กลายเป็นกลุ่มกบฏที่มาแรงแซงโค้งช่วงท้ายปี แถมยังเป็นการเร่งแซงที่มาแรง อย่างชนิดที่เกินกว่าใครๆ หลายคนจะคาดคิด
สำหรับ กลุ่มกบฏที่มีชื่อว่า “ฮายัต ตาห์รีร์ อัล-ชาม” หรือที่เรียกกันย่อๆ ว่า กลุ่ม “เอชทีเอส” ที่สมาชิกเป็นมุสลิมนิกายซุนหนี่ ผู้สามารถโค่นล้มรัฐบาลซีเรียของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด ได้เป็นผลสำเร็จ
ภายหลังจากกองกำลังติดอาวุธกลุ่ม “ฮายัต ตาห์รีร์ อัล-ชาม” ที่ว่า กรีธาพลเข้ากรุงดามัสกัส เมืองหลวงของซีเรีย หลังจากโจมตีทหารจากกองทัพรัฐบาลซีเรีย จนแตกกระเจิง ก่อนเข้าเมืองหลวงของซีเรีย ได้เป็นผลสำเร็จ เมื่อช่วงต้นสัปดาห์นี้
ก็ต้องถือว่า เป็นเหตุการณ์ที่ช็อกโลกกันอยู่พอสมควร เพราะที่ผ่านมา ประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด ผู้นำซีเรีย สามารถยืนยงคงกระพันมาได้ ไม่ว่าจะเผชิญหน้ากับภัยสงครามที่หนักหนาสาหัสสากรรจ์แค่ไหน แต่เขาก็ยังรอดมาได้
ไม่ว่าจะเป็น “สงครามกลางเมือง” ในช่วงปรากฏการณ์ “อาหรับสปริง” ที่เขย่าเสถียรภาพและความมั่นคงในหลายประเทศของภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ เมื่อปี 2011 (พ.ศ. 2554)
โดยสงครามกลางเมืองที่ซีเรียนั้น รัฐบาลประธานาธิบดีอัสซาด ต้องต่อสู้กับกองกำลังติดอาวุธของกลุ่มกบฏต่างๆ เช่น กองกำลังซีเรียเสรี หรือเอสเอฟเอ เป็นต้น
ทว่า รัฐบาลประธานาธิบดีอัสซาด ก็ผ่านเหตุการณ์อันเลวร้ายมาได้
แม้กระทั่งในการสู้รบกับขบวนการก่อการร้ายชื่อดังระดับแถวหน้าของโลก อย่าง “กลุ่มรัฐอิสลาม” หรือที่หลายคนเรียกว่า “ไอเอส” บ้าง “ไอซิส” บ้าง หรือ “ไอซิล” บ้าง ซึ่งมีศูนย์กลางยู่ในเมืองรักกา ของซีเรีย และมีเขตอิทธิพลครอบคลุมบริเวณภาคตะวันออกของซีเรีย ลากเลยมาถึงตอนเหนือของอิรัก ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2014 (พ.ศ. 2557) ทั้งนี้ สมาชิกของกลุ่มไอเอส ได้ก่อวินาศกรรม ปฏิบัติการก่อการร้าย ไปในพื้นที่ของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคของโลกเรา นอกเหนือจากการสู้รบกับกองทัพรัฐบาลซีเรียแล้ว แต่ประธานาธิบดีอัสซาด ก็รอดจากปากเหยี่ยวปากกามาได้
เหตุปัจจัยที่ทำให้ประธานาธิบดีอัสซาด ผ่านพ้นการถูกโค่นล้มทั้งจากกลุ่มกบฏและกลุ่มก่อการร้ายมาได้ ก็มีหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นประธานาธิบดีอัสซาดได้ชาติพันธมิตรอย่างรัสเซียเข้ามาช่วยหลือในการต่อต้านทั่งจากกลุ่มกบฏและกลุ่มก่อการร้ายอย่างมีประสิทธิภาพ กอปรกับพันธมิตรของชาติมหาอำนาจตะวันตกที่นำโดยสหรัฐฯ ดำเนินการปราบปราบกลุ่มก่อการร้าย โดยใช้กองกำลังติดอาวุธของชนกลุ่มน้อยชาวเคิร์ดที่อยู่ทางตอนเหนือของซีเรีย คาบเกี่ยวกับพรมแดนของตุรเคีย เป็นเครื่องมือต่อกร ในลักษณะสงครามตัวแทน จนทางกลุ่มก่อการร้ายไอเอส ต้องถูกเผด็จศึกลงไป ประมาณช่วงปี 2019 (พ.ศ. 2562) ก็ส่งผลให้นายอัสซาด ยืนหยัดในในฐานะประธานาธิบดีที่ปกครองซีเรียต่อไปได้
กระทั่งเมื่อช่วงเช้าของวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีอัสซาด ก็ไม่สามารถนั่งบัลลังก์ในฐานะผู้นำของซีเรียต่อไปได้ เมื่อปรากฏว่า กองทัพรัฐบาลของเขาในกรุงดามัสกัส เมืองหลวงของประเทศ ต้องแตกกระเจิงจากการถูกโจมตีโดยกองกำลังติดอาวุธของกลุ่มกบฏที่มีชื่อว่า “ฮายัต ตาห์รีร์ อัล-ชาม” ทำให้กลุ่มกบฏกลุ่มนี้ เข้ากรุงดามัสกัสได้เป็นผลสำเร็จ โดยสามารถเข้ามาถึงใจกลางเมืองของซีเรียกันเลยทีเดียว
