อัยการศาลเเขวงใต้เลื่อนฟังคำสั่ง ‘เชน ธนา’ ครั้งที่ 3 เป็น 13 ธ.ค. 'กุญช์ฐาน์' รองโฆษกอัยการ เผยเหตุสั่งสอบสวนเพิ่มเติมยังไม่เเล้วเสร็จ ลุ้นสั่งทันกรอบผัดฟ้อง 20 ธ.ค.หรือไม่

วันนี้ (6  ธ.ค.) ที่สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 4 (พระนครใต้) พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 4 (พระนครใต้) นัดฟังคำสั่งในคำร้องขอความเป็นธรรม นายธนาตรัยฉัตร  หรือ เชน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อมาโด้ กรุ๊ป จำกัด อดีตนักร้องชื่อดัง อายุ 37 ปี ในคดีที่พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปราม ได้ยื่นคำร้องพร้อมความเห็นสมควรสั่งฟ้องในคดีที่มีการกล่าวหาบริษัท อมาโด้ กรุ๊ป จำกัด โดยนายธนาตรัยฉัตร ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจ ,นายธนาตรัยฉัตร หรือเชน  อดีตนักร้องชื่อดัง อายุ 37 ปี น.ส.กาลกัลยา อายุ 34 ปี เป็นผู้ต้องหาที่ 1 - 3 ในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง บริษัท ไทยยินตันความเสียหายกว่า 79 ล้านบาท โดยครั้งนี้ถือเป็นนัดครั้งที่ 3 หลังจากครั้งเเรกมีการนัดฟังคำสั่งฟ้องเเต่นายธนาตรัยฉัตร ได้ยื่นร้องขอความเป็นธรรมเข้ามา โดยเมื่อวันที่ 29 พ.ย.ที่ผ่านมาทางพนักงานอัยการได้อนุญาตให้เลื่อนฟังคำสั่งเนื่องจากมีการสั่งสอบสวนเพิ่มเติมตามคำร้องขอความเป็นธรรม 

นายกุญช์ฐาน์ ทัดทูน รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า วันนี้ทางพนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 4 ได้เลื่อนฟังคำสั่งทางคดีออกไปอีกครั้งเป็นวันที่ 13 ธ.ค. เนื่องจากคดีนี้ผู้ต้องหาทั้ง 3 ได้ยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรม ซึ่งพนักงานอัยการได้พิจารณาประเด็นตามหนังสือร้องขอความเป็นธรรมของผู้ต้องหาแล้ว เห็นว่าเพื่อให้การพิจารณาสั่งคดีของพนักงานอัยการเป็นไปอย่างเที่ยงธรรม จึงได้สั่งให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเพิ่มเติมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 143 ประกอบระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการ้องขอความเป็นธรรมในคดีอาญา พ.ศ.2567 ตั้งแต่เมื่อวันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งบัดนี้ยังไม่ได้รับผลการสอบสวนเพิ่มเติม จึงได้เลื่อนนัดฟังคำสั่งคดีของผู้ต้องหาออกไปตามวันเวลานัดใหม่ 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีศาลเเขวงสามารถผัดฟ้องได้ 5 ผัดผัดละ 6 วัน (รวม30 วัน)ถ้ายังไม่สามารถยื่นฟ้องผู้ต้องหาได้ทันก่อนครบกำหนดผัดฟ้อง จะพ้นอำนาจการคุมตัว หากมีคำสั่งยื่นฟ้องภายหลังจะต้องขออนุญาตอัยการสูงสุดฟ้อง โดยมีการผัดฟ้องครั้งเเรกวันที่ 20 พ.ย.เเละจะครบกำหนดผัดฟ้องครั้งสุดท้าย 20 ธ.ค.2567 

สำหรับพฤติการณ์ของคดีนี้สรุปว่า ก่อนเกิดเหตุ บริษัทไทยยินต้น จำกัด ประกอบกิจการนำเข้าสินค้าจากประเทศญี่ปุ่น มาจำหน่ายในประเทศไทย และได้แจ้งจดทะเบียนผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโปรโบโอติก ภายใต้ชื่อผลิตภัณฑ์ "ยินตัน บิฟิน่า อีเอ็กซ์" จากคณะกรรมการอาหารและยาตามกฎหมาย ต่อมาวันที่ 8 ก.พ.64 นายธนาตรัยฉัตร  ผู้ต้องหาที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท อมาโด้ กรุ๊ป จำกัด ผู้ต้องหาที่ 1 ได้สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารเสริมชื่อ "ยินตัน บิฟิน่า อีเอ็กซ์" (BIFINA สูตร EX ) จากบริษัท ไทยยินตัน จำกัด จำนวน 3,000,000 ซอง ในราคาซองละ 19 บาท คิดเป็นเงินจำนวน 57 ล้านบาท โดยบริษัทไทยยินตัน จำกัด เป็นผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมาให้ผู้ต้องหาที่ 1เป็นผู้จัดจำหน่าย แต่เพียงผู้เดียว

