“อนุทิน”ตอกย้ำจุดยืน “ภูมิใจไทย” ไม่ร่วมด้วยกฎหมายสกัดปฏิวัติ ชี้นักการเมืองอย่าสร้างเงื่อนไข นักการเมืองก็คือนักการเมืองต้องทำหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ด้าน“ชูศักดิ์” เปิดงานวันต่อต้านคอร์รัปชั่นสากล ยันรัฐบาลให้ความสำคัญปราบโกง หวังสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน พร้อมผลักดักกม.สกัดซื้อตำแหน่ง-เรียกรับสินบน ป้องกระบวนการยุติธรรมถูกแทรกแซง
ที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.67 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย กล่าวถึงกรณีพรรคเพื่อไทยเสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม โดยมีข้อสังเกตเรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย ผบ.เหล่าทัพ และการสกัดการทำปฏิวัติ ว่า เรื่องอื่นตนยังไม่ได้ดู แต่ถ้าเป็นเรื่องการสกัดการปฏิวัติ ตนไม่เห็นด้วย เพราะถ้าจะสกัดการปฏิวัติ ไม่เกี่ยวข้องกับนักการเมือง เพราะนักการเมืองก็คือนักการเมืองต้องทำหน้าที่ให้ดี ทำด้วยความซื่อสัตย์สุจริต รักษาความสงบ และอย่าให้แตกความสามัคคี
"เงื่อนไขการปฏิวัติมีอยู่แค่ไม่กี่เงื่อนไข ส่วนใหญ่ก็มาจากนักการเมืองทั้งนั้น เราก็อย่าไปเข้าเงื่อนไขเหล่านั้น มันก็จะปฏิวัติไม่ได้ ต่อให้ออกกฎหมายอะไรมา ถ้ามีการปฏิวัติ สิ่งแรกที่ทำก็คือการฉีกรัฐธรรมนูญ ดังนั้นตรงนี้ที่จะทำก็อาจเป็นแค่สัญลักษณ์ บังคับใช้อะไรไม่ได้ดีที่สุดก็ต้องทำตัวให้ดี ต้องซื่อสัตย์สุจริต อย่าขี้โกง อย่าไปยุแยงให้ใครแตกความสามัคคี อย่าไปลงถนนจนทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยทุกอย่างก็มีอยู่แค่นี้"
นายอนุทิน กล่าวว่า ส่วนถ้าพรรคเพื่อไทยจับมือกับพรรคประชาชนผ่านร่างฯนี้ในสภานั้น นายอนุทิน กล่าวว่า ถ้าในประเด็นนี้ พรรคภูมิใจไทยไม่เอาด้วยอยู่แล้ว ส่วนจะผ่านหรือไม่ก็เป็นไปตามกระบวนการ ตามระบอบประชาธิปไตย ตามเสียงส่วนมาก เมื่อถามว่า ร่างฯจะไปตกในชั้นวุฒิสภาหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่รู้ แต่ในส่วนของพรรคภูมิใจไทยประเด็นตรงนี้ไม่เห็นด้วย เพราะมองว่าไม่มีความจำเป็น ซึ่งตนอยู่กับการเมืองมานาน เห็นตั้งแต่สมัยปฏิวัติ 23 กุมภา 2534 สมัย พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัน เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเงื่อนไขการปฏิวัติก็สามารถหลีกเลี่ยงได้ทั้งนั้น ถ้าไม่เข้าใกล้เงื่อนไขนั้น ก็ปฏิวัติไม่ได้
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีที่ นายประยุทธ์ ศิริพาณิชย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และคณะ เสนอให้การรับฟังความเห็นเขียน ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่…) พ.ศ. … โดยให้อำนาจคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีหน้าที่และอำนาจพิจารณาแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพล เพื่อสกัดการรัฐประหาร ว่า ตนในฐานะประธานคณะกรรมการกลั่นกรองกอง ต้องรอดูเหตุและผลในที่ประชุม ซึ่งขณะนี้เข้าสู่ชั้นที่ประชุมสภากลาโหมแล้ว โดยจะมีข้อคิดเห็นและข้อแนะนำปรับปรุง ซึ่งต้องดูเรื่องหลักการและความเป็นจริงว่าจะจัดการอย่างไร เพราะการเปลี่ยนแปลงที่ดีทุกคนปรารถนาอยู่แล้ว แต่จะเปลี่ยนให้ได้ถึงขนาดไหนอย่างไร ก็ต้องดูข้อเท็จจริงและดูความเห็นจากทุกฝ่ายฝ่าย
