วันที่ 10 ธ.ค.2567 ที่รัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานในพิธีเปิดงาน "วันรัฐธรรมนูญ 2567 สู่รัฐธรรมนูญในฝัน" ว่า วันนี้ถือว่าเป็นวันสำคัญยิ่ง ของรัฐสภาวันหนึ่งเพราะเป็นวันรัฐธรรมนูญ เมื่อมีรัฐธรรมนูญ จึงมีรัฐสภาของเราได้ และการมีรัฐธรรมนูญโดยปกติจะต้องอนุมัติโดยรัฐสภา รัฐสภาซึ่งมาจากประชาชน เป็นผู้อนุมัติรัฐธรรมนูญ และรัฐธรรมนูญก็เป็นกฎหมายสูงสุด ในการปกครองและบริหารประเทศ จะเห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างรัฐธรรมนูญกับรัฐสภา และประชาชนนั้นผูกพันกันอย่างแยกไม่ได้ แต่บางครั้งก็มีบางคนพยายามทำให้สิ่งเหล่านี้แยกออกจากกัน แต่วันนี้ซึ่งเป็นวันรัฐธรรมนูญตนยืนยันว่า รัฐธรรมนูญสภาและประชาชนนั้นต้องมีความผูกพันกัน ประเทศจึงจะเป็นประชาธิปไตยอย่างที่เราต้องการ
นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดที่สะท้อนถึงเจตจำนงร่วมกันครองคนในชาติ แต่ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ผ่านมานั้น การเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญมักจะเกี่ยวกับความขัดแย้ง การรัฐประหาร รวมถึงการยกเลิกรัฐธรรมนูญถึง 20 ฉบับ การกระทำเช่นนี้ เป็นการแสดงถึงจุดอ่อน ในการรักษารัฐธรรมนูญ และรักษาประชาธิปไตยของเรา เพราะเราขาดความรักความเข้าใจ และความหวงแหนในประชาธิปไตย ซึ่งในอดีตรัฐธรรมนูญถือกำเนิดจากความตั้งใจของประชาชน และเป็นความปรารถนาดีของพระมหากษัตริย์ คือพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ท่านเต็มใจจะมอบรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยให้กับคนไทยทั้งประเทศ ดังนั้นใครก็แล้วแต่ หรือกลุ่มบุคคลใดถ้าไปใช้อำนาจของตนเอง โดยไม่ฟังเสียงของประชาชน ตนถือว่าคนเหล่านี้ไม่ฟังพระราชดำรัสของผู้ที่พระราชทานรัฐธรรมนูญให้กับประเทศนี้โดยสิ้นเชิง
ประธานรัฐสภา กล่าวต่อว่า จากยุคต้นๆของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นหลักสำคัญในการที่จะนำพาประเทศก้าวข้ามสิ่งต่างๆมาได้ ปัจจุบันนี้ก็ยังคงเป็นเครื่องมือสำคัญที่กำหนดทิศทางของการพัฒนาชาติ ด้านการเมืองเศรษฐกิจ และสังคม นอกจากนี้รัฐธรรมนูญยังเป็นกติกาที่สร้างความสมดุลระหว่างภาคส่วนต่างๆ และการมีส่วนร่วมทางการเมืองที่สะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย เพื่อให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขในบริบทของการปกครอง และพัฒนาโดยระบอบประชาธิปไตยและ เกาหลีใต้ ตุรกี น่าจะเป็นตัวอย่างที่สำคัญ ให้เราสำนึกว่า ประชาธิปไตยของเราจะอยู่ได้อย่างไร