จากนั้นต่อมาวันที่ 1 มี.ค.64 บริษัท ไทยยินตัน จำกัด ได้เริ่มทยอยส่งมอบสินค้า ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมดังกล่าวให้แก่ผู้ต้องหาที่ 1 เป็นครั้งที่ 1 จำนวน 85,000 ซองต่อมาวันที่ 1 มี.ค.64 พยานได้รับการติดต่อจากนางกาลย์กัลยา ผู้ต้องหาที่ 3 แจ้งเรื่องสีของสินค้าว่ามีความแตกต่างจากตัวอย่างของสินค้าที่บริษัทไทยยินตัน จำกัด ได้นำเสนอไว้ต่อผู้ต้องหาที่ 1 กับพวก พยานจึงได้อธิบายว่าสีของสินค้าที่ผู้ต้องหาที่ 1 ได้รับเป็นไปตามที่ ได้รับอนุญาตให้จำหน่ายจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ต่อมาวันที่ 9 มี.ค. 2564 บริษัท ไทยยินตัน จำกัด ได้ส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ต้องหาที่ 1 เป็นครั้งที่ 2 จำนวน 315,000 ชอง และในวันเดียวกัน(9 มี.ค.64) ผู้ต้องหาที่ 1 ได้สั่งซื้อสินค้าผลิตภัณฑ์อาหารเสริมชื่อ "ยินตัน บิฟิน่า อีเอ็กซ์" จำนวน 4,200,000 ซอง คิดเป็นเงินจำนวน 79,800,000 บาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ซึ่งห่างจากการสั่งซื้อสินค้าครั้งที่ 1 เพียงประมาณ 1 เดือน 

จากนั้นเรื่อยมาบริษัท ไทยยินตัน จำกัดได้ทยอยจัดส่งสินค้าตามคำสั่งสั่งซื้อ ครั้งที่ 1 จนครบจำนวน 3 ล้านซอง ในวันที่ 1 มิ.ย.64 ต่อมาวันที่ 14 สิงหาคม 2564 บริษัท ไทยยินตัน จำกัด ได้ขอยกเลิกสัญญาที่ผู้ต้องหาที่ 1 ว่าจะจ้างผลิตสินค้าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชื่อ ‘ยินตัน บิฟิน่า อีเอ็กซ์’ เนื่องจากมีสาระสำคัญที่ระบุไว้ในสัญญาไม่ตรงกับการดำเนินการทางธุรกิจระหว่างกัน ผู้ต้องหาที่ 1 จึงได้เสนอให้มีการจัดทำสัญญาซื้อขายฉบับใหม่ขึ้น โดยผู้ต้องหาที่ 1 เป็นผู้จัด ฉบับลงวันที่ 15 ส.ค. 2564 จากนั้น บริษัท ไทยยินตัน จำกัด ได้ทยอยจัดส่งสินค้าตามคำสั่งซื้อ ครั้งที่ 22 จนครบจำนวน 4 ล้าน 2 แสนซอง ในวันที่ 30 มีนาคม65 

ต่อมาพยานได้รับการติดต่อจากผู้ต้องหาที่ 3 เพื่อขอขยายการชำระเงินค่าสินค้า จากเดิม 30 วัน เป็น 90 วัน และจาก 90 วันเป็น 120 วัน โดยจะครบในวันที่ 28 ก.ค.65 ต่อมาผู้ต้องหาที่ 1 ได้ส่งหนังสือฉบับลงวันที่ 27 ก.ค.65 มายังบริษัทไทยยินตัน จำกัด แจ้งว่ามีปัญหาเรื่องการรับรองเอกสารเกี่ยวกับลักษณะของสินค้า และอ้างปัญหาสถานการณ์โรคโควิด-19 ส่งผลกระทบเชิงลบกับสถานการณ์การประกอบธุรกิจ ต่อมาบริษัท ไทยยินตัน จำกัด ได้ส่งหนังสือแจ้งให้ผู้ต้องหาที่1 ผ่านการชำระเงินค่าสินค้า แต่ผู้ต้องหาที่ 1 กลับส่งหนังสือแจ้งมายังบริษัท ไทยยินตัน จำกัดว่าบริษัท ไทยินตัน จำกัด ผิดสัญญา เพราะได้พรรณณาสรรพคุณของสินค้าไม่ตรงความเป็นจริง และแจ้งเตือนให้ บริษัท ไทยยินตัน จำกัด ในประเด็นเรื่องการผิดสัญญา 

ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว บริษัท ไทยยินตัน จำกัด ไม่เคยได้รับการติดต่อจากผู้ต้องหาที่ 1 กับพวกว่าสินค้าไม่ถูกต้องตามสัญญา และไม่เคยแจ้งเรื่องขอคืนสินค้า แต่อย่างใด บริษัท ไทยยินตัน จำกัด จึงเชื่อว่า ผู้ต้องหาที่ 1 กับพวก ไม่ได้มีเจตนาทำสัญญาซื้อขายสินค้ามาตั้งแต่แรก เพียงแต่นำสัญญาซื้อขายมาใช้เป็นวิธีการหลอกลวงให้บริษัท ไทยยินต้น จำกัด ส่งมอบสินค้าผลิตภัณฑ์อาหารเสริมชื่อ "ยินตัน บิฟิน่า อีเอ็กซ์" เท่านั้น เป็นเหตุให้บริษัท ไทยยินตันจำกัด ได้รับความเสียหาย รวมเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 79.8 ล้านบาท บริษัท ไทยยินตัน จำกัด โดย นายนริศจึงมอบอำนาจให้ นายอานุภาพ ใจแสนภักดี ผู้กล่าวหาที่ 1 มาแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินคดีกับ ผู้ต้องหาที่ 1 กับพวก ตามกฎหมายจนกว่าคดีจะถึงที่สุด