ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล
ความสุขของคนเราอาจแตกต่างกัน ทั้งเป้าหมาย วิธีการ ปริมาณ และความพึงพอใจ
ปรีดาเป็นเพื่อนสนิทคนหนึ่งของผม เรารู้จักกันมาตั้งแต่เด็ก ๆ เพราะบ้านอยู่ในซอยเดียวกัน ในชุมชนอาคารสงเคราะห์ห้วยขวางเมื่อ 60 กว่าปีก่อน (ปัจจุบันเป็นกลุ่มแฟลตห้วยขวางหลายสิบอาคาร เป็นชุมชนหนาแน่น ใกล้แนวถนนรัชดาภิเษก อยู่ระหว่างลาดพร้าว สุทธิสาร และพระราม 9 ที่เป็นย่านธุรกิจคับคั่ง) สมัยนั้นยังไม่มีถนนรัชดาภิเษก ออกจากชุมชนและตลาดห้วยขวางนี้มีแต่ทุ่งนาและบ่อบึงเวิ้งว้าง มีบ้านคนจีนที่เลี้ยงเป็ดและคนมุสลิมที่เลี้ยงวัวกระจายกันอยู่ห่าง ๆ พวกเราเด็ก ๆ ชอบไปเล่นน้ำในวันเสาร์อาทิตย์และตอนปิดเทอม แม้ว่าจะมีปลิงชุกชุม แต่ก็มีสิ่งชดเชยคือมีปลาให้จับจำนวนมาก ทั้งปลาที่จับมากินจำพวกปลาดุก ปลาช่อน ปลาสลิด และปลาที่จับมาเลี้ยงโดยเฉพาะปลากัดสีสวย ๆ
พอขึ้นชั้นประถมปีที่ 2 ผมต้องเปลี่ยนโรงเรียนไปเรียนที่ต่างจังหวัด ปรีดาเรียนที่โรงเรียนเดิมจนจบชั้นประถมปีที่ 7 ตอนนี้อาคารสงเคราะห์ห้วยขวางเดิมที่เป็นบ้านแฝดครึ่งปูนครึ่งไม้ ถูกรื้อลงไปหมดทั้งแถบทุกซอย เพื่อสร้างตึกที่เรียกว่าแฟลตขึ้นแทน ผมกับปรีดาได้มาเจอกันอีกที่โรงเรียนมัธยมแถวคลองผดุงกรุงเกษม ปรีดามาอาศัยอยู่กับลุงและป้าที่ใกล้วัดดวงแขแถวพลับพลาไชย ส่วนผมมาอาศัยอยู่กับน้าที่หลังวัดสระปทุม ประตูน้ำ เราเป็นนักกีฬาในทีมของโรงเรียนด้วยกัน โดยปรีดาอยู่ในทีมบาสเกตบอลรุ่นเล็ก ส่วนผมเป็นผู้รักษาประตูในทีมฟุตบอลรุ่นเล็กของโรงเรียนเช่นกัน แต่ปรีดาดีกว่าเพราะได้เป็นตัวจริงและทีมของเขาได้แชมป์หลายแชมป์ ส่วนผมเป็นตัวสำรองและทีมก็แพ้เสียมากกว่าที่จะชนะ อย่างไรก็ตามในฐานะนักกีฬาก็ยังต้องช่วยกันทำหน้าที่อีกอย่างหนึ่ง คือเวลาที่ทีมกีฬาอะไรรุ่นอะไรก็ตามไปแข่ง พวกนักกีฬาที่เหลือจะต้อง “ถูกเกณฑ์” ไปช่วยกันเชียร์ทีมกีฬาอื่น ๆ นั้นด้วย เพื่อให้เกิดพลังความอบอุ่นเข้มแข็งให้แก่กันและกัน (ความจริงน่าจะเป็นเรื่องของการเพิ่มจำนวนกองเชียร์ เพราะกีฬามักจะแข่งในวันเสาร์และวันอาทิตย์ที่ไม่ค่อยมีเพื่อนนักเรียนคนอื่นอยากจะเสียเวลาไปดู การที่นักกีฬาของแต่ละทีมมาช่วยกันเชียร์จึงถือเป็นหน้าที่อย่างหนึ่งของคนที่เป็นนักกีฬาทีมโรงเรียนนั้นด้วย) ผมกับปรีดาจึงได้กลับมาสนิทสนมกันมากอีกครั้ง หลังจากที่เราต้องแยกกันตอนเรียนชั้นประถมอยู่ช่วงหนึ่ง