ขณะที่ ประธานาธิบดีอัสซาด ต้องลอบขึ้นเครื่องบิน หลบหนีออกนอกประเทศ โดยไม่มีการเปิดเผยจุดหมายปลายทางของประธานาธิบดีรายนี้ว่า ลี้ภัยอยู่ ณ ประเทศแห่งใด
ส่งผลให้ปิดฉากระบอบตระกูลอัสซาดที่ปกครองซีเรียมาอย่างยาวนานกว่ากึ่งศตวรรษ หรือกว่า 50 ปี แบบผูกขาดอยู่กับตระกูลอัสซาด นับตั้งแต่รุ่นบิดาของเขา คือ “นายฮาเฟซ อัล-อัสซาด” ที่ปกครองซีเรียในฐานะประธานาธิบดีคนที่ 18 ของซีเรีย ระหว่างช่วงปี 1971 – 2000 (พ.ศ. 2514 – 2543) และสืบทอดต่ออำนาจมายัง “นายบาชาร์ อัล-อัสซาด” บุตรชาย ตั้งแต่ปี 2000 – 2024 (พ.ศ. 2543 – 2567) เบ็ดเสร็จรวมแล้ว ก็ 53 ปีด้วยกัน ที่ประชาชนชาวซีเรีย ต้องอยู่ภายใต้การปกครองของพ่อลูกตระกูลอัสซาดคู่นี้
ทั้งนี้ เมื่อกล่าวถึงกลุ่มกบฏ “ฮายัต ตาห์รีร์ อัล-ชาม” หรือ “เอชทีเอส” แล้ว เริ่มส่งสัญญาณเขย่าเสถียรภาพและความมั่นคงของรัฐบาลประธานาธิบดีอัสซาดมาแตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาแล้ว ด้วยการเคลื่อนพลจากเมืองอิดลิบ เมืองที่เป็นฐานที่มั่นของพวกเขาทางตอนเหนือของซีเรียก บุกโจมตีเมืองอเลปโป และยึดเมืองอเลปโปได้สำเร็จ เมื่อช่วงสิ้นเดือนพฤศจิกายนที่เพิ่งผ่านพ้นมา สร้างความตกตะลึงพรึงเพริดให้แก่รัฐบาลซีเรีย ตลอดจนสร้างความประหลาดใจให้แก่ประชาคมโลกมิใช่น้อย
หลังจากนั้น กลุ่มกบฏ “ฮายัต ตาห์รีร์ อัล-ชาม” เคลื่อนพล เดินหน้ายึดเมืองอื่นๆ ที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเมืองฮามา และเมืองฮอมส์
ในระหว่างที่เคลื่อนพลนั้น ทางกลุ่มกบฏ “ฮายัต ตาห์รีร์ อัล-ชาม” ก็เผชิญหน้ากับการต่อต้านจากรัฐบาลซีเรีย ที่ได้รับความช่วยเหลือจากรัสเซีย มาปฏิบัติการทิ้งระเบิดโจมตีทางอากาศ แต่ก็ไม่สามารถหยุดยั้งกองกำลังติดอาวุธของกลุ่มกบฏฯ ได้ ซึ่งมีรายงานว่า ทั้งรัสเซีย ก็ยังไม่สามารถช่วยเหลือรัฐบาลซีเรียของประธานาธิบดีอัสซาดได้อย่างเต็มสูบ เพราะรัสเซียก็ติดพันการศึกในสงครามยูเครน เช่นเดียวกับอิหร่าน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งพันธมิตรสำคัญของประธานาธิบดีอัสซาด ในฐานะที่เป็นมุสลิมนิกายชีอะห์ด้วยกัน ก็ไม่สามารถช่วยเหลืออย่าเต็มกำลังได้เช่นกัน เพราะยังมีภาระการสนับสนุนต่อกลุ่มฮามาส กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ และกลุ่มฮูตี ในการสู้รบกับอิสราเอล
กระทั่ง กลุ่มกบฏ “ฮายัต ตาห์รีร์ อัล-ชาม” ยึดกรุงดามัสกัส พร้อมกับโค่นล้มประธานาธิบดีอัสซาดได้ดังกล่าว
อย่างไรก็ดี แม้กลุ่มกบฏ “ฮายัต ตาห์รีร์ อัล-ชาม” จะยึดกรุงดามัสกัส พร้อมกับฉุดนายอัสซาดลงจากเก้าอี้ประธานาธิบดีซีเรียได้แล้ว แต่บรรดานักวิเคราะห์ ก็แสดงทรรศนะ ไฟสงครามกลางเมืองซีเรีย ก็ยังหาได้มอดลงไปไม่ โดยคาดว่า จะยังมีการสู้รบระหว่างกลุ่มกบฏต่างๆ ที่ก็สามารถยึดพื้นที่เมืองอื่นๆ ได้เช่นกัน อย่างในพื้นที่ภูมิภาคเดรา ทางตอนใต้ของซีเรีย ก็ถูกกลุ่มกบฏอีกกลุ่มหนึ่งเข้ายึดครองไว้ได้ แถมยังอิทธิพลมิใช่น้อย เพราะพื้นที่ดังกล่าว ถือเป็นจุดกำเนิดการลุกฮือต่อต้านประธานาธิบดีอัสซาดมาก่อน เมื่อปี 2011 (พ.ศ.2554) นอกจากนี้ ยังมีขุนศึกนายกองของกองทัพรัฐบาลที่แตกทัพไป รวมกองกำลังกันใหม่มาต่อสู้กับกลุ่มกบฏ ไม่ยอมถูกปกครองที่เป็นพวกต่างนิกายกันอย่างง่ายๆ ไม่นับที่แต่ละฝ่ายยังคงมีชาติพี่เบิ้มหนุนหลังอยู่