วันที่ 6 ธ.ค.67 ที่สนามกีฬา (ลานเอนกประสงค์) บ้านนากลางพัฒนา หมู่ 9 ต.นากลาง อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา นายชรินทร์ ภูมิทอง หัวหน้างานฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท สยามพาวเวอร์ นากลาง จำกัด และนายปรีชาวิทย์ รอดรัตน์ กรรมการผู้จัดการและผู้ชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อม บริษัท เอ็นไว เวิร์ค จำกัด จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นและทำความเข้าใจกับประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกระบวนการศึกษาและจัดทำรายงานประมวลหลักการปฏิบัติ (CoP Report) โครงการบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชนโดยการแปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้า ขนาด 9.9 เมกะวัตต์ ของบริษัท สยาม พาวเวอร์ นากลาง จำกัด พบชาวบ้านหมู่ 1 หมู่ 5 หมู่ 8 และหมู่ 9 ต.นากลาง อ.สูงเนิน กว่า 300 คน ในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทยอยเดินทางมาร่วมกิจกรรม ท่ามกลางบรรยากาศค่อนข้างตึงเครียด เนื่องจากมีกลุ่มชายฉกรรจ์สวมชุดดำกว่า 10 คน อ้างเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยคอยตรวจสอบกระเป๋า สัมภาระ ป้องกันความวุ่นวาย ได้สร้างความกดดัน หวาดระแวงและวิตกกังวลให้กับผู้ร่วมกิจกรรม
ขณะเดียวกันตัวแทนชาวบ้านได้ผลัดเปลี่ยนสอบถามข้อมูลโครงการ ทวงถามสิทธิ์ประโยชน์ แนวทางแก้ไขผลกระทบจากโครงการ ส่วนใหญ่ต่อต้านการดำเนินโครงการในพื้นที่ นอกจากนี้ ยังมีการติดป้ายประท้วงรอบสถานที่จัดประชุม ระบุข้อความ “นายกสมาคมสิ่งแวดล้อมทำผิดกฎหมาย ชาวบ้านไม่เอาสิ่งผิดกฎหมาย”
นายชรินทร์ หัวหน้างานฝ่ายพัฒนาธุรกิจ เปิดเผยว่า โครงการใช้เชื้อเพลิงซึ่งเป็นขยะมูลฝอยชุมชนปริมาณ 500 ตันต่อวัน ใช้เทคโนโลยีเตาเผาแบบตะกรับเคลื่อนที่ (Stoker Great Fired Incinerator) ออกแบบให้มีการหน่วงการ์ดร้อนให้อยู่ในเตาในช่วงที่อุณหภูมิสูงกว่า 850 องศาเซลเซียสไม่น้อยกว่า 2 วินาทีเพื่อให้เกิดการเผาไหม้ที่สมบูรณ์ ผลิตกระแสไฟฟ้า 9.9 เมกะวัตต์ เข้าสู่โครงข่ายของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) ประมาณ 8.0 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลืออีก 1.9 เมกะวัตต์ ใช้สำหรับกิจกรรมภายในโครงการฯ งบดำเนินการเบื้องต้น 2,000 ล้านบาท ประโยชน์คือแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยตกค้างสะสมที่ก่อให้เกิดมลพิษจากหลุมฝังกลบ ทั้งกลิ่นรบกวน แหล่งเพาะพันธุ์พาหะนำโรคต่างๆ น้ำชะขยะปนเปื้อนแหล่งน้ำผิวดินและน้ำใต้ดิน สามารถลดปัญหาจากขยะฝังกลบสะสมในพื้นที่ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากหลุมฝังกลบขยะมูลฝอย ส่งเสริมนโยบายของภาครัฐตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกของกระทรวงพลังงาน หากได้รับอนุญาตดำเนินการและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายใช้เวลาก่อสร้างและทดลองเดินระบบประมาณ 24 เดือน อย่างไรก็ตามการประชุมครั้งนี้นำข้อเสนอแนะ แนวทางการปรับปรุงโครงการ ทุกข้อกังวลจพนำไปปรับปรุงให้เป็นที่ยอมรับทุกฝ่าย ยืนยันงบลงทุนเป็นของบริษัท ฯ ทั้งหมด ภาครัฐไม่ต้องเสียเงินแต่อย่างใด
ด้านนายประสงค์ มีสวัสดิ์ นายก อบต.หนองตะไก้ อ.สูงเนิน กล่าวว่า ขอถามผู้บริหาร อบต.นากลาง ไม่ยอมมาร่วมแล้วหายไปไหน และ อบต.หนองตะไก้ มีพื้นที่ติดกันและได้รับผลกระทบจากโครงการพอๆกับ อบต.นากลาง แต่ทำไมไม่ได้รับเชิญ แม้นครั้งหน้าไม่เชิญก็มาจะร่วมอีก มองไปเห็นแต่คนแต่ชุดดำยืนอยู่ปะปน แปลงที่ดินในเอกสารก็ไม่ชัดเจน ตนจึงทนไม่ได้ที่เห็นพี่น้องประชาชนกินข้าวต้องมาคอยรับผลกระทบในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ขอชื่นชมผู้บริหาร อบต.นากลาง มีความสามารถของบ 2 พันล้านมาสร้างโรงขยะไฟฟ้าได้ อบต.หนองตะไก้ วิ่งของบพัฒนาได้ไม่เกิน 100 ล้านบาท ตนพร้อมขึ้นศาลหากฟ้องร้องและที่ผ่านมาก็ชนะทุกคดี
นางสมประสงค์ อายุ 52 ปี ชาวบ้านหมู่ 1 ต.นากลาง อ.สูงเนิน เปิดเผยว่า บรรยากาศความขัดแย้งนี้ไม่ใช่เกิดขึ้นครั้งแรก เมื่อช่วงปลายปี วันที่ 10 ธันวาคม 59 เกิดความแตกแยกทางความคิดของประชาชนในพื้นที่ ระยะเวลาล่วงเลยมากว่า 8 ปี นับตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการฯ ตนผ่านเวทีประชาคมหลายครั้งและข้อสงสัย กังวลใจกระบวนการถูกต้องชอบธรรมเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรวมกลุ่มรักษาผลประโยชน์ส่วนรวม กลับถูกแจ้งความดำเนินคดี พร้อมข่มขู่และสร้างความหวาดกลัวไม่ให้ลุกขึ้นต่อสู้
นายวิจิตร กิจวิรัตน์ รอง ผวจ.นครราชสีมา กล่าวว่า ได้เรียกผู้เกี่ยวข้องมาสอบถามเกี่ยวกับไทม์ไลน์ ซึ่งบริษัทเอกชนอ้างลงนามก่อนจะมีคำสั่งทางกฎหมาย ตนให้ข้อแนะนำภาครัฐไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเอกชน ควรรอให้กระบวนการยุติธรรมมีความชัดเจนก่อน