เมื่อวันที่ 10 ธ.ค.67 นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ โฆษกพรรคประชาชน โพสต์ข้อความผ่าน X เรื่อง ทำไมประเทศไทยควรมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยเร็วที่สุด ก่อนการเลือกตั้งครั้งถัดไป  โดยระบุว่า ...

หากเทียบสถานะของรัฐธรรมนูญในวันรัฐธรรมนูญปีนี้ (10 ธันวาคม 2567) กับวันรัฐธรรมนูญปีที่แล้ว (10 ธันวาคม 2566):

- สิ่งที่คืบหน้าตามกาลเวลาคือการสิ้นอายุของบทเฉพาะกาล ซึ่งทำให้เราไม่มี สว. ที่มาจากการเแต่งตั้ง มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีและแทรกแซงกระบวนการจัดตั้งรัฐบาลอีกต่อไป

- แต่อีกมุมหนึ่ง ยังไม่มีสักมาตราในรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ถูกแก้ไขเพิ่มเติม ในขณะที่ประเทศเรายังไม่ได้ขยับเข้าใกล้การได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เท่าที่ควร ประชามติที่ต้องจัดก็ยังไม่ความชัดเจนว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่

ตราบใดที่รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ยังไม่ถูกแก้ไข ปัญหาหลายอย่างในการเมืองและสังคมไทยจะยังอยู่ในสภาพที่อำนาจและสิทธิเสรีภาพของประชาชนมีความ “อ่อนแอ”

 

1. อำนาจประชาชนอ่อนแอ

(โครงสร้างรัฐเปิดช่องให้ ‘อำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง’ บั่นทอน ‘อำนาจที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน’)

- วุฒิสภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง จะยังมีอำนาจชี้ขาดในการขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (แก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้ หากไม่ได้รับเสียงเห็นชอบจาก 1 ใน 3 ของ สว.)

- วุฒิสภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง จะยังมีอำนาจชี้ขาดในการรับรอง-ไม่รับรองตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ

- ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ จะยังมีอำนาจในการวินิจฉัยหรือไต่สวนกรณีฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม จนอาจนำไปสู่การตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต

- ศาลรัฐธรรมนูญ จะยังมีอำนาจยุบพรรคการเมืองด้วยเงื่อนไขที่กว้างขวางและคลุมเครือกว่าหลักสากล

- กกต. จะยังมีอำนาจแจก “ใบส้ม” ทำให้ผู้สมัครที่ได้รับเลือกตั้งต้องพ้นจากตำแหน่ง แม้ท้ายที่สุดจะพิสูจน์ได้ว่าไม่ได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา

- ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ จะยังคงไม่สามารถถูกถอดถอนโดยกระบวนการที่ริเริ่มโดยประชาชนและตัวแทนประชาชนได้

- ยุทธศาสตร์ชาติ คสช. จะยังมีสถานะครอบงำนโยบายของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

 

2. สิทธิเสรีภาพอ่อนแอ

(สิทธิเสรีภาพและสวัสดิการประชาชน แม้เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ได้รับการคุ้มครองอย่างครอบคลุมและรัดกุมเพียงพอ)

- สิทธิเสรีภาพ จะยังถูกจำกัดได้ด้วยเหตุผลข้ออ้างเรื่อง “ความมั่นคงของรัฐ” และ “ความสงบเรียบร้อย”

- เสรีภาพในการแสดงออก-สิทธิในกระบวนการยุติธรรม จะยังคงไม่ถูกรับประกันเพียงพอในเชิงปฏิบัติ

- สิทธิชุมชนในการแสดงความคิดเห็นต่อโครงการในพื้นที่ จะยังไม่ได้รับการคุ้มครองเท่ากับในอดีต

- สวัสดิการประชาชนในแต่ละช่วงวัย จะยังมีช่องโหว่ (เช่น สิทธิรักษาพยาบาลฟรี สิทธิเรียนฟรี)

- ความเสมอภาคทางเพศ จะยังไม่ได้รับการคุ้มครองสำหรับทุกคนภายใต้ความหลากหลายทางเพศ

- สิ่งแวดล้อมที่ดี จะยังไม่ได้ถูกระบุเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน

- คำสั่ง-ประกาศ คสช. ที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน จะยังถูกทำให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญโดยอัตโนมัติ

การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ไม่เพียงเป็นวาระที่หลายพรรคการเมืองเห็นตรงกันตั้งแต่ช่วงรณรงค์เลือกตั้ง แต่ยังเป็นนโยบายรัฐบาลที่ได้แถลงต่อรัฐสภาและสัญญากับประชาชน

แม้พรรคแกนนำรัฐบาลเคยประกาศไว้ชัดเจนตั้งแต่ตอนตั้งรัฐบาล ว่ามีเป้าหมายในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เสร็จก่อนการเลือกตั้งครั้งถัดไป แต่มาถึงวันนี้เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าหากรัฐบาลเดินตามแผนเดิมที่จะจัดทำประชามติรวมกัน 3 ครั้ง (หลังจากที่ร่างแก้ไข พ.ร.บ. ประชามติ มีผลบังคับใช้) เราจะไม่สามารถมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ถูกจัดทำโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ทันก่อนการเลือกตั้งครั้งถัดไป

หนทางเดียวที่เป็นไปได้ในการทำให้เรามีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ถูกจัดทำโดย สสร. บังคับใช้ทันก่อนการเลือกตั้งครั้งถัดไป คือการแสวงหาความร่วมมือจากทุกฝ่ายในการลดจำนวนประชามติจาก 3 ครั้ง เหลือ 2 ครั้ง

เมื่อต้นปี 2567 พรรคเพื่อไทยและอดีตพรรคก้าวไกลเคยพยายามเดินเส้นทางนี้โดยการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเพิ่มหมวด 15/1 เรื่องให้มี สสร. มาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (ซึ่งจะนำไปสู่การทำประชามติ 2 ครั้ง) เข้าสู่รัฐสภา แต่ประธานรัฐสภาตัดสินใจไม่บรรจุร่างดังกล่าวโดยอ้างว่าจะบรรจุได้ต่อเมื่อมีการทำประชามติเพิ่มมาก่อนอีก 1 ครั้ง (รวมกันเป็น 3 ครั้ง) เนื่องจากประธานรัฐสภาตีความคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 4/2564 แตกต่างจากอดีตพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย

ดังนั้น ด่านแรกที่จะทำให้เส้นทางประชามติ 2 ครั้ง กลับมามีความเป็นไปได้ คือการขอให้ประธานรัฐสภาทบทวนการตัดสินใจจากเมื่อตอนต้นปีและหันมาบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับ สสร. เข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมรัฐสภา

โดยในการประชุมระหว่าง กมธ.พัฒนาการเมืองฯ กับประธานรัฐสภา เมื่อวันที่ 27 พ.ย. เราพบว่ามีข้อมูล 2 ชุด ที่ประธานรัฐสภาและคณะกรรมการที่ให้คำปรึกษาประธานรัฐสภา ยังไม่ได้ใช้ประกอบการการวินิจฉัยเมื่อตอนต้นปี และเป็นข้อมูลสำคัญที่เราเห็นว่าจะช่วยสนับสนุนว่าการทำประชามติ 2 ครั้ง สอดคล้องกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ

(1) คำวินิจฉัยรายบุคคลของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 คน ประกอบคำวินิจฉัยกลาง 4/2565

(2) ผลการหารืออย่างไม่เป็นทางการระหว่าง กมธ.พัฒนาการเมืองฯ กับ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 21 พ.ย.

ดังนั้น ในวันเปิดสมัยประชุมสภาฯ 12 ธ.ค. นี้ พรรคประชาชนจะยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเพิ่มหมวด 15/1 (เรื่องให้มี สสร. มาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่) เข้าสู่รัฐสภาอีกรอบหนึ่ง เพื่อให้ประธานรัฐสภาและคณะกรรมการที่ให้คำปรึกษาประธานรัฐสภา ได้วินิจฉัยเรื่องนี้อีกครั้งด้วยข้อมูล 2 ชุดดังกล่าวที่เพิ่มเติมเข้ามา

หากประธานรัฐสภาตัดสินใจบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับ สสร. เข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมรัฐสภา ผมและพรรคประชาชนหวังว่าสมาชิกรัฐสภาทุกคน (ทั้ง สส. ซีกรัฐบาลและฝ่ายค้าน และ สว.) จะร่วมมือกันผลักดันและเห็นชอบร่างดังกล่าวโดยเร็ว เพื่อให้เรามี สสร. มาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้มีโอกาสทันก่อนการเลือกตั้งครั้งถัดไป

 

 

ขอบคุณ X-@paritw92

#พริษฐ์วัชรสินธุ