กระทรวงการคลังและกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ประกาศใช้มาตรการลงโทษบุคคลหรือนิติบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องหรือสนับสนุนรัสเซียในการปฏิบัติการต่อยูเครนกว่า 400 ราย 

เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.67 นางอารดา เฟื่องทอง อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นมา สหรัฐฯ และประเทศพันธมิตร เช่น สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น ได้ออกมาตรการฝ่ายเดียว (Unilateral Sanction) ที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกสินค้า Common High Priority List (CHPL) ซึ่งประกอบด้วยพิกัดอัตราศุลกากรสำหรับสินค้า 50 รายการ เพื่อควบคุมการส่งออกสินค้าไปยังรัสเซียในการสู้รบกับยูเครน โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรไฟฟ้า อุปกรณ์ไฟฟ้า รวมถึงส่วนประกอบของเครื่องดังกล่าว และส่วนประกอบของอากาศยาน ที่จำเป็นต่อการดำเนินการโจมตีต่อยูเครน โดยเฉพาะการลงโทษต่อบริษัทเอกชนหรือบุคคล
ของประเทศที่สาม 

โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2567 สหรัฐฯ ได้อาศัยอำนาจภายใต้ Executive Order ฉบับที่ 14024 ประกาศมาตรการลงโทษเพิ่มเติมในการขึ้นบัญชีบุคคลและองค์กรที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือสนับสนุนการกระทำของรัสเซียในยูเครนกว่า 400 ราย ซึ่งประกอบด้วยบุคคลและองค์กรจากประเทศ/เขตเศรษฐกิจอื่นๆอาทิ สาธารณรัฐอินเดีย สาธารณรัฐประชาชนจีน เขตบริหารพิเศษฮ่องกง มาเลเซีย สาธารณรัฐสิงคโปร์ สาธารณรัฐตุรกี รวมถึงบริษัทที่จัดตั้งอยู่ในประเทศไทย ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการส่งออกสินค้าในรายการ CHPL ไปยังรัสเซีย โดยสาระสำคัญของมาตรการลงโทษดังกล่าว คือ 

(1) การให้ระงับ (Block) ทรัพย์สินที่ครอบครองโดยบุคคลหรือองค์กรที่ถูกขึ้นบัญชี และอยู่ในสหรัฐฯ หรืออยู่ภายใต้การควบคุมของบุคคลสหรัฐฯ ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อมเกินร้อยละ 50 

(2) ห้ามการทำธุรกรรมโดยบุคคลสหรัฐฯ หรือผ่านสหรัฐฯ หรือดำเนินการในสหรัฐฯ ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลหรือองค์กรที่ถูกขึ้นบัญชี เว้นแต่จะได้รับการอนุมัติจากกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ (Office of Foreign Assets Control: OFAC) 

(3) บุคคลที่ถูกขึ้นบัญชีจะถูกห้ามเดินทางเข้าสหรัฐฯ

นางอารดากล่าวย้ำว่า มาตรการดังกล่าวเป็นมาตรการคว่ำบาตรฝ่ายเดียว (Unilateral Sanction) ของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่มีต่อบุคคลและองค์กรที่เกี่ยวข้องที่เห็นว่ามีการดำเนินธุรกิจที่อาจเป็นการสนับสนุนการกระทำของรัสเซียต่อยูเครน โดยสินค้า CHPL 50 รายการเป็นสินค้าที่ถูกกำหนดด้วยเหตุผลความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์เป็นสำคัญแตกต่างจากการควบคุมสินค้าที่ใช้ได้สองทาง (Dual-Use Items: DUI) ที่กรมฯ ควบคุมอยู่ในปัจจุบันภายใต้อำนาจพระราชบัญญัติการควบคุมสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง พ.ศ.2562 ที่เป็นการควบคุมให้สอดคล้องกับตามข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ 1540 (United Nation Security Council Resolution 1540: UNSCR 1540)

อย่างไรก็ดี แม้ว่าปัจจุบันไทยมีนโยบายที่เป็นกลางและจะเน้นการออกมาตรการคว่ำบาตรตามข้อมติของ UN เท่านั้น ซึ่งยังไม่เคยมีการกำหนดมาตรการใดต่อรัสเซีย บริษัทยังควรพิจารณาดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวัง เพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบจากมาตรการฝ่ายเดียวดังกล่าว ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยสามารถศึกษารายละเอียดพิกัดอัตราศุลกากรของสินค้า CHPL 50 รายการดังกล่าวได้ที่ https://www.bis.doc.gov/index.php/all-articles/13-policy-guidance/countr... และมาตรการลงโทษปรากฎตามเว็บไซต์ https://www.state.gov/new-measures-targeting-third-country-enablers-supp... และ http://home.treasury.gov/news/press-releases/jy2700 หรือสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กลุ่มงานบริหารสินค้าสองทาง กองบริหารสินค้าข้อตกลงและมาตรการการค้า 02 528 7500-29 ต่อ 4710 หรือสายด่วน 1385

#ข่าววันนี้ #สหรัฐ #รัสเซีย #ยูเครน #กรมการค้าต่างประเทศ #สยามรัฐ #สยามรัฐออนไลน์