"ครม." แต่งตั้ง "2 กก.ภาครัฐ" ครบแล้ว "ปลัดฯแรงงาน" นัดถก "บอร์ดไตรภาคี" 12 ธ.ค.นี้ เคาะค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท มั่นใจครบองค์ประชุมทั้ง 3 ฝ่าย ขณะที่ “กกร.” ไม่เห็นด้วย "ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ" มองไม่สอดคล้องสภาพเศรษฐกิจ-สังคม หวั่นกระทบเป็นลูกโซ่การจ้างงานทุกภาคส่วน พร้อมเสนอแนะ 7 แนวทางที่เหมาะสม
เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.67 นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ชุดที่ 22 หรือบอร์ดไตรภาคี เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีการประชุมบอร์ดไตรภาคี เพื่อพิจารณาการปรับค่าจ้าง 400 บาททั่วประเทศ ในบางสาขาอาชีพและบางกิจการ ตามนโยบายรัฐบาล ว่า ขณะนี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแต่งตั้งรายชื่อ 2 กรรมการฝ่ายรัฐเรียบร้อยแล้ว เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง คือ นายอัครุตม์ สนธยานนท์ รองปลัดกระทรวงการคลัง ผู้แทนจากกระทรวงการคลัง และเรือเอก สาโรจน์ คมคาย อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ผู้แทนจากกระทรวงแรงงาน จึงทำให้บอร์ดไตรภาคีครบสมบูรณ์ทั้ง 3 ฝ่าย
"ขณะนี้ส่งหนังสือเรียนเชิญบอร์ดไตรภาคีแต่ละฝ่ายแล้วว่าจะประชุมเพื่อพิจารณาการปรับค่าจ้าง 400 บาท ในช่วงเช้าของวันที่ 12 ธ.ค.67 เพื่อขอคำแนะนำและหารือร่วมกันว่าจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งการประชุมครั้งนี้ถือเป็นมติของบอร์ดไตรภาคี ไม่ใช่เพียงแค่ปลัดกระทรวงที่ทำหน้าที่เป็นประธาน" นายบุญสงค์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีความมั่นใจหรือไม่ว่าการประชุมครั้งนี้จะครบองค์ประชุมทั้ง 3 ฝ่าย นายบุญสงค์ กล่าวว่า ครบ ครบทั้งองค์ประชุม 3 ฝ่าย ประกอบด้วย ฝ่ายรัฐ ฝ่ายลูกจ้าง และฝ่ายนายจ้าง จำนวนทั้งหมด 15 คน รวมถึงที่ปรึกษาฯด้วย
วันเดียวกัน คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เห็นด้วยกับการยกระดับรายได้ของแรงงานไทยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่มีความกังวลเป็นอย่างยิ่ง ต่อนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่เศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทยมีความผันผวน และเปราะบางจากภูมิรัฐศาสตร์ ที่ส่งผลต่อประเทศและภาคธุรกิจไทยให้เผชิญกับความท้าทายรอบด้าน
ดังนั้น กกร. จึงขอเสนอแนะแนวทางการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงบริบททางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ รวมถึงผลกระทบต่อภาคส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะสถานการณ์สภาพเศรษฐกิจต่อนโยบายค่าจ้างขั้นต่า 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ กกร. เห็นว่า การกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศนั้น ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของเศรษฐกิจและสังคมที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่จังหวัด ซึ่งจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อการจ้างงานของทุกภาคส่วนที่ใช้แรงงาน ทั้งทางตรง และทางอ้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ประกอบการภาคเกษตร ภาคบริการ และภาคธุรกิจในทุกระดับ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจไทย
อีกทั้งจากผลการพิจารณาของคณะอนุกรรมการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง และภาครัฐ มากกว่า 90% ไม่เห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ และ 30% มีมติไม่ขอปรับขึ้นค่าจ้าง โดยทั้งนี้ คณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด มีมติเห็นชอบให้ปรับขึ้นค่าจ้างตามตัวแปรปัจจัยทางเศรษฐกิจ และความสามารถของแต่ละจังหวัด ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการที่แท้จริงของแต่ละพื้นที่
ดังนั้น หากคณะกรรมการค่าจ้างไตรภาคีกลาง จะพิจารณาในทิศทางที่แตกต่าง และไม่สอดคล้องตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการฯ ควรมีหลักการสูตรคำนวณ และเหตุผลที่ชัดเจนโปร่งใส ที่สามารถชี้แจงต่อคณะอนุกรรมการไตรภาคีจังหวัด และผู้ประกอบการ/นายจ้าง ผู้มีส่วนได้เสียจำนวนมากได้
