ช็อกโลก อย่างไม่มีใครจะคาดคิดว่า “ซีเรีย” จะมาถึงจุดนี้
จุดที่ประเทศตกอยู่ภายใต้เงื้อมมือของกลุ่มกบฏ
จากเดิมที่ก่อนหน้านั้น “ซีเรีย” ถูกยกว่า เป็นไม่กี่ประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกา หรือมีนา (MENA : Middle East North Africa) ที่รอดพ้นจากปากเหยี่ยว ปากกา ในวิกฤติด้านเสถียรภาพ และความมั่นคงสารพัดมาได้ เมื่อช่วงคริสต์ทศวรรษ 2010 ที่ผ่านมา
ไม่ว่าจะเป็นปรากฏการณ์ “อาหรับสปริง” ที่ “รัฐบาลดามัสกัส” ภายใต้การนำของ “ประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด” จัดการกับกลุ่มกบฏต่างๆ ใน “สงครามกลางเมือง” จนต้องห่างหายกันไปในสมรภูมิสงคราม
ตามมาด้วยการทำสงครามจัดการกับขบวนการก่อการร้ายกลุ่มต่างๆ เช่น แนวร่วมอัลนุสรา (Al - Nusra Front) ซึ่งเป็นหนึ่งในเครือข่ายของกลุ่มก่อการร้ายอัลกออิดะห์ และการกำราบกลุ่มรัฐอิสลาม หรือไอเอส หรือไอซิส หรือไอซิล ตามแต่จะเรียกกัน
โดยสงครามต่อต้านการก่อการร้าย ก็ทำให้กลุ่มแนวร่วมอัลนุสรา ต้องชะงักกิจกรรมกันไป ส่วนกลุ่มรัฐอิสลาม ต้องเผชิญชะตากรรมเลวร้ายยิ่งกว่า เพราะถูกปราบปรามจนแตกกระสานซ่านเซ็นไปในประเทศทั้งหลายในภูมิภาคต่างๆ เช่น ลิเบีย ในภูมิภาคแอฟริกาเหนือ และอัฟกานิสถาน ในภูมิภาคเอเชียกลาง เป็นต้น
ทว่า มาถึงช่วงคริสต์ทศวรรษ 2020 นี้ ยังไม่ทันเข้าสู่กลางคริสต์ทศวรรษดี ปรากฏว่า “ซีเรีย” ก็ต้องมีอันต้องอยู่ใต้การยึดครองของกลุ่มกบฏในภูมิภาค
ต่างๆ ของประเทศ ซึ่งกลุ่มกบฏในซีเรีย ที่กำลังเป็นที่กล่าวขวัญถึง ณ ชั่วโมงนี้ ก็คือ “ฮายัต ตาห์รีร์ อัล-ชาม”
กลุ่มกบฏกลุ่มนี้ อาจกล่าวได้ว่า เป็นการกลับมาจัดตั้งกลุ่มกันใหม่ของสมาชิกเดิมทั้งของแนวร่วมนุสรา ไอเอส และอัลกออิดะห์ ที่เคลื่อนไหวในซีเรียและอิรัก ซึ่งเหล่าสมาชิกก็ล้วนเป็นมุสลิมนิกายซุนหนี่ ที่มีแนวคิดต่อต้านสารพัด ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชาติมหาอำนาจตะวันตกที่นำโดยสหรัฐฯ การต่อต้านรัสเซีย และบางครั้งก็ต่อต้านแม้กระทั่งตุรเคียด้วย นอกจากนี้แนวคิดต่อต้านการขยายอิทธิพลมุสลิมนิกายชีอะห์ ภายใต้การนำของอิหร่าน และรัฐบาลดามัสกัสของประธานาธิบดีบารชาร์ อัล-อัสซาด ที่พึ่งพิงอิทธิพลทั้งของรัสเซีย และอิหร่าน
ช่วงระยะเวลาที่กลุ่ม “ฮายัต ตาห์รีร์ อัล-ชาม” กลับมารวมตัวนั้น ก็คือช่วงเดือนมกราคม 2017 (พ.ศ. 2560) ภายใต้การนำของ “นายอาบู โมฮัมหมัด อัล-จูลานี” ปัจจุบันอายุประมาณ 41 – 42 ปี
กล่าวถึงนายอาบู โมฮัมหมัด อัล-จูลานี ผู้นี้ ต้องถือว่าไม่ธรรมดา เพราะถึงขนาดถึงถูกทางการสหรัฐฯ ตั้งค่าหัวไว้ถึง 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เลยทีเดียว สำหรับผู้ให้เบาะแส เพราะบิ๊กบอสของกลุ่มฮายัต ตาห์รีร์ อัล-ชามรายนี้ มีปฏิบัติการก่อการร้ายหลายครั้ง
ส่วนสถานที่มั่นของกลุ่ม “ฮายัต ตาห์รีร์ อัล-ชาม” ก็ใช้เมืองอิดลิบ เมืองที่อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของซีเรีย เป็นสถานที่มั่นและเป็นเขตอิทธิพลในความปกครองของทางกลุ่ม
กล่าวกันว่า กลุ่ม “ฮายัต ตาห์รีร์ อัล-ชาม” ปกครองเมืองอิดลิบ โดยใช้รูปแบบ “สภาท้องถิ่น” เลยทีเดียว เพื่อให้การปกครองเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่ปกครองแบบกลุ่มก่อการร้าย หรือองค์กรอาชญากรรมทั้งหลาย ซึ่งนอกจากไม่มีประสิทธิภาพแล้ว ก็ยังไม่สามารถผูกจิตใจของประชาชนชาวเมืองอิดลิบที่มีประชากรจำนวนนับแสนคนได้อีกต่างหากด้วย อันจะส่งผลต่อความอยู่รอดของทางกลุ่ม
เมื่อทางกลุ่ม “ฮายัต ตาห์รีร์ อัล-ชาม” พร้อมแล้วที่จะต่อกรสัประยุทธ์กับกองทัพรัฐบาลซีเรียของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด
เริ่มจากการเข้าตีเมืองอเลปโป ทางตอนเหนือของซีเรีย เมืองที่เปรียบเสมือนเป็นสัญลัษณ์การต่อสู้ ต่อต้านรัฐบาลซีเรีย เมื่อช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ผลปรากฏว่า ในวันสิ้นเดือนพฤศจิกายน เมืองอเลปโป ก็ตกอยู่ภายใต้การยึดครองของกลุ่ม “ฮายัต ตาห์รีร์ อัล-ชาม” อย่างง่ายดาย
หลังจากนั้น กลุ่มดังกล่าว ก็รุกคืบต่อ ด้วยการบุกโจมตีเมืองฮามา และเมืองฮอมส์ ตามลำดับ ก่อนปิดท้ายที่กรุงดามัสกัส เมืองหลวงของประเทศ และศูนย์กลางรัฐบาลซีเรีย
ผลปรากฏว่า กรุงดามัสกัสก็ตกอยู่ภายใต้อุ้งมือของกลุ่ม “ฮายัต ตาห์รีร์ อัล-ชาม” อย่างง่ายดายอีกเช่นกัน เมื่อวันอาทิตย์ที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยใช้เวลาตั้งป้อมจากเมืองอเลปโป รุกรบจากเมืองฮามา เมืองฮอมส์ มาถึงกรุงดามัสกัส เพียง 8 วันเท่านั้น ก็สามารถยึดกรุงดามัสกัสเอาไว้ได้สะดวกดาย แม้ว่าไม่กี่วันก่อหน้านั้น กองกำลังของกลุ่มกบฏ “ฮายัต ตาห์รีร์ อัล-ชาม” ต้องเผชิญกับการทิ้งบอมบ์จากเครื่องบินรบของซีเรียและรัสเซียก็ตาม
อย่างไรก็ดี มีรายงานว่า การต่อต้านจากกองทัพรัฐบาลซีเรีย ก็ไม่หนักหนาสักเท่าไหร่ โดยทหารรัฐบาลหลายเหล่าทัพ ก็ยอมวางอาวุธ หรือถึงขั้นไปเข้ากับกลุ่มกบฏเองเลยด้วยซ้ำ
วิเคราะห์กันว่า สาเหตุที่ทำให้ทหารกองทัพรัฐบาลเหล่านั้น ยอมวางอาวุธแล้วมาเข้ากับกลุ่มกบฏ ก็เพราะพวกเขาเหล่านั้นเป็นมุสลิมนิกายซุนหนี่ส่วนใหญ่ ขณะที่ คนระดับหัวของรัฐบาล อย่างประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด เป็นต้น เป็นมุสลิมนิกายชีอะห์ โดยเป็นกิ่งนิกายอาลาวิต อันเป็นนิกายแยกย่อยจากชีอะห์อีกทีหนึ่ง
เรียกได้ว่า ทหาร หรือเจ้าหน้าที่รัฐระดับชั้นล่าง ตลอดจนประชาชนส่วนใหญ่เป็นมุสลิมซุนหนี่ แต่ชนชั้นปกครองเป็นมุสลิมชีอะห์อาลาวิต
โดยก่อนที่กลุ่มกบฏ “ฮายัต ตาห์รีร์ อัล-ชาม” เข้ายึดครองกรุงดามัสกัส ทางประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด ผู้นำซีเรีย พร้อมด้วยครอบครัว ได้ลี้ภัยไปยังประเทศรัสเซีย ซึ่งก่อนที่เขาจะเดินทางได้สั่งการให้ทางการซีเรีย เปลี่ยนผ่านอำนาจอย่างสันติ ก่อนที่จะประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีในเวลาต่อมา ก็เท่ากับปิดฉากรัฐบาลระบอบตระกูลอัสซาด ที่มีมาอย่างยาวนานกว่า 50 ปี ตั้งแต่รุ่นบิดาของเขา มาถึงยุคของเขาที่ต้องล่มสลายอย่างน่าอนาถ
อย่างไรก็ดี แม้ว่าระบอบตระกูลอัสซาดอาจปิดฉากไปแล้ว โดยอดีตประธานาธิบดีอัสซาดอาจใช้ชีวิตอย่างสงบในรัสเซีย แต่บรรดานักวิเคราะห์ ก็หวาดผวาต่อสถานการณ์ในซีเรียว่า จะเกิดการนองเลือดขึ้น จากบรรดากลุ่มกบฏต่างๆ ที่มิใช่มีแต่กลุ่ม “ฮายัต ตาห์รีร์ อัล-ชาม” เท่านั้น แต่ยังกลุ่มกบฏอื่นๆ ในภูมิภาคต่างๆ ของซีเรีย ที่พร้อมจะชิงความเป็นใหญ่ และชาติอื่นๆ หนุนหลังไม่ว่าจะเป็นตุรเคีย อิหร่าน และแม้แต่รัสเซีย ที่ต้องบอกว่า เสียหน้าไม่น้อยที่พันธมิตรอย่างนายอัสซาด ต้องถูกโค่นอำนาจไปเช่นนี้ ผนวกกับสถานการณ์ในซีเรียที่ไร้ขื่อแป เหมือนกับประเทศที่ผจญชะตากรรมอาหรับสปริงเมื่อก่อนหน้า เช่น ลิเบีย เป็นต้น ซึ่งต่างละเลงเลือดอย่างน่าสยดสยองจากผู้คนในชาติเดียวกันเองกันมาแล้ว