บสย. ผนึก โออาร์ ค้ำประกันสินเชื่อ SMEs ที่ต้องการเป็นเจ้าของแฟรนไชส์สถานีบริการ PTT Station และคาเฟ่ อเมซอน พร้อมช่วยรายย่อย พ่อค้า แม่ค้า ที่ตั้งเป้าลงทุน-ขยายร้านค้าในสถานีบริการ ตั้งเป้าช่วย SMEs เข้าถึงสินเชื่อไม่น้อยกว่า 520 ราย และก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบไม่น้อยกว่า 6,000 ล้านบาท สร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 20,675 ล้านบาท

นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และ นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ระหว่าง บสย. และ โออาร์ (OR) โดยได้รับเกียรติจาก นายสุพัฒน์ เมธีวรพจน์ กรรมการ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) และประธานกรรมการ บสย. เข้าร่วมในพิธี โดยมีเป้าหมายเพื่อร่วมกันส่งเสริมและสนับสนุนในการให้ความรู้ และพัฒนาศักยภาพด้านการดำเนินธุรกิจให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2567 ณ ห้อง MULTIVERSE อาคาร EnCo C ชั้น 10 

นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กล่าวว่า บสย. เล็งเห็นความสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านกลไกการค้ำประกันสินเชื่อ สนับสนุนการสร้างงานสร้างอาชีพ มุ่งสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ โดยเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ต้องการเงินลงทุนในการเริ่มต้น และขยายธุรกิจภายใต้เครือโออาร์ ครอบคลุมตั้งแต่ผู้ประกอบการ SMEs ที่ต้องการลงทุนเปิดสถานีบริการ PTT Station และคาเฟ่ อเมซอน ในรูปแบบแฟรนไชส์ รวมถึงกลุ่ม Micro SMEs ผู้ประกอบการรายย่อย พ่อค้า แม่ค้า ที่ต้องการเปิดร้านค้าในสถานีบริการ PTT Station ตลอดจนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในเครือโออาร์ รวม 4 ประเภทธุรกิจ ได้แก่  

1. ผู้ประกอบการกลุ่มบัตรเติมน้ำมันสำหรับนิติบุคคล (Fleet Card) เจาะกลุ่มลูกค้าเดิมที่ต้องการเพิ่มวงเงินในบัตรฯ ตั้งเป้าเริ่มต้น 100 ราย วงเงินต่อราย 5 ล้านบาท คิดเป็นวงเงินรวม 500 ล้านบาท 

2. สถานีบริการ PTT Station เจาะกลุ่มลูกค้าใหม่ที่ต้องการลงทุนเปิดสถานีบริการ PTT Station ตั้งเป้า 50 ราย วงเงินต่อรายอยู่ที่ประมาณ 40 ล้านบาท ครอบคลุมสถานีบริการ PTT Station, ร้านเซเว่น อีเลฟเว่น และร้านคาเฟ่ อเมซอน วงเงินรวม 2,000 ล้านบาท และลูกค้าเดิมที่ต้องการขอสินเชื่อเพื่อรีโนเวต หรือเป็นเงินทุนหมุนเวียน ตั้งเป้า 100 แห่ง วงเงินต่อราย 20 ล้านบาท คิดเป็นวงเงินรวม 2,000 ล้านบาท รวมวงเงิน 4,000 ล้านบาท

3. กลุ่มธุรกิจแฟรนไชส์คาเฟ่ อเมซอน เจาะกลุ่มลูกค้าใหม่ที่ต้องการลงทุนเปิดธุรกิจร้านคาเฟ่ อเมซอน  แบ่งเป็นรูปแบบสแตนอโลน ตั้งเป้า 50 สาขา วงเงินต่อราย 5 ล้านบาท คิดเป็นวงเงินรวม 250 ล้านบาท และรูปแบบอาคารพาณิชย์ ตั้งเป้า 100 ราย วงเงินต่อราย 2.5 ล้านบาท คิดเป็นวงเงินรวม 250 ล้านบาท รวมวงเงิน 500 ล้านบาท 

4. กลุ่มผู้ประกอบการร้านค้า/วิสาหกิจชุมชนในสถานีบริการ PTT Station เจาะกลุ่มลูกค้าใหม่ที่ต้องการลงทุนเปิดกิจการในสถานีบริการ PTT Station และลูกค้าเดิมที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียน ตั้งเป้า 120 ราย วงเงินต่อราย 5 แสนบาท คิดเป็นวงเงินรวม 6 ล้านบาท 

นายสิทธิกร กล่าวว่า จากความร่วมมือในครั้งนี้ บสย. พร้อมให้ความสนับสนุนวงเงินค้ำประกันสินเชื่อไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท จะช่วยผู้ประกอบการ SMEs เพิ่มขึ้นมากกว่า 520 ราย ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินกว่า 6,000 ล้านบาท ช่วยรักษาการจ้างงาน 4,363 ตำแหน่ง และก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 20,675 ล้านบาท 

ภายใต้ MOU ครั้งนี้ บสย. และโออาร์ จะเดินหน้าแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ต่างๆ เพื่อเสริมศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs ในการดำเนินธุรกิจ และการเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดย บสย. พร้อมให้คำปรึกษาเพื่อติดอาวุธเตรียมความพร้อมให้ SMEs ก่อนที่จะประกอบธุรกิจและเข้าสู่กระบวนการขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน ผ่านศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน ตลอดจนแผนงานในอนาคตเพื่อร่วมกันพัฒนาบริการการค้ำประกันบนธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) โดยใช้ Credit Scoring เป็นเครื่องมือในการประเมินความเสี่ยงร่วมกับ Virtual Bank  เพื่อทำให้เกิดเป็นกลไกการเข้าถึงแหล่งเงินทุน พร้อมการค้ำประกันได้อย่างมีประสิทธิภาพบนแพลทฟอร์มดังกล่าว 

ทั้งนี้ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระดับได้มากยิ่งขึ้น บสย. ได้เพิ่มความสะดวกให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถเข้ามาตรวจสุขภาพทางการเงิน พร้อมจองคิวขอรับคำปรึกษาทางการเงิน ฟรี! ได้ที่ LINE OA : @tcgfirst 

บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ ดำเนินธุรกิจน้ำมันและค้าปลีกและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจดังกล่าว โดยมุ่งเน้นการพัฒนาสินค้าและบริการเพื่อส่งมอบประสบการณ์ที่ดีให้ผู้บริโภคได้อย่างทั่วถึง พร้อมทั้งช่วยสนับสนุนและสร้างผู้ประกอบการ SMEs ในการดำเนินธุรกิจน้ำมันและค้าปลีก รวมถึงสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีแก่สังคมและชุมชน ในส่วนของธุรกิจ Non-Oil นอกจากจะสร้างพันธมิตรทางธุรกิจกับแบรนด์ต่างๆ แล้ว ยังมีการบริหารแบรนด์เองทั้งในรูปแบบของแบรนด์ที่สร้างขึ้นเอง โดยนำแบรนด์ต่างๆ มาบริหารงานทางด้านการตลาดในรูปแบบ Master Franchise เพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจทั้งในและนอกสถานีบริการฯ ให้กับแบรนด์ต่างๆ อีกด้วย