เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นอีกที่บนเส้นทางถนนพระราม 2 โดยในช่วงเช้าของวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา มี “คานเหล็กก่อสร้างบนถนนพระราม 2 ถล่ม” ลงมา เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บจำนวนมาก ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ได้มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นจากการการสร้างทางบนถนนพระราม 2 อยู่บ่อยครั้ง อาทิ “สะพานกลับรถหรือจุดยูเทิร์นเกือกม้าบนถนนพระราม 2 กิโลเมตรที่ 34 บริเวณใกล้โรงพยาบาลวิภาราม จ.สมุทรสาคร เกิดเหตุถล่ม” เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นคนงานก่อสร้าง และบาดเจ็บ 2 ราย เมื่อกรกฎาคม 2565  และ “เกิดเหตุเครนล้มขวางถนนพระราม 2 ฝั่งขาออกจากกรุงเทพฯ” ช่วง ต.นาดี อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ในโครงการ M82 สายทางยกระดับบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว ตอน 3 ผู้รับจ้างใช้รถเครนยกรถแบ็กโฮที่ติดหล่ม ระหว่างที่ยกนั้น สลิงของรถเครนได้หลุดออกจากรถแบ็กโฮ ทำให้บูมรถเครนเหวี่ยงและหักขวางถนน เคราะห์ดีไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ เมื่อมีนาคม 2566

สำหรับเหตุการณ์ล่าสุดนี้  “นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม กล่าวว่า ในนามกระทรวงคมนาคมขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้ง กับครอบครัวผู้เสียชีวิต และ ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ สำหรับการเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิต และผู้ได้รับบาดเจ็บนั้น ทางกระทรวงสั่งการให้ดูแลเยียวยาอย่างเต็มที่ โดยสั่งการให้ผู้รับจ้างเยียวยารายละ 1 ล้านบาท  พร้อมให้หยุดก่อสร้าง 14 วัน  และให้กรมทางหลวงแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบสาเหตุข้อเท็จจริง และประเมินความปลอดภัยของโครงสร้าง ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมกรมทางหลวง สภาวิศวกร และวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ดำเนินการและสรุปรายงานผลต่อกระทรวงคมนาคมภายใน 15 วัน อีกทั้งอาจมีการพิจารณาปรับหลักเกณฑ์ลดชั้นพิเศษของผู้รับเหมาลง

ส่วนมุมมองสาเหตุที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์คานเหล็กก่อสร้างบนถนนพระราม 2 ครั้งล่าสุดนี้ “ศ.ดร.อมร พิมานมาศ” นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย อธิบายว่า โครงสร้างเหล็กที่พังถล่มลงไปนั้น เป็นโครงถักเหล็กเลื่อน (Steel launching truss) ใช้สำหรับยกชิ้นส่วนสะพานหรือเซ็กเมนต์ ให้วางตัวในแนวเดียวกัน จากนั้นจึงยึดชิ้นส่วนเข้าด้วยกันโดยการดึงลวดอัดแรง ซึ่งเป็นโครงถักเหล็กที่ใช้มีลักษณะเป็นรูป 3 เหลี่ยม ใช้คู่กัน 2 ตัว เพื่อยกชิ้นส่วนสะพาน การพังถล่มคาดว่าเกิดขึ้นในขณะที่ทำการติดตั้ง segment ไม่ใช่เป็นขั้นตอนการเลื่อนโครงถักไปข้างหน้า ส่วนสาเหตุที่เกิดการพังถล่ม ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่ชัดเจนได้ เพียงแต่มีการตั้งข้อสังเกตหรือข้อสมมุติฐานที่อาจจะเป็นไปได้ โดยพิจารณาจากรูปถ่าย ภาพเคลื่อนไหว และคำบอกเล่าจากผู้เห็นเหตุการณ์ ดังนี้

1.ตำแหน่งที่เกิดการวิบัติของโครงถักเหล็กเกิดขึ้นที่ใกล้เสา ซึ่งเป็นจุดที่มีค่าแรงเฉือนสูง และขณะที่เกิดการพังถล่มมีข้อมูลว่า ทำการยกชิ้นส่วนครบทั้งช่วงเสาและจัดแนวแล้ว แสดงให้เห็นว่าโครงถักเหล็กอยู่ในสภาวะที่รับน้ำหนักเต็มที่ ค่าแรงเฉือนที่เกิดขึ้นจึงมีค่าที่สูงจนอาจทำให้ชิ้นส่วนใดชิ้นส่วนหนึ่งของโครงถักเกิดดุ้ง หักหรือขาด แล้วทำให้โครงถักเหล็กสูญเสียกำลังจนพังลงมา

2.ท่อนเหล็ก PT bar ที่ใช้หิ้ว segment อาจเกิดการขาดหรือหลุด ทำให้น้ำหนักเสียสมดุล และทำให้เกิดการถ่ายแรงจากโครงถักหนึ่งไปยังอีกโครงถักหนึ่ง ทำให้โครงถักต้องรับน้ำหนักมากขึ้น จนเกิดการบิดตัวและพังถล่มตามมา

3.โครงเหล็กวินช์ ที่ใช้ยก segment ที่ตั้งอยู่บนโครงถักเหล็ก และสามารถเลื่อนไปมาได้มีน้ำหนักมากหลายสิบตัน อาจหลุดออกจากรางในระหว่างที่ติดตั้งชิ้นส่วนและทำให้เกิดแรงกระแทกต่อโครงถักเหล็กจนพังถล่มลงมา

4.จุดยึดหรือรอยต่อระหว่างโครงถักเหล็กโดยใช้สลักเกลียวหรือท่อนเหล็ก PT bar มีการใช้วัสดุที่ได้คุณภาพ มีกำลังรับน้ำหนักที่เพียงพอหรือไม่ และปฏิบัติตามขั้นตอนการทำงานที่กำหนดไว้หรือไม่ ตลอดจนฐานรองรับของโครงเหล็กมีการยึดเข้ากับเสาอย่างแข็งแรงหรือไม่ เพียงใด

ปัจจัยต่างๆ ที่กล่าว มานี้ยังเป็นเพียงข้อสังเกตขั้นต้นเท่านั้น ยังไม่สรุปว่าเป็นสาเหตุที่แท้จริง ซึ่งอาจมีปัจจัยอื่นๆ เพิ่มเติมอีก และการที่จะระบุสาเหตุที่แท้จริงได้นั้น จะต้องรวบรวมข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง เช่น แบบ รายการคำนวณ ข้อกำหนดวิธีการทำงาน และคุณภาพวัสดุ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การวิบัติของโครงถักเหล็กเป็นเรื่องที่กระทบต่อความเชื่อมั่น และความปลอดภัยของการก่อสร้างโครงสร้างขนาดใหญ่ และที่ผ่านมาก็เกิดเหตุการณ์ลักษณะเดียวกันหลายครั้งแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมีมาตรการกำกับดูแลอย่างเข้มงวดเพื่อป้องกันเหตุซ้ำรอยในอนาคต

สุดท้ายต้องรอผลของคณะกรรมการตรวจสอบสาเหตุข้อเท็จจริง และประเมินความปลอดภัยของโครงสร้าง ที่ตั้งขึ้นโดยกระทรวงคมนาคมสรุปถึงสาเหตุที่แท้จริง

ก็ได้แต่หวังว่าอนาคตคงไม่เกิดอุบัติเหตุที่รุนแรงเช่นนี้ขึ้นอีก!

ความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งชีวิต-ทรัพย์สิน มากเกินบรรยาย!

ขอให้ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย!!