" ผมขอยกตัวอย่างว่า ประเทศเกาหลีใต้เคยผ่านการปฏิวัติ รัฐประหาร จากผู้นำเผด็จการ หลายยุคหลายสมัย แต่ในที่สุดประเทศเกาหลีใต้ก็ก้าวข้ามสิ่งเหล่านี้มาได้ ด้วยการสร้างรัฐธรรมนูญ และมีผู้นำที่เป็นประชาธิปไตย ประเทศเกาหลีใต้ซึ่งไม่ได้เจริญกว่าเรา และยากจนกว่าเราด้วยซ้ำไปภายในเวลา 20 -30 ปี หลังจากประชาธิปไตยเข้มแข็งแล้ว เกาหลีใต้ก็สร้างเศรษฐกิจมั่นคงแข็งแรง เป็นประเทศที่มีฐานะทางเศรษฐกิจ ประชาชนก็ค่อนข้างมั่นคง นี่คือตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่าถ้าประชาธิปไตย มั่นคงแข็งแรง เศรษฐกิจของประเทศก็ดี ประชาชนก็หายจน จากเกาหลีซึ่งเคยมาทำงานที่บ้านเรา แต่วันนี้คนไทยต้องไปทำงานที่เกาหลีเป็นแสนๆคน เพราะเขาเป็นประชาธิปไตย เขาพัฒนาประเทศมาได้ อย่างไรก็ตามบทท้าทายของเกาหลีก็มาถึง
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาประธานาธิบดีเกาหลีใต้คนปัจจุบันได้ท้าทายอำนาจของประชาชนด้วยการยึดอำนาจ ประกาศกฎอัยการศึก ซึ่งจะกลับไปสู่ยุคเดิมอีก แต่ชาวเกาหลีไม่ยินยอมได้เข้ามาเต็มสภา ผ่านกองทหาร และสมาชิกรัฐสภาก็เข้ามาประชุมยกเลิกการประกาศกฎอัยการศึกของประธานาธิบดี ทำให้วันนี้ประชาธิปไตยก็ยังมีในเกาหลีใต้ต่อไป แต่ถ้าประชาชนยินยอมเอาดอกไม้ไปมอบให้ทหารที่รัฐสภาของเกาหลี แล้วสภาผู้แทนราษฎรกลัวจะถูกจับ ไม่กล้าสู้อำนาจเผด็จการ
วันนี้เกาหลีจะเป็นอย่างไร เผด็จการก็ครองอำนาจ ประชาธิปไตยไม่เกิดขึ้น เกาหลีจะต้องถดถอยความเจริญก้าวหน้าเหมือนบ้านเราเมื่อ10-20 ปี ดังนั้นต้องขอแสดงความชื่นชมยินดีกับประชาชนเกาหลี และสมาชิกรัฐสภาเกาหลี ที่ยังคงมุ่งมั่นที่จะรักษาประชาธิปไตย ยังไม่กลัวเกรงอำนาจเผด็จการใดๆ"
ประธานรัฐสภา กล่าวต่อว่า บทเรียนจากเกาหลีใต้ก็จะเห็นว่า แม้เผด็จการจะใช้ความพยายาม เพื่อทำลายประชาธิปไตยแต่ประชาธิปไตยที่หยั่งลึกในสังคม และความเข้มแข็งของประชาชน และรัฐสภาก็สามารถที่จะยับยั้งความพยายามที่จะยึดอำนาจของประชาชนได้ และประชาธิปไตยใช่ว่าจะสร้างความมั่นคงทางการเมือง แต่เป็นปัจจัยสำคัญที่เราต้องรักเพราะประชาธิปไตยทำให้ประชาชนเข้มแข็ง และเศรษฐกิจมั่นคง
ส่วนอีกประเทศหนึ่งคือตุรกี ซึ่ง ไม่เหมือนกับเกาหลีใต้ เพราะประเทศตุรกีเมื่อ 7 ปีที่ผ่านมา ทหารเข้ายึดอำนาจขับไล่ประธานาธิบดี แต่ประธานาธิบดีไม่ยอมถอยไปตั้งหลักและขอให้ประชาชนอย่ายินยอมให้กับอำนาจของทหาร ทำให้ประชาชนพร้อมใจกันออกมาเต็มถนนทั่วเมืองใหญ่ๆของตุรกี ซึ่งมีทหารขับรถถังออกมา แต่ก็ไม่ได้ทำให้ประชาชนเสียชีวิตแม้แต่คนเดียว 7 ปีที่ผ่านมาการปฏิวัติตุรกีไม่สำเร็จ ประธานาธิบดีในวันนั้น ก็ผ่านพ้นมาเป็นประธานาธิบดีในวันนี้ โดยชนะเสียงอย่างท่วมท้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าถ้าประชาชนเข้มแข็งไม่ยอมให้สยบต่ออำนาจเผด็จการ ตนเชื่อว่าประเทศนั้นสามารถจะรักษาอำนาจของประชาชนได้ ซึ่งก็รู้อยู่ว่าประเทศตุรกีทหารของเขาเข้มแข็งมาก แต่ก็ยังสู้จุดยืนจุดร่วมของ ประธานาธิบดี คนเดียวและประชาชนของประเทศไม่ได้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอำนาจเผด็จการไม่สามรถชนะประชาชนได้
นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ประธานาธิบดีเกาหลีใต้และตุรกี แสดงให้เห็นว่าประชาธิปไตยที่เข้มแข็งนั้นไม่ได้อยู่ที่กฎหมายและรัฐธรรมนูญเพียงอย่างเดียว แต่ขณะที่ประเทศของเรามีรัฐธรรมนูญและกำลังจะแก้ ซึ่งไม่รู้จะแก้ได้หรือไม่ จะแก้รายมาตราหรือจะแก้ทั้งฉบับ ถามว่าแก้แล้วปฏิวัติได้หรือไม่ แก้แล้วฉีกรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ ก็ได้ทั้งนั้น ขอถามว่าจะแก้ไปทำไม แต่มันต้องแก้เพราะเราเห็นว่ารัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย แต่สิ่งสำคัญเหนือกว่านั้นคือหลังจากแก้ จะทำอย่างไรไม่ให้รัฐธรรมนูญถูกฉีกอีก และสำคัญกว่านั้นทำอย่างไรให้ประชาชนสำนึก และรักประชาธิปไตยไม่ยอมให้ใครมาฉีกอีก ฉีกแล้ว 20 ฉบับ ฉบับที่21 ไม่ควรจะได้ฉีกอีกแล้ว ถ้าประชาชนไม่ยินยอม
" สำหรับประเทศไทยเราควรจะใช้บทเรียนของ 2 ประเทศนี้มาดูว่า เราจะทำอย่างไรให้รัฐธรรมนูญของเราในอนาคต และผมเชื่อว่ารัฐธรรมนูญในอนาคตของเรานั้น เราต้องมีมากกว่ารัฐธรรมนูญที่เป็นกระดาษให้เขาฉีกได้ และต้องเต็มไปด้วยจิตวิญญาณของประชาชนที่รักรัฐธรรมนูญ รักประชาธิปไตย เพื่อให้ลูกหลานของเขา เราพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ายกเลิกรัฐธรรมนูญ 20 ฉบับ บ้านเมืองดีขึ้นหรือไม่ ผมอยู่ในรัฐธรรมนูญมา 10 ฉบับ ผมก็ไม่เห็นว่าดีขึ้น แล้วเราจะให้ฉีกอีกทำไม
การฉีกรัฐธรรมนูญเป็นการอ้างเรื่องความบกพร่องของผู้บริหาร ของรัฐสภา แต่ผมยอมรับว่ารัฐสภาอาจจะมีข้อบกพร่อง ผู้บริหารอาจจะไม่ดี แต่ฉีกรัฐธรรมนูญ ปฏิวัติ แก้ได้หรือไม่ รัฐสภาเป็นของประชาชน ผู้บริหารมาจากประชาชน และต้องแก้ด้วยประชาชน ผู้บริหารไม่ดีประชาชนไม่เลือก รัฐสภาไม่ดีก็มีการยุบสภาให้ประชาชนเลือก เพราะประชาธิปไตยเป็นของประชาชน เพื่อประชาชน และทำมาจากประชาชน ไม่ใช่อำนาจมาจากปลายกระบอกปืน แต่ประชาชนและประชาชนสำคัญที่สุด ในระบอบประชาธิปไตย"
