สัญจรไปมา หรือสร้างความไม่สะอาดในพื้นที่ รวมถึงการพักอาศัยหลับนอนในพื้นที่สาธารณะ โดยให้สำนักงานเขตสำรวจผู้ทำการขอทานในพื้นที่และรายงานผลในรูปแบบ Google Forms โดยสแกน QR Code ให้ สพส. ทราบทุกวันจันทร์ของสัปดาห์ นอกจากนี้ ได้ร่วมกับกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ พม. องค์กรภาคเอกชน และผู้เกี่ยวข้องในรูปแบบของคณะทำงานด้านคนไร้บ้านและผู้ทำการขอทาน เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการขอทานในพื้นที่กรุงเทพฯ