วันที่ 11 ธันวาคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเป็นเอกฉันท์ ไม่รับ 7 คำร้อง ที่มีการร้องขอให้วินิจฉัยเกี่ยวกับการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ประกอบด้วย คำร้องของ นายสมบูรณ์ ทองบุราณ , นายวัฒนา ชมเชย , ว่าที่ ร.ต.วิชชุกร คำจันทร์ นายจิรัฎฐ์ แจ่มสว่าง , นายปรีชา เดชาเลิศ , นางฤติมา กันใจมา , พล.ต.หญิง บุณญารัศมิ์ พัฒนะมหินทร์ และคณะ ซึ่งร้องว่า กกต. , นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. , ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด จัดการเลือกสมาชิกวุฒิสภาไม่เป็นไปโดยลับ ใช้ดุลพินิจในการรับสมัครผู้สมัครโดยไม่ชอบ ออกระเบียบ กกต.ว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภาที่เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพเลือกปฏิบัติไม่เป็นธรรมแก่ผู้ร้อง ปล่อยการให้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย ใช้กลไกกระทรวงมหาดไทย ทำให้การเลือกสมาชิกวุฒิสภาไม่เป็นไปโดยสุจริตเที่ยงธรรม ไม่ชอบด้วยกฎหมายและมาตรฐานจริยธรรม และขอให้ศาลสั่งให้การเลือก สว.เป็นโมฆะ

โดยศาลฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า คดีทั้ง 7 คำร้อง เป็นเรื่องเกี่ยวกับการดำเนินการจัดการเลือกสมาชิกวุฒิสภาของ กกต.และขอให้ตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกสมาชิกวุฒิสภา เป็นกรณีตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 47 (2) ที่บัญญัติว่า "การใช้สิทธิยื่นคำร้องตาม มาตรา 46 ต้องมิใช่เป็นกรณีอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้... (2) รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายประกอบ รัฐธรรมนูญได้กำหนดกระบวนการร้องหรือผู้มีสิทธิขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยไว้เป็นการเฉพาะแล้ว" ซึ่งมาตรา 46 วรรคสาม บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา ดังนั้น ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213

สำหรับกรณีผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ประกอบ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 48 โดยยื่นคำร้อง ผ่านผู้ตรวจการแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 231(1) ซึ่งไม่ใช่การยื่นคำร้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 กรณีไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 46 ประกอบมาตรา 48