สัปดาห์พระเครื่อง / ราม วัชรประดิษฐ์
พระกริ่งหนองแส เป็นพระกริ่งนอกยอดนิยมอีกพิมพ์หนึ่ง ในชุด “เทียมตึ้งโงโจ้ว” หรือ ห้าพระศาสดาแห่งโลกธาตุ มีความแตกต่างที่เป็นเอกลักษณ์ คือ เป็นพระกริ่งที่ไม่มีการบรรจุเม็ดกริ่ง แต่ที่นิยมเรียกกันว่า ‘พระกริ่ง” สืบเนื่องจากมีพุทธลักษณะแบบเดียวกัน ปัจจุบันหาดูได้ยากมาก
พระกริ่งหนองแส มีการค้นพบที่ หนองแส หรือ เมืองแส แห่งอาณาจักรน่านเจ้า ซึ่งแต่เดิมก็เป็นอาณาจักรของคนไทยเชื้อสายหนึ่ง ปัจจุบัน คือ มณฑลฮุนหนำ ประเทศจีน สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นพระกริ่งที่กษัตริย์ราชวงศ์หนองแสได้สร้างขึ้น ขณะที่อาณาจักรน่านเจ้ารุ่งเรืองที่สุด ซึ่งน่าจะเป็นสมัยของพระเจ้าพีล่อโก๊ะ หรือ ขุนบรม ระหว่างปี พ.ศ.1270-1290 ที่มีสัมพันธไมตรีกับประเทศจีนและทิเบต การตั้งชื่อจึงตั้งตามสถานที่ที่พบ ว่า “พระกริ่งหนองแส” ต่อมาพบที่เขาพนมบาเก็งในประเทศกัมพูชาด้วย ซึ่งในขณะนั้นทางอาณาจักรน่านเจ้าก็มีสัมพันธไมตรีกับขอมเช่นกัน จึงอาจจะมีการนำพระกริ่งหนองแสมาบรรจุไว้ที่เขาพนมบาเก็งด้วยก็เป็นได้
เนื้อหามวลสาร-การจัดสร้างเป็นพระเนื้อสำริดแก่ทอง ที่เรียกว่า “เนื้อทองดอกบวบ” เช่นเดียวกับพระกริ่งใหญ่และพระกริ่งบาเก็ง ผิวของพระจะเป็นสีนํ้าตาล เอกลักษณ์สำคัญคือ เป็นพระกริ่งที่ไม่มีการบรรจุเม็ดกริ่ง มีลักษณะแบบเทตันทั้งองค์ บางองค์เป็นแบบก้นกลวงก็มี แต่ไม่มีการบรรจุเม็ดกริ่งใดๆ ทั้งสิ้น
พุทธลักษณะ พระกริ่งหนองแส มีพุทธลักษณะเช่นเดียวกับพระกริ่งใหญ่และพระกริ่งบาเก็ง องค์พระประทับนั่ง แสดงปางมารวิชัย บนฐานกลีบบัวซ้อน 2 ชั้น ชั้นละ 7 กลีบ, พระหัตถ์ขวาวางพาดบนพระเพลา พระหัตถ์ซ้ายทรงวชิราวุธ แต่พระพักตร์จะมีความแตกต่าง คือ ไม่ออกไปทางจีน แต่กลับเป็นแบบไทย พระเนตรหลุบตํ่า, พระขนงไม่ชี้ขึ้น, พระศกด้านบนที่มุ่นมวยผมก็จะเป็นแบบผมรัดเกล้า, ฐานบัวก็แตกต่างจากพระกริ่งใหญ่ โดยกลีบบัวจะเป็นแบบกลีบบัวของศิลปะทิเบต คือ เป็นบัวเม็ดไข่ปลา 2 ชั้น
พุทธลักษณะที่เอกลักษณ์สำคัญ คือ ถ้าหันข้างองค์พระ จะเห็นว่าองค์พระเอนลู่ไปทางด้านหลังมาก ส่วนฐานล่างสุดจะยื่นออกมาแบบ ‘ก้นแมลงสาบ’ เพื่อรองรับนํ้าหนักขององค์พระที่เอนไปด้านหลัง เพื่อไม่ให้ล้มเวลาตั้งนั่นเอง
ส่วนแนวทางการพิจารณา พระกริ่งหนองแสเป็นพระกริ่งที่ไม่มีการบรรจุเม็ดกริ่ง มีลักษณะแบบเทตันทั้งองค์ บางองค์เป็นแบบก้นกลวงก็มี แต่ไม่มีการบรรจุเม็ดกริ่งใดๆ ทั้งสิ้น มีหลักการพิจารณาเอกลักษณะแม่พิมพ์ในเบื้องต้นดังนี้
ตำหนิที่ 1 พระกริ่งหนองแสเป็นพระกริ่งที่หล่อตันไม่ได้อุดเม็ดกริ่งทุกองค์
ตำหนิที่ 2 เส้นสังวาลย์มีลักษณะเป็นเส้น ไม่เป็นเม็ดตุ่มเรียงรายกัน
ตำหนิที่ 3 เม็ดบัวกลมเป็นฐานรองรับพระค่อนข้างกว้าง โดยเฉพาะบัวชั้นบนมีลักษณะกว้าง
ตำหนิที่ 4 พระเมาลี (มวยผม) มีลักษณะเป็นแท่ง แนวตั้งเรียกกันว่า “ผมหวี” ทั้งด้านหน้า และด้านหลัง
ตำหนิที่ 5 เม็ดพระศกแถวบนมีลักษณะเป็นเม็ดแนวตั้ง
หางด้านพุทธคุณนั้นพระกริ่งหนองแสโดดเด่นทางอำนาจ เจริญด้วยลาภ ยศ สักการะ ป้องกันภูตผีปีศาจและสิ่งเลวร้ายต่างๆ ใช้ทำนํ้ามนต์สำหรับอาบและดื่ม เพื่อบรรเทาและหลุดพ้นจากทุกข์โศกโรคภัยไข้เจ็บทั้งปวงครับผม