วันที่ 5 ธ.ค.2567 ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ออกประกาศเรื่อง การทบทวนข้อร้องเรียนเพื่อเลื่อนสอบรายวิชา TGAT และ TPAT 2-5 จากสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ตอนล่าง โดยระบุว่า

จากมติที่ประชุมคณะกรรมการ TCAS68 ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 ที่ประกาศให้มีการเลื่อนสอบในพื้นที่สนามสอบจังหวัดยะลาและนราธิวาส และติดตามข้อมูลในพื้นที่สนามสอบจังหวัดปัตตานีและสงขลาเพื่อพิจารณาความเหมาะสมในการจัดสอบ พร้อมทั้ง ทปอ. เปิดโอกาสให้ผู้สมัครในพื้นที่สนามสอบปัตตานีและสงขลาที่ประสบปัญหาในการเดินทางมายังสนามสอบ แจ้งขอเลื่อนสอบจนถึงวันที่ 5 ธันวาคม 2567 เวลา 23.59 น. เพื่อนำข้อมูลมาใช้ในการตัดสินใจดำเนินการอย่างเหมาะสมและเป็นธรรรมกับทุกฝ่าย

อย่างไรก็ตาม มีข้อเสนอแนะและข้อร้องเรียนให้มีการเลื่อนสอบรายวิชา TGAT และ TPAT2-5 ทั้งประเทศ โดยมีประเด็นเกี่ยวกับความเป็นธรรมของข้อสอบและเวลาในการเตรียมสอบจากการประชุมคณะกรรมการ TCAS68 ในวันที่ 5 ธันวาคม 2567 เวลา 19.00 น. ได้มีการนำข้อมูลและข้อร้องเรียนมาอภิปรายและพิจารณาร่วมกัน โดยมีข้อสังเกตดังนี้

1.การพิจารณาการจัดสอบหรือเลื่อนสอบ กรรมการรวบรวมและใช้ข้อมูลจริงอย่างรอบด้าน รวมทั้ง ตระหนักถึงความเดือดร้อนจำเป็นของผู้สมักรสอบที่อยู่ในพื้นพื้นที่ที่ประสบปัญหาด้วยความเข้าใจ บนพื้นฐานของความเสมอภาค และมุ่งหวังจะพยายามลดความกังวลให้กับผู้สมัครสอบที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์น้ำท่วม เพื่อให้ทุกฝ่ายได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

2.จำนวนผู้สมัครที่มีสนามสอบในจังหวัดยะลาและนราธิวาส ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม คิดเป็นจำนวน 8,190 คน หรือ 2.59% ของผู้สมัครทั้งหมด 315,483 คน ดังนั้น ผู้สมัครที่ไม่ได้รับผลกระทบ คิดเป็นสัดส่วนถึง 97.41%

3.จากข้อมูลการยื่นขอเลื่อนสอบของผู้สมัครที่มีสนามสอบในจังหวัดปัตตานีและสงขลา จนถึงวันที่ 5 ธันวาคม 2567 ณ เวลา 21.58 น. (เปิดให้ยื่นขอเลื่อนสอบได้ถึงเวลา 23.59 น.) มีรายละเอียดดังนี้

- จังหวัดปัตตานี: จากจำนวนผู้สมัครสอบทั้งหมด 5,285 คน มีผู้ยื่นขอเลื่อนสอบ 2,715 คน หรือ 51.37%

- จังหวัดสงขลา: จากจำนวนผู้สมัครสอบทั้งหมด 12,278 คน มีผู้ยื่นขอเลื่อนสอบ 1,004 คน หรือ 8.18%

ทปอ. พิจารณาอนุญาตให้ผู้สมัครสอบที่ขอเลื่อนสอบมาในระบบตามเวลาที่กำหนด และมีหลักฐานภูมิลำเนาที่อยู่ ในพื้นที่ประสบภัย สามารถเลื่อนการสอบจากวันที่ 7-9 ธันวาคม 2567 เป็นวันที่ 21 – 23 ธันวาคม 2567

ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่ามีผู้ขอเลื่อนสอบ จำนวน 12 คน (นักเรียนปีการศึกษา 2567 จำนวน 1 คน และปีการศึกษา 2562 – 2566 จำนวน 11 คน ที่มาจากโรงเรียนในพื้นที่อื่นที่มิใช่พื้นที่ประสบภัยแต่ได้เลือกสนามสอบปัตตานีและสงขลาไว้ ซึ่ง ทปอ.จะพิจารณาเป็นรายกรณี จากข้อมูลข้างต้น สะท้อนว่า ผู้สมัครในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมีความประสงค์เข้าสอบตามกำหนดการเดิมเป็น ส่วนใหญ่

4.ประเด็นความเป็นธรรมเรื่องข้อสอบ ทปอ. ได้มีการบริหารความเสี่ยงในการจัดการข้อสอบ โดยการสร้างข้อสอบ 2 ชุดให้ได้มาตรฐานเดียวกัน โดยมีตารางวิเคราะห์ข้อสอบ (Test Blueprint) เพื่อกำหนดสัดส่วนของคำถามแต่ละหัวข้อ และสัดส่วนของข้อสอบที่มีความยากง่าย (Diffculty Levels) เหมือนกัน อีกทั้ง ยังกำหนดให้มีผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบ ข้อสอบทั้งสองชุดเพื่อความถูกต้องและความชัดเจน ทั้งก่อนและหลังการสอบ เพื่อความเป็นธรรมให้กับผู้สอบทุกคน

5.การสอบ TGAT / TPAT เป็นการประเมินความถนัด การเลื่อนสอบออกไป ไม่ทำให้ผู้สอบที่ได้รับการเลื่อนสอบได้เปรียบหรือเสียเปรียบอย่างมีนัยสำคัญ

6.การสอบตามกำหนดการเดิม ช่วยสร้างความเป็นธรรมในการยื่นคะแนนเพื่อคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย เนื่องจากการตรวจข้อสอบและประกาศคะแนน เป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลา หากเลื่อนสอบทั้งประเทศออกไป จะส่งผลกระทบต่อกระบวนการยื่นคะแนน TGAT และ TPAT ในรอบการสมัคร TCAS รอบ 1 (รอบ Portfolio) และรอบ 2 (รอบโควตา) ที่แต่ละมหาวิทยาลัยดำเนินการเอง

คณะกรรมการ TCAS68 ได้มีการพิจารณาโดยให้ความสำคัญกับความเป็นธรรมและผลกระทบกับทุกฝ่าย อย่างสมดุล จึงมีมติให้ดำเนินการตามประกาศชี้แจงการจัดสอบ TGAT/TPAT 2-5 ในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ตอนล่างเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 ให้มีการเลื่อนวันสอบ จำนวน 4 สนามสอบในจังหวัดยะลาและนราธิวาส