มท.1 บอกคนภาคใต้ฝากขอบคุณ นายกฯที่สั่งเร่งเยียวยาได้อย่างรวดเร็วหลัง ปภ.ขานรับ ข้อสั่งการนายกฯที่ประชุมศปช.วานนี้ สั่งเร่งโอนเงินเยียวยา 9,000 บาท ผู้ประสบอุทกภัยทั่วประเทศ คาดจบหมดก่อนกลางเดือน มกรา 68 นี้ พร้อมเปิดช่องทางการยื่นเรื่องผ่านออนไลน์เพิ่ม
วันนี้ (10 ธันวาคม 2567) นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีและโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม(ศปช.) เปิดเผยว่า เมื่อวานเย็นที่ผ่านมา นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เรียกประชุมด่วน ศปช.โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายแพทย์ พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรีพร้อมทั้งปลัดกระทรวงมหาดไทยและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง โดยนายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการให้ลดขั้นตอนและเร่งดำเนินการจ่ายเงินเยียวยา 9,000 บาท ทุกครัวเรือน ให้แล้วเสร็จโดยเร็วพร้อมทั้งสั่งการให้เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ฝน ระลอกสุดท้ายภาคใต้ในช่วงปลายสัปดาห์นี้ตลอด 24 ชั่วโมง
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รอง นรม. และ รมว. มท. กล่าวในที่ประชุมว่า จากการรับข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีให้ลงพื้นที่ภาคใต้ตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมาพี่น้องประชาชนได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็วและข้อสั่งการให้เยียวยาเบื้องต้นให้รวดเร็วนั้นพี่น้องประชาชนผู้ประสบอุทกภัยได้ขอขอบคุณมายังรัฐบาลที่เร่งแก้ไขปัญหาให้กับพื้นที่ภาคใต้
ส่วนความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2567 รัฐบาล ได้ปรับจากการจ่ายตามขั้นบันไดมาเป็นทุกครัวเรือนละ 9,000 บาททั่วประเทศ โดยกลุ่มแรก สถานการณ์ตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม - 2 พฤศจิกายน ปีนี้ อาทิ จังหวัดชัยนาท บุรีรัมย์ สมุทรสาคร และสิงห์บุรี (เป็นพื้นที่ที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่ม 57 จังหวัดแรก) ส่วนกลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มจังหวัดภาคใต้ที่เกิดสถานการณ์ตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน 2567 รวม 12 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกระบี่ ชุมพร นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี ประจวบคีรีขันธ์ ตรัง พัทลุง ยะลา สงขลา สตูล และสุราษฎร์ธานี รวมทั้ง 2 กลุ่ม จำนวน 667,257 ครัวเรือน (ข้อมูลวันที่ 2 ธ.ค. 67 )
นายจิรายุ กล่าวต่อไปว่า รัฐบาลโดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ได้รายงานต่อนายกรัฐมนตรีเมื่อวานนี้ว่า ได้สั่งการให้พื้นที่ประสบภัยทั้ง 16 จังหวัด ดำเนินการสำรวจ จัดทำบัญชี และตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล ซึ่งจังหวัดสามารถดำเนินการคู่ขนานได้ทันทีโดยไม่ต้องรอน้ำลด และทยอยส่งข้อมูลเข้ามายังกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยโดยเร็ว ตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด เพื่อทำการตรวจสอบข้อมูลและความถูกต้องอีกครั้งก่อนส่งไปยังธนาคารออมสินเพื่อทำการโอนเงินให้กับประชาชนต่อไป โดยคาดว่าสามารถทยอยจ่ายเงินช่วยเหลือฯ ตั้งเป้าให้จบทุกครัวเรือน ภายในวันที่ 16 มกราคม 2568
สำหรับขั้นตอนการดำเนินการหลังจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้ ขอให้ผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัดชี้แจงทำความเข้าใจแนวทางการดำเนินการให้ความช่วยเหลือกับอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง พร้อมให้อำเภอตั้งคณะทำงานตรวจสอบรายชื่อผู้ประสบภัยในพื้นที่ที่มีสิทธิ์ได้รับการช่วยเหลือตามมติคณะรัฐมนตรี และดำเนินการลงทะเบียนพร้อมเพย์(PromptPay) ผูกบัญชีธนาคารกับตัวเลขประจำตัวประชาชน และส่งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตรวจสอบและรับรองข้อมูลเพื่อเสนอกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอ (ก.ช.ภ.อ.) และคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัด (ก.ช.ภ.จ.) ให้ความเห็นชอบก่อนส่งข้อมูลมายังกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยรวบรวมและนำส่งข้อมูลให้กับธนาคารออมสินโอนเงินให้กับผู้ประสบภัยต่อไป
“เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนเป็นไปอย่างรวดเร็ว กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้เปิดช่องทางการยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือไว้ 2 ช่องทาง ทั้งรูปแบบ Onsite และรูปแบบ Online สำหรับการยื่นแบบ Onsite ผู้ประสบอุทกภัยสามารถยื่นคำร้องฯ ด้วยตนเองที่อำเภอ เทศบาล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ประสบภัย ส่วนการยื่นแบบ Online ดำเนินการยื่นคำร้องและติดตามสถานะผ่านเว็บไซต์ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจัดทำขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน แต่ในการยื่นผ่านช่องทาง Online นี้ ขอเน้นย้ำให้ประชาชนตรวจสอบเอกสารให้ครบถ้วนก่อนจะยื่นคำร้อง เนื่องจากจะไม่สามารถเข้ามาแก้ไขข้อมูลได้หลังจากยื่นคำร้องผ่านระบบ Online เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยขอให้ประชาชนผู้ยื่นคำร้องเตรียมเอกสารหลักฐานในการขอรับเงินช่วยเหลือ ได้แก่ บัตรประจำตัวประชาชน พร้อมด้วยหลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่ สำเนาทะเบียนบ้าน (กรณีเป็นบ้านพักอาศัยที่มีทะเบียนบ้าน) สัญญาเช่าบ้านหรือหนังสือรับรองการเช่าจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (กรณีเป็นบ้านเช่า จากส่วนงานราชการเช่นที่ราชพัสดุ ที่การรถไฟ ) และหากเป็นกรณีอื่น อาทิ บ้านพักอาศัยประจำแต่ไม่มีทะเบียนบ้าน จะต้องให้กำนันหรือผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารท้องถิ่น ร่วมกับผู้นำชุมชน ตรวจสอบข้อเท็จจริงและลงนามร่วมกันอย่างน้อย 2 ใน 3 นอกจากนี้ ไม่รวมถึงบ้านพักที่หน่วยราชการจัดให้”
ทั้งนี้ ผู้ประสบอุทกภัยสามารถยื่นคำร้อง ณ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ส่วนการยื่นคำร้องฯ ผ่านระบบ Online ระบบจะเปิดให้ลงทะเบียนทางเว็บไซต์ https://flood67.disaster.go.th ได้ตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2567 เป็นต้นไป ขอเน้นย้ำประชาชนผู้ประสบภัยตรวจสอบข้อมูลบัญชีหากยังไม่ได้ลงทะเบียนพร้อมเพย์ (PromptPay) แบบผูกบัญชีธนาคารกับเลขบัตรประจำตัวประชาชน ขอให้ไปติดต่อธนาคารดำเนินการลงทะเบียนพร้อมเพย์ได้ทุกธนาคารเพื่อให้สามารถรับเงินช่วยเหลือได้โดยเร็วที่สุด