"หอการค้าไทย" ถกกรรมาธิการการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม วุฒิสภา ชูประเด็นเร่งด่วนสมุดปกขาวปลุกเศรษฐกิจไทยปี 68

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยละสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ได้ต้อนรับนายวิวรรธน์ ไกรพิสิทธิ์กุล ประธานคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม วุฒิสภาและคณะพร้อมทั้งหารือแลกเปลี่ยนความเห็นเชิงประเด็นปัญหาผลกระทบต่อผู้ประกอบการในแต่ละภาคธุรกิจ ตลอดจนข้อเสนอแนะการแก้ไขปัญหาเรื่องต่างๆ เพื่อจัดทำรายงานเสนอคณะรัฐมนตรี พิจารณาผลักดันไปสู่การแก้ไขปัญหาอุปสรรคของภาคธุรกิจและความมั่นคงทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน 

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เป็นโอกาสที่ดีที่หอการค้าฯ ได้ให้การต้อนรับ และหารือกับคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม วุฒิสภา เนื่องจากเป็นอีกกลไกหนึ่งที่สำคัญที่จะช่วยผลักดันข้อเสนอทางเศรษฐกิจของภาคเอกชนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ผ่านมาหอการค้าฯ ได้จัดทำสมุดปกขาว ซึ่งเป็นการรวบรวมข้อเสนอของภาคเอกชนทั่วประเทศ โดยมีประเด็นเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะเร่งด่วน 3 ด้าน ได้แก่ การสร้างความเชื่อมั่นทั้งในและต่างประเทศ ,การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของ SMEs และการวางยุทธศาสตร์ประเทศเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน รวมทั้งเป้าหมายผลักดันเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน 6 ประเด็น ได้แก่ การค้าและการลงทุน ,เกษตรและอาหาร ,ท่องเที่ยวและบริการ,การพัฒนาเพื่อความยั่งยืน,การขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อยกระดับการแข่งขันของประเทศ และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาค 

ทั้งนี้ได้เสนอในรายละเอียดไปยังรัฐบาลแล้ว เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ทั้งนี้ หอการค้าไทยและกรรมาธิการการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม วุฒิสภา ได้หารือในประเด็นสำคัญเพิ่มเติม ได้แก่ 1) การขับเคลื่อนศูนย์ประสานงานและประชาสัมพันธ์สินค้าเกษตรและอาหาร (Agriculture and Food Coordination and Public Relations Center: AFC) ซึ่งส่วนนี้หอการค้าฯ อยากให้มีการสนับสนุนและประชาสัมพันธ์การขับเคลื่อนศูนย์ฯ ไปยังเกษตรกรทั่วประเทศ 2) กลไกประสานงานและส่งเสริมธุรกิจไทย-จีน อย่างยั่งยืน จะเป็นแพลตฟอร์มสำคัญในการเผยแพร่ข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือ ส่งเสริมการค้า และการลงทุนที่สอดคล้องกับกฎหมาย และข้อบังคับของทั้งสองประเทศ รวมถึงสนับสนุนสื่อมวลชนในการนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อสร้างความเข้าใจที่ดี และเป็นกลางระหว่างสังคมไทย และจีน

3) แผนการพัฒนาการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan : PDP) ทั้งการเร่งพัฒนาแหล่งก๊าซ (Overlapping Claims Area: OCA) ร่วมกับประเทศกัมพูชา การผลักดันนโยบาย alternative energy เช่น ไฮโดรเจน และพลังงานนิวเคลียร์ ที่เป็นเชื้อเพลิงสะอาด การเร่งพัฒนาตลาดไฟฟ้าสีเขียวเปิดการซื้อขายพลังงานหมุนเวียนเสรี และเปิดสายส่ง การเร่งให้มีระบบ Direct Power Purchase Agreement : Direct PPA ผ่านกลไก Third Party Access และศึกษาแนวทางการบริหารจัดการค่า AP (Availability Payment) หรือค่าความพร้อมจ่ายของภาคไฟฟ้าเอกชนในตลาดเสรี 

4) การช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยเร่งสร้างความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการเพื่อให้สินค้าไทยแข่งขันกับสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ การช่วยเหลือ SMEs ให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้อย่างสะดวกและง่ายขึ้น นอกจากนี้ หอการค้าฯ ยังได้เสนอให้ขยายความช่วยเหลือครอบคลุมกลุ่มลูกหนี้ SMEs ที่อยู่ระหว่างปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้กลุ่มนี้หลุดเป็น NPL ในอนาคต 

5) การบริหารจัดการวัสดุเหลือใช้เพื่อตอบโจทย์เป้าหมายของประเทศ (Zero waste to landfill) โดยหอการค้าฯ ได้เสนอผลักดันการเพิ่มประสิทธิภาพระบบการคัดแยกขยะ โดยจัดตั้งศูนย์จัดการขยะ (Material Recovery Facility: MRF)  ทั่วประเทศสำหรับการจัดการขยะเปียก และแยกขยะแห้งแต่ละชนิดออกจากกัน เพื่อสร้างคุณค่าตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนในจุดที่เหมาะสม การจัดสรรเงินลงทุนและกำหนดมาตรการเพื่อสนับสนุนให้เกิดโครงการจัดการขยะที่เหมาะสมเป็นโมเดลต้นแบบ และการจัดทำกฎหมายแม่บท Circular Economy Act ของประเทศไทยให้เสร็จสมบูรณ์ ที่ครอบคลุมการจัดการของเสีย การออกแบบบรรจุภัณฑ์ การรีไซเคิล และการกำหนดสัดส่วนการใช้วัสดุรีไซเคิล (% Recycle Content)

6) Platform ซื้อขายคาร์บอนเครดิต โดยสนับสนุนโครงการ Platform ซื้อขายคาร์บอนเครดิตให้เป็นแนวทางในการสร้างความตระหนักและการรับรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทุกภาคส่วน ซึ่งหอการค้าไทยได้ริเริ่มแผนงานพัฒนา Platform กลางที่ซื้อขายคาร์บอนเครดิตแบบปลีกย่อย เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยให้มุ่งสู่การลดก๊าซเรือนกระจก ภายใต้โครงการ Platform ซื้อขายคาร์บอนเครดิต หรือ Carbon Neutrality 4 ALL

ด้านนายวิวรรธน์ ไกรพิสิทธิ์กุล ประธานคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม วุฒิสภา กล่าวเพิ่มเติมว่า ข้อเสนอต่าง ๆ สอดคล้องกับแนวทางการทำงานของคณะกรรมาธิการฯ สำหรับแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs โดยเฉพาะในด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ส่วนนี้เห็นด้วยและมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบ ซึ่งหนึ่งในแนวทางที่สำคัญคือการจัดตั้งกองทุนเฉพาะสำหรับการบริหารจัดการหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) โดยการหารือร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อกำหนดมาตรการและกลไกสนับสนุนที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ 

ขณะเดียวกัน กรรมาธิการฯ ยังได้เห็นด้วยกับแนวทางการพัฒนาในประเด็นต่างๆที่หอการค้าฯ นำเสนออันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ โดยจะได้เสนอรัฐบาลเพื่อพิจารณาเป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศ ต่อไป

#ข่าววันนี้ #หอการค้าไทย #สมุดปกขาว #ปลุกเศรษฐกิจ #สยามรัฐ #สยามรัฐออนไลน์