ประธานสภาฯ กล่าวว่า วันนี้น่าจะถึงเวลาที่เราพร้อมจะสร้างสิ่งเหล่านี้ได้ รัฐธรรมนูญในอนาคต หลายคนในที่นี้อาจจะเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการสร้างรัฐธรรมนูญ และที่ตนชอบ นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์นิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่บอกว่ารัฐธรรมนูญในอนาคตควรจะมีบทบัญญัติของการป้องกันปฏิวัติรัฐประหาร และป้องกันการฉีกรัฐธรรมนูญ ให้มีกลไกในการป้องกันเหมือนเกาหลีใต้ ถ้าปฏิวัติยกเลิกรัฐธรรมนูญ ประกาศกฎอัยการศึก รัฐสภาสามารถใช้เสียงเกินกว่าครึ่งหนึ่งยกเลิกการปฏิวัติได้ แสดงว่ามีเครื่องมืออยู่ ถ้าเขาฉีกรัฐธรรมนูญ บทบัญญัตินั้นก็หมดไปอยู่ดี
"พูดอย่างนี้เดี๋ยวสื่อ นักวิชาการทั้งหลายก็จะบอกว่า ถ้าเขาฉีกรัฐธรรมนูญบทบัญญัตินั้นก็หมดไปอยู่ดี ผมจะบอกว่า บ้านที่มีรั้ว มีประตู กับบ้านที่ไม่มีรั้วไม่มีประตู อันไหนจะป้องกันโจรได้มากกว่า ผมอยากให้รัฐธรรมนูญฉบับต่อไปนั้นเป็นบ้าน ถึงแม้ว่าเราจะไม่รู้ว่า โจรจะปล้นเมื่อไหร่แต่ขอให้บ้านมีรั้วมีประตูแล้วใส่กุญแจได้ คนอยู่ในนั้นเขาพร้อมที่จะปิดประตูและสู้ในแนวรั้วของเขาได้ อย่าพูดเลยว่า มีบทบัญญัติแล้วปฏิวัติต้องยกเลิก ซึ่งเป็นคำพูดที่ล้าหลังแล้ว ยุคข้างหน้ามันจะต้องหวังกับรั้ว บทบัญญัติที่มีในรัฐธรรมนูญ"
ทั้งนี้ประธานรัฐสภา กล่าวว่า การปฏิวัติรัฐประหารเราจะอาศัยประชาชนและ รัฐสภาอย่างเดียวไม่ได้ จริงๆแล้วตุลาการ ศาล ก็มีส่วนเหมือนกัน ทำไมศาลฎีกาจึงบอกว่าปฏิวัติแล้วเป็นรัฎฐาธิปัตย์ กบฏมีอำนาจสูงสุดได้ทันที ศาลยอมรับอย่างนั้นได้อย่างไร ซึ่งตนไม่ว่าเพราะในอดีตเคยยอมรับ เพราะมันเป็นกฎหมายสมัยนโปเลียน แต่วันนี้หมดยุคแล้วเพราะการปฏิวัติก็คือกบฏ อำนาจตุลาการทำไมถึงคิดตรงข้ามกับรัฐธรรมซึ่งเป็นอำนาจสูงสุดของประเทศนี้ ขอฝากเป็นข้อคิด ในวันรัฐธรรมนูญ
" วันนี้ ผมไม่อยากให้เราเพียงแต่ว่า มาเฉลิมฉลองรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นรากฐานของประชาธิปไตย เราต้องมองไปข้างหน้าว่า เมื่อเรามีรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยแล้วเรา เราจะป้องกันรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยนี้ให้ยืนนานได้อย่างไร เราคงไม่มองว่าวันรัฐธรรมนูญคือวันฉลอง รัฐธรรมนูญแต่ผมอยากให้เห็นว่าวันรัฐธรรมนูญ คือวันที่เราต้องปกป้องรัฐธรรมนูญ และพร้อมใจกันปกป้อง
ผมคนหนึ่งเห็นว่าป้องกันแนวรั้วรัฐธรรมนูญของเราอย่างจริงจัง เพื่อปกป้องรัฐธรรมนูญ ด้วยความสุจริตใจ ว่าไม่มีใครต้องการปฏิวัติ ถ้าไม่จำเป็น เพราะฉะนั้นทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือ ไม่ใช่ประชาชนอย่างเดียว สมาชิกรัฐสภาต้องไม่เปิดโอกาส อย่าเเปิดทางเรียกร้องให้มายึดอำนาจ อย่าคิดว่ารัฐประหาร สามารถแก้ปัญหารัฐสภาได้ เพราะผมเห็นรัฐประหารแก้รัฐธรรมนูญมาหลายครั้งแล้ว ผมอยากให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีแนวทางปกป้องประชาธิปไตยไว้ในรัฐธรรมนูญใหม่ด้วย"