ปรีดาเป็นคนตลกหน้าทะเล้นมาตั้งแต่เด็ก ๆ ทุกวันจะมีเรื่องมาเล่าให้เพื่อน ๆ ฟังไม่ซ้ำกัน ส่วนมากจะเป็นเรื่องของในบ้านเกี่ยวกับญาติพี่น้องของเขาเอง ว่ามีการกระทำหรือคำพูดอะไรที่ขำ ๆ บ้าง ซึ่งพวกเราแม้จะไม่เชื่อว่าจะเป็นเรื่องจริง แต่ก็อดหัวเราะฮาครืนในทุกครั้งไม่ได้ ด้วยสไตล์ สีหน้า และน้ำเสียงในการเล่าเรื่องของเขา ที่ถ้าเขาเติบโตมาในทางนี้ก็อาจจะเป็น “ตลกคาเฟ่” ได้อย่างสบาย ๆ ซึ่งนิสัยตลกเฮฮาของเขานี้ก็เป็นมาโดยตลอด แม้จะมาเรียนในชั้นมัธยมแล้ว และยิ่งตลกแบบที่เรียกว่า “โปกฮา” คือทะลึ่งมากขึ้น เมื่ออายุย่างเข้าสู่ความเป็นวัยรุ่น เพราะเขาจะเอาเรื่องของหนุ่ม ๆ สาว ๆ ในแง่มุม “สองแง่สองง่าม” มาแต่งเติมและสร้างสีสันให้เพื่อน ๆ ในกลุ่มฟังอยู่เสมอ ซึ่งคนที่ชอบเรื่องเหล่านี้ก็จะบอกว่าเขาเป็นคนมีเสน่ห์ แต่คนที่ไม่ชอบก็จะบอกว่าเขาน่ารังเกียจ
พอจบชั้นมัธยมปลาย ผมสอบเอนทรานซ์เข้าคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้(อย่างเหลือเชื่อ) ส่วนปรีดาเอนทรานซ์ไม่ติดแต่ก็ได้ไปเรียนในมหาวิทยาลัยชื่อดังอีกแห่งหนึ่งในคณะนิติศาสตร์ แล้วพวกเราก็ห่างเหินกันไปเกือบ 20 ปี กว่าที่จะได้มาเจอกันอีกในงานเลี้ยงรุ่นของโรงเรียนมัธยม ซึ่งระยะเวลาที่หายหน้าหายตาจากกันไปเกือบ 20 ปีนั้น ก็คือช่วงชีวิตที่แต่ละคนก็ต้องเรียน เรียนจบก็หางานทำ รวมทั้งมีครอบครัวสร้างฐานะ กว่าที่ลูกจะเติบโตหรือครอบครัวมีฐานะพออ้าปาก(และมีหน้ามีตาพอเสนอหน้าให้เพื่อน ๆ ได้เห็นบ้าง)ก็ต้องใช้เวลาพอสมควรดังกล่าว แต่ว่าสำหรับปรีดาแล้วชีวิตของเขาไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนัก เขาไม่มีครอบครัว ไม่มีแม้แต่คนรักหรือ “แฟน” ซึ่งเป็นเรื่องแปลกประหลาดในหมู่เพื่อนเอามาก ๆ เนื่องจากเขาคุยเก่ง คุยสนุก มีเสน่ห์ น่าจะมีเพื่อนมาก รวมถึงมีแฟนที่รักเขามากนั้นด้วย
รุ่นของเราที่เรียนชั้นมัธยมด้วยกัน มีด้วยกันประมาณ 300 คน แต่ที่มาร่วมงานเลี้ยงจะมีอยู่ระหว่าง 100 ถึง 150 คน ซึ่งก็ถือว่าโอเคที่ได้กลับมาพบกันในแต่ละปีนั้นเกือบจะครึ่งหนึ่ง คณะกรรมการรุ่นได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับอาชีพและครอบครัวของเพื่อน ๆ พบว่าที่มาเจอกันเป็นประจำนี้ล้วนแต่มีกินมีใช้เป็นส่วนใหญ่ส่วนคนที่ไม่ได้มาเท่าที่สืบหาได้ก็มักจะมีฐานะไม่ค่อยดีนัก แสดงว่ารุ่นของเรากว่าครึ่งยังไม่กล้ามาร่วมเพราะยังไม่มีฐานะพอที่จะนำมาอวดเพื่อนได้นี่เอง ดังนั้นในระยะหลัง ๆ เราจึงพยายามจัดกรรมการกลุ่มย่อยไปเยี่ยมเพื่อนบางคน