ผู้สื่อข่าวถามว่า เห็นด้วยกับหลักการที่นายประยุทธ์เสนอหรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า ตนเป็นประธานที่ประชุมจึงไม่อยากพูดคุยไปก่อน ขอฟังทุกอย่างก่อน เมื่อถามว่า แนวคิดดังกล่าวอาจจะเป็นการลดอำนาจของทหาร นายภูมิธรรม กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่รู้เลยว่าจะออกมาอย่างไร อย่าพึ่งไปคิดว่าลดหรือไม่ เพราะตนไม่มีเจตนาลดอำนาจทหารอยู่แล้ว เพราะเค้าก็มีกฎระเบียบกฎหมายของเขาในการควบคุมดูแลเหมือนพลเรือน ซึ่งหากมีปัญหาก็ต้องแก้ไข เมื่อถามย้ำว่า แนวคิดการให้อำนาจ ครม.ตั้งนายพลดลแล้วแล้วหรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า อย่าไปคิดแทนที่กฎหมายมี
วันเดียวกัน ที่ศูนย์การประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มอบหมาย นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (ประเทศไทย) “FIGHT AGAINST CORRUPTION สู้ให้สุด หยุดการโกง” โดย นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ตนรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้เป็นประธานเปิดงานครั้งนี้ เพราะถือเป็นวันสำคัญในการสร้างการตระหนักรู้ถึงภัยร้ายแรงของการทุจริต และประกาศเจตนารมย์ร่วมกันเพื่อต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างจริงจัง ซึ่งปัญหาการทุจริตในประเทศไทย เป็นปัญหาเรื้อรังสั่งสมมานาน ส่งผลเสียหายทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง นำไปสู่ปัญหาการขาดความเชื่อมั่นของนานาชาติ
ทั้งนี้ จากการศึกษาขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติในปีที่ผ่านมา สะท้อนว่าจุดอ่อนที่สำคัญของประเทศไทย คือการซื้อขายตำแหน่ง การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูง การทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง การเรียกรับสินบน การใช้ช่องโหว่ทางกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อกัน รวมถึงความไม่โปร่งใสในงบประมาณ ส่งผลให้ดัชนีการรับรู้การทุจริตของประเทศไทย อยู่ในระดับคงที่ 35-36 คะแนน จาก 100 คะแนน แสดงให้เห็นถึงปัญหาการทุจริต ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง
รัฐบาลนี้ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 12 ก.ย.67 โดยประกาศว่าจะยึดมั่นในหลักนิติธรรม สร้างความโปร่งใส และความชอบธรรมในการบริหารราชการแผ่นดิน ด้วยการฟื้นฟูหลักนิติธรรมที่เข้มแข็ง และมีประสิทธิภาพ ซึ่งรัฐบาลมีความมุ่งมั่นทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และยึดประโยชน์ของประชาชนทุกภาคส่วนเป็นที่ตั้ง และผลักดันการแก้ไขปัญหาการทุจริตอย่างต่อเนื่อง โดยแก้ปัญหาที่ระบบ และบูรณาการกับทุกภาคส่วน
นายชูศักดิ์ กล่าวอีกว่า รัฐบาลได้ผลักดันให้แนวทางการแก้ไขการทุจริต บรรจุเป็นแผนแม่บทในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และขับเคลื่อนพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อำนวยความสะดวกในการให้บริการประชาชน เพื่อสร้างความโปร่งใสในการอนุมัติและการอนุญาต ลดปัญหาการทุจริตและการเรียกรับสินบน ลดระยะเวลาในการติดต่อขอรับบริการจากหน่วยงานภาครัฐ รวมถึงให้มีการเปิดเผยข้อมูลเข้าสู่ระบบดิจิทัล
นอกจากนี้ รัฐบาลยังเสริมสร้างให้กระบวนการยุติธรรมมีความเป็นอิสระ ปราศจากการแทรกแซง สร้างความน่าเชื่อถือ และความโปร่งใสในศาลยุติธรรม รวมทั้งส่งเสริมระบบคุณธรรม ในการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่กระบวนการยุติธรรม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการดำเนินคดีทุจริต ที่มีผลกระทบในวงกว้าง
“การปราบทุจริตจะสำเร็จได้ ต้องอาศัยความร่วมมืออย่างจริงจังของภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงภาคประขาชน และการสื่อสารอย่างจริงจัง เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตของประเทศไทย ซึ่งจะส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติ เกิดความเชื่อมั่นและตัดสินใจได้ง่ายขึ้น และจะส่งผลให้การจ้างงานเติบโตได้มากขึ้น”