ทั้งนี้ จุดยืนและข้อเสนอแนะ ต่อนโยบายการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศไทย กกร. ขอแสดงจุดยืน และข้อเสนอแนะต่อนโยบายการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศไทย โดยให้รัฐบาลพิจารณาแนวทางการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ดังนี้ 1. กกร. ไม่เห็นด้วยกับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ โดยการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ต้องคำนึงถึงมติของคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด และการปรับที่ไม่คำนึงถึงตัวเลขที่เป็นปัจจัยทางเศรษฐกิจตามที่กฎหมายกำหนดนั้น ย่อมไม่สอดคล้องกับหลักนิติรัฐ นิติธรรม (The Rule of Law) ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ประกอบการที่ใช้แรงงานทุกประเภท หยุดกิจการ ลดขนาดกิจการ หรือปรับธุรกิจออกนอกระบบภาษี จนนำไปสู่การปลดลูกจ้างและเลิกจ้างพนักงานเพื่อลดต้นทุนให้อยู่รอด เป็นต้น
2. กกร. มีความคิดเห็นว่า การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำนั้น ควรใช้กลไกคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) ซึ่งควรจะต้องสอดคล้องกับข้อเสนอของคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด ซึ่งได้ศึกษาและพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับอยู่ ประกอบกับข้อเท็จจริงอื่น โดยคำนึงถึงดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ ต้นทุนการผลิต ราคาของสินค้าและบริการ ผลิตภาพแรงงาน ผลิตภัณฑ์มวลรวม และสภาพทางเศรษฐกิจ และสังคม ตลอดจนความสามารถของประเภทกิจการ/อุตสาหกรรมของแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะทำให้เกิดความสมดุลและเป็นธรรมโดยทั่วกัน
3. กกร. มีความคิดเห็นว่า การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ควรจะปรับเมื่อมีเหตุจำเป็น และปัจจัยทางเศรษฐกิจบ่งชี้ แต่ไม่ควรเกินปีละ 1 ครั้งเท่านั้น และจะต้องดำเนินการตามกระบวนการ/ขั้นตอนของกฎหมายอย่างเคร่งครัด 4. หากรัฐบาลมีนโยบายต้องการที่จะพิจารณาปรับค่าจ้างแบบจำเพาะนั้น ก็ควรมีการศึกษาความพร้อมของแต่ละประเภทกิจการ หรืออุตสาหกรรม ไม่ก่อให้เกิดปัญหาในห่วงโซ่อุปทาน โดยคำนึงถึงความแตกต่างของผู้ประกอบการ ประเภทกิจการในแต่ละภูมิภาค ตลอดจนข้อจำกัด ข้อได้เปรียบเสียเปรียบ และศักยภาพในการแข่งขันของแต่ละประเภทกิจการ และอุตสาหกรรม เป็นต้น
5. กกร. สนับสนุนการจ่ายอัตราค่าจ้างตามทักษะฝีมือแรงงาน (Pay by Skills) ตามประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน และให้ความสำคัญกับการ UP-Skill & Re-Skill , Multi-Skill และ New Skill เพื่อสร้างแรงงานที่มีทักษะฝีมือให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน และเพิ่มผลิตภาพแรงงาน (Labor Productivity) สามารถลดต้นทุน และสร้างความสามารถในการแข่งขัน
6. กกร. สนับสนุนให้เร่งรัดการประกาศอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ ให้ครบตามมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ซึ่ง 280 สาขา จากปัจจุบันที่มีการประกาศไว้เพียง 129 สาขา พร้อมทั้งให้มีการขยายสาขาอาชีพมาตรฐานฝีมือ รวมทั้งอัตราค่าจ้างตามาตรฐานฝีมือให้ครอบคลุมมากขึ้นสำหรับแรงงานไทย 7. กกร. ขอให้รัฐบาลมีมาตรการดูแลค่าครองชีพ เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ตลอดจนเร่งรัดมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการ โดยการส่งเสริมมาตรการทางภาษี มาตรการลดเงินสมทบประกันสังคม มาตรการส่งเสริมการปรับปรุงเครื่องมือและเครื่องจักร มาตรการส่งเสริมและพัฒนาฝีมือแรงงาน ฯลฯ เพื่อลดผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย เป็นต้น
"คณะกรรมการ กกร. เชื่อมั่นว่า การดำเนินนโยบายปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่เหมาะสม และเป็นธรรม ภายใต้กรอบกฎหมาย และตามมติของคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด ซึ่งเป็นเสียงสะท้อนข้อเท็จจริงจากพื้นที่จังหวัด จะนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน และสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับประชาชนทุกภาคส่วน" กกร. กล่าว