ให้รู้ว่าทุกคนมีความสำคัญต่อเพื่อนเสมอกัน ถ้าใครเจ็บไข้ได้ป่วยก็นำเงินกองทุนของรุ่นไปช่วยส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งก็ขออนุเคราะห์เอาจากเพื่อนที่พอจะมีฐานะให้บริจาคเพิ่มเป็นการส่วนตัว แม้จะไม่ใช่เงินเป็นก้อนใหญ่โต แต่ก็สร้างความอบอุ่นและทำให้เพื่อนกล้าที่จะมาร่วมงานในปีถัดไป การให้ความช่วยเหลือนี้ยังรวมถึงเพื่อนที่มีปัญหาเกี่ยวกับการทำมาหากินหรือการเลี้ยงดูลูกและครอบครัวตลอดจนตัวเพื่อนหรือคนในครอบครัวเจ็บไข้ได้ป่วย ก็มีการนำเงินของรุ่นกับเงินบริจาคไปเกื้อหนุนตามความจำเป็น ซึ่งทางรุ่นไม่ได้หวังที่จะกอบกู้หรือช่วยแก้ปัญหาได้ทั้งหมด แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ “ความเป็นเพื่อน” ที่กระชับแน่น และความสุขตามอัตภาพที่เห็นเพื่อน ๆ มีความสุขมากขึ้นนั่นเอง
อีกกิจกรรมหนึ่งก็คือ การออกเยี่ยมเยียนเพื่อนในต่างจังหวัด โดยการจัด “มี๊ตติ้ง” ย่อย ๆ ไปในจังหวัดที่มีเพื่อนอยู่เป็นกลุ่มเป็นก้อน โดยการนัดเพื่อน ๆ ที่อยู่ในจังหวัดนั้นให้มาร่วมรับประทานอาหารหรือทำบุญด้วยกัน รวมถึงการค้างคืนสังสรรค์ ซึ่งก็จะได้มีเวลาพูดคุยกับเพื่อนให้มากขึ้น กิจกรรมนี้ดีมากเพราะไม่ได้ใช้เงินจำนวนมาก และสามารถเข้าถึงตัวเพื่อนได้โดยตรง โดยเฉพาะเพื่อนที่ “หนีหน้าหายตา” อาจจะด้วยเหตุผลต่าง ๆ ก็จะได้มาออกหน้าออกตาให้เพื่อน ๆ ได้พบ ปรากฏว่าที่ทำมาหลายปีนี้ สามารถไปถึงตัวเพื่อนเพิ่มขึ้นได้อีกหลายสิบคน รวมจำนวนในทะเบียนรุ่นก็กว่า 250 คนนั้นแล้ว (รวมถึงเพื่อน ๆ ที่เสียชีวิตไปกว่า 20 คน) จึงเหลือเพื่อน ๆ ที่ยัง “ไม่ปรากฏตัว” คือตามตัวหรือหาตัวไม่ได้ไม่ถึงครึ่งร้อย
ปรีดาก็เป็นเพื่อนคนหนึ่งที่ไปเจอตัวได้จากการออกสืบค้นติดตามนี้ด้วย โดยเริ่มค้นหาจากเพื่อนร่วมรุ่นในมหาวิทยาลัย จากหนังสือทำเนียบบัณฑิตหรือรายชื่อผู้รับปริญญาในแต่ละปี ปรากฏว่าปรีดาไม่ได้จบในรุ่นที่เรียนด้วยกันตามปกติในหลักสูตร 4 ปีนั้น เพราะปรีดากว่าจะจบก็ใช้เวลาเรียนร่วม 10 ปี พอได้ชื่อแล้วก็ตามหาว่าไปทำงานอยู่ที่ไหน รวมทั้งไปค้นที่สำนักทะเบียนราษฎร กระทรวงมหาดไทย จึงได้เจอว่าเขามีที่พักหรืออาศัยอยู่ที่ไหน จากนั้นก็ให้เพื่อนที่สนิทกันมาก ๆ ซึ่งก็คือผมไปหาจนถึงตัว ก่อนที่จะพามารับประทานอาหารร่วมกับเพื่อนคนอื่น ๆ ในมีตติ้งย่อย ๆ ครั้งหนึ่งของรุ่น
ผ่านไปเกือบยี่สิบปีปรีดาก็ดูไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ซึ่งก็คือ “ชีวิตที่มีชีวา” ตามแบบฉบับของเขา