เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2567 "สวนดุสิตโพล" มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ เรื่อง "คนไทยกับของขวัญปีใหม่จากรัฐบาล" กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 1,246 คน (สำรวจทางออนไลน์และภาคสนาม) ระหว่างวันที่ 3-6 ธันวาคม 2567 สรุปผลได้ ดังนี้

1. ประชาชนมีแผนเดินทางท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลปีใหม่หรือไม่

อันดับ 1 มีแผนเดินทางท่องเที่ยว 56.02%

ในประเทศ 90.26% ต่างประเทศ 9.74%

อันดับ 2 ไม่มี 43.98%

2. จังหวัดที่ประชาชนอยากไปเที่ยวมากที่สุด

อันดับ 1 เชียงใหม่ 56.83%

อันดับ 2 เชียงราย 49.05%

อันดับ 3 กรุงเทพมหานคร 38.10%

อันดับ 4 กาญจนบุรี 37.30%

อันดับ 5 กระบี่ 25.71%

3. ประชาชนคาดการณ์ว่าจะใช้จ่ายในช่วงปีใหม่ เฉลี่ยประมาณ 17,317.10 บาท/ต่อคน

อันดับ 1 ไม่เกิน 5,000 บาท 46.94%

อันดับ 2 5,001-10,000 บาท 23.89%

อันดับ 3 10,001-20,000 บาท 19.53%

อันดับ 4 มากกว่า 20,001 บาทขึ้นไป 9.64%

4. จากที่รัฐบาลประกาศจะมอบของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน ประชาชนอยากได้ของขวัญใดจากรัฐบาล

อันดับ 1 มาตรการแจกเงินกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวช่วงปีใหม่ 59.95%

อันดับ 2 ช่วยสนับสนุนค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าพลังงานต่าง ๆ ช่วงปีใหม่ 58.03%

อันดับ 3 มาตรการลดค่าครองชีพช่วยประชาชนช่วงปีใหม่ 53.17%

5. ประชาชนคิดอย่างไรกับ "การมอบของขวัญให้ประชาชนช่วงปีใหม่จากรัฐบาล"

อันดับ 1 ควรเป็นหน้าที่ที่จะต้องดำเนินงานของรัฐบาลอยู่แล้ว 60.76%

อันดับ 2 ควรให้ของขวัญที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน 51.95%

อันดับ 3 อย่างไรก็ได้ หากประชาชนได้ประโยชน์ 48.81%

6. ปัญหาเร่งด่วนที่ประชาชนอยากให้รัฐบาลแก้ไขก่อนปีใหม่

อันดับ 1 ปัญหาค่าครองชีพ 66.48%

อันดับ 2 ปัญหายาเสพติด 57.51%

อันดับ 3 ปัญหาน้ำท่วม/ภัยแล้ง 56.46%

นางสาวพรพรรณ บัวทอง ประธานสวนดุสิตโพล ระบุว่า จากผลสำรวจชี้ให้เห็นว่าของขวัญปีใหม่ที่ประชาชนคาดหวังจากรัฐบาล คือ มาตรการแจกเงิน สะท้อนภาระค่าครองชีพที่เป็นปัญหาหลักในปัจจุบัน ความต้องการของประชาชนไม่ได้เป็นเพียง "ความหวัง" แต่เป็น "สัญญาณ" ที่สะท้อนถึงปัญหาโครงสร้างทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตในประเทศ รัฐบาลจึงควรใช้โอกาสช่วงปีใหม่พัฒนานโยบายเศรษฐกิจที่มีผลยั่งยืน เพื่อไม่ให้ "ของขวัญ" กลายเป็นเรื่องพิเศษแต่กลับสะท้อนปัญหาพื้นฐานในสังคม

ผู้ช่วยศาสตราจารย์อัญชลี รัตนะ อาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐศาสตร์ โรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัย สวนดุสิต อธิบายว่า ในภาวะที่เศรษฐกิจกำลังตกต่ำทั่วโลก ประเทศไทยก็อยู่ในสถานการณ์ไม่ต่างกัน โดยเฉพาะช่วงครึ่งหลังปี 2567 บริษัทเอกชนหลายแห่งพยายามยื้อธุรกิจด้วยการปรับลดขนาดองค์กรและพนักงาน บางรายไปต่อไม่ไหวถึงขั้นปิดตัวลง ผลกระทบขยายวงกว้างรวมถึงครอบครัวของพนักงาน ส่งผลให้บรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยช่วงปลายปีของประชาชนไม่คึกคักอย่างที่คาดการณ์ไว้ สอดคล้องกับผลสำรวจเรื่องแผนเดินทางท่องเที่ยวในช่วงปีใหม่ของประชาชน ที่พบเพียงร้อยละ 56.02 โดยประชาชนต้องการมาตรการแจกเงินกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวช่วงปีใหม่ รองลงมาคือ การช่วยสนับสนุนค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าพลังงานต่างๆ ซึ่งเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ทั้งนี้เป็นเพราะต้นทุนค่าครองชีพสูงแต่เสถียรภาพและความมั่นคงทางรายได้ต่ำ และมองว่าของขวัญปีใหม่จากรัฐบาลควรเป็นหน้าที่ที่จะต้องดำเนินงานของรัฐบาลอยู่แล้วในแง่ที่จะทำให้ประชาชน "มีกิน มีใช้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี"