ปชป.ลุยช่วยเหลือและให้กำลังใจผู้ประสบภัยน้ำท่วม ปัตตานี – ยะลา ‘พี่เต้’ วอนผู้มีจิตศรัทธา จัดชุดถุงยังชีพเพื่อให้ครอบคลุมในการรักษาโรคต่างๆ ที่มากับน้ำท่วม พร้อมเสนอไอเดียให้ทุก รพ. มีแผนป้องกันน้ำท่วม เผยหาก รพ. ที่ถูกน้ำท่วม มีอุปกรณ์ทางการแพทย์ เสียหาย แจ้งมาได้โดยตรง เพื่อประสานของบประมาณในการจัดซื้อจัดหาต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ อดีต สส.บัญชีรายชื่อ และที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วย น.ส.ภคอร จันทรคณา อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ ว่าที่ ร.ต.ธนิตศักดิ์ ดารามั่น อดีต ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายอนุรักษ์ อมรเมตตาจิตต์ นายรุ่งโรจน์ อิบรอฮีม และน.ส.กฤษยากร สรชัย คณะทำงานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และคณะ เดินทางไปยังจังหวัดปัตตานี และยะลา เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมตามจุดต่างๆ เช่น ชุมชนโคกสำโรง ภายในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี พร้อมมอบน้ำดื่ม 200 แพ็คและอาหารปรุงสุก 330 ชุด จากนั้น ได้เดินทางไปยังบ้านของนายมามะ สาและ ซึ่งเป็นสมาชิกตลอดชีพของพรรคประชาธิปัตย์ เนื่องจาก ที่บ้านพังเสียหาย จำนวน 2 หลัง เนื่องจากแรงซัดของน้ำ เหตุเกิดบ้านเลขที่39/1และ39/3 หมู่ที่ 5 ต.รูสะมิแล อ.เมือง จ.ปัตตานี ทั้งนี้ นายมงคลกิตติ์ ก็ได้แนะนำแนวทางในการทำเอกสาร เพื่อนำเบิกค่าความเสียหายตามระเบียบของ ปภ. ซึ่งจะอยู่เรท เสียหายทั้งหลัง ซึ่งทางราชการจะช่วย 70,000-230,000 บาท/หลัง ทั้งนี้ มีนายอำพล เวียงทอง ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดปัตตานี นายณัฐวัฒน์ นุ้ยศรีราม ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 6 สาขาปัตตานี นายมงคล แดงกัน ผอ.สปร. นายทิพย์รัตน์ ทัยศรี ผอ.สอช. นายอนุพงษ์ อุ่นเรือน ผอ.สคฟ. นายวิรัตน์ รูปสูง ผอ.สอก. สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ ที่ 6 ได้เข้าร่วมในการลงพื้นที่ที่จังหวัดปัตตานีในคราวนี้
ต่อมา เวลา 13.30 น.นายมงคลกิตติ์ และคณะ ได้เดินทางเข้าเยี่ยมและให้กำลังใจผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่ จ.ยะลา โดยลงพื้นที่ตามจุดต่างๆ เช่น บ้านละแอ ต.ละแอ อ.ยะหา มอบน้ำดื่ม 50 แพ็ค และ อาหารปรุงสุก 100 ชุด บ้านกูแบรายอ ต.ละแอ อ.ยะหา มอบน้ำดื่ม 50 แพ็ค และ อาหารปรุงสุก 50 ชุด บ้านกะตูปะ ต.บังนังสาเรง อ.เมือง มอบน้ำดื่ม 50 แพ็ค และ อาหารปรุงสุก 70 ชุด บ้านจาลงฮีเล หมู่ 3 ต.โกตาบารู อ.รามัน มอบน้ำดื่ม 50 แพ็ค และ อาหารปรุงสุก 80 ชุด โดยมีนายพรชัย สิทธิเกษร ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดยะลา พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ อช.บางลาง และสถานีควบคุมไฟป่ายะลา จาก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธ์ุพืช ร่วมในการลงพื้นที่ในครั้งนี้ด้วย
นายมงคลกิตติ์ กล่าวว่า หลังจากที่เดินทางมาช่วยเหลือประชาชนที่จังหวัดนราธิวาสเมื่อวานนี้ ตนและคณะก็ได้มาที่จังหวัดปัตตานีและยะลาต่อเนื่องทันที ซึ่งได้มอบน้ำดื่ม และถุงยังชีพ พร้อมพูดคุยให้กำลังใจประชาชน เพื่อขอให้ฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ไปได้โดยเร็ว เนื่องจากประชาชนในพื้นที่มีความกังวลว่า ฝนที่ตกโปรยปรายในช่วงนี้อาจจะทำให้เกิดน้ำท่วมซ้ำอีก จึงขอให้ประชาชนที่ต้องการที่จะกลับไปบ้านเพื่อฟื้นฟู ควรรอฟังข่าวสารพยากรณ์อากาศอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน เนื่องจากน้ำท่วมในพื้นที่อยู่เป็นเวลานาน ทำให้ชาวบ้านมีอาการน้ำกัดเท้า ซึ่งถือเป็นโรคที่สร้างความรำคาญให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก เพราะยิ่งเกาเพื่อระงับความรำคาญ อาการของโรคก็รุนแรงขึ้น แต่เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้น การที่จะหายารักษาโรคน้ำกัดเท้าก็มีความลำบาก ทำให้ครีมหรือโลชั่นรักษาโรคน้ำกัดเท้า กลายเป็นสิ่งของที่ต้องการเป็นอย่างมาก ในสถานการณ์วิกฤต ดังนั้น ตนอยากให้ผู้ที่มีจิตศรัทธาที่ต้องการส่งมอบถุงยังชีพให้ผู้ประสบภัยน้ำท่วมนั้น ควรจัดชุดถุงยังชีพเพื่อให้ครอบคลุมในการรักษาโรคต่างๆ ที่มากับน้ำท่วม เพราะถือเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับประชาชนที่ประสบภัย
นอกจากนี้ ตนได้รายงานสถานการณ์ไปยัง ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถึงการเยี่ยมเยียนให้กำลังใจประชาชนที่ประสบภัย ซึ่ง ดร.เฉลิมชัย ก็ได้ขอบคุณตนและคณะ ที่ช่วยกันดูแลทุกข์สุขของประชาชนในช่วงวิกฤตแบบนี้ รวมทั้ง จากกรณีน้ำท่วมโรงพยาบาลต่างๆ ในจังหวัดปัตตานีและจังหวัดยะลา จากภาพที่เห็นไม่ว่าจะเป็นน้ำที่ท่วมภายในโรงพยาบาลในขณะที่มีผู้ป่วยอยู่บนเตียงกำลังรักษา การพาเด็กแรกเกิดอพยพหนีน้ำท่วมด้วยการเอากะละมังใส่เข้าไปเพื่อลอยไปกับน้ำ ภาพรถฉุกเฉินที่ถูกน้ำท่วมจนสร้างความเสียหาย เป็นต้น ทำให้ตนคิดว่า โรงพยาบาลควรเป็นสถานที่ที่ควรได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมน้อยที่สุด เพราะถือเป็นสถานที่ที่สำคัญสำหรับประชาชนในทุกช่วงเวลา ยิ่งสถานการณ์น้ำท่วมแบบนี้ บทบาทของโรงพยาบาลก็จะต้องมีเพิ่มมากขึ้น เพราะฉะนั้น ตนจึงคิดว่า ควรที่จะมีแผนป้องกันน้ำท่วมสำหรับโรงพยาบาลและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ทุกแห่ง โดยเฉพาะหากเป็นไปได้ถ้ามีการก่อสร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่ ควรที่จะกำหนดถึงรูปแบบการก่อสร้างที่สามารถให้ประชาชนมาใช้บริการได้ในสภาวะที่เกิดน้ำท่วม ส่วนโรงพยาบาลที่มีอยู่เดิมนับจากนี้ ควรมีแผนซักซ้อมการเผชิญเหตุในการเกิดน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี ซึ่งโรงพยาบาลที่ตั้งในพื้นที่เสี่ยงกับน้ำท่วม ควรจัดหาอุปกรณ์ในการป้องกันน้ำท่วมเบื้องต้น รวมทั้ง หากโรงพยาบาลใดประสบภัยจนทำให้อุปกรณ์ทางการแพทย์ ครุภัณฑ์ต่างๆ รถฉุกเฉิน เป็นต้น เกิดความเสียหาย ขอให้ประสานมายังตนโดยตรงได้ เพื่อที่จะได้ประสานเพื่อเสนอขอพิจารณาของบประมาณในการจัดซื้อจัดหาหรือซ่อมแซมโดยเร็วที่สุดต่อไปด้วย