ดนตรี / ทิวา สาระจูฑะ
มีข่าวเล็กๆที่ไม่ได้สลักสำคัญอะไรกับการทำมาหากินของชาวบ้านทั่วไป แต่เผอิญเกี่ยวข้องกับธุรกิจดนตรี นั่นคือรายการโทรทัศน์ดัง The Voice Thailand ไม่มีการนำเพลงสากลเข้ามาใช้อีกแล้วในฤดูกาลนี้ (หรือปีค.ศ. 2024) มีแต่เพลงไทยเท่านั้น
หลังจากมีข่าว ก็มีการวิพากษ์วิจารณ์กันขรม เพราะหลายคนมองว่า เพลงสากล (นัยนี้ก็หมายถึง ‘เพลงฝรั่ง’ ที่เราเรียกกัน) เป็นต้นแบบ มีความหลากหลาย และเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก เปิดโอกาสและท้าทายให้นักร้องได้แสดงความสามารถออกมาได้มากกว่า และในความเป็นจริง เพลงยุคใหม่ในประเทศต่างๆทั่วโลกก็ได้อิทธิพลจากเพลงฝรั่งทั้งสิ้น
จากนั้นมีผู้บริหารหรือใครสักคนที่เกี่ยวข้องกับ The Voice Thailand ออกมาอธิบายประมาณว่า ปีนี้สถานการณ์การเก็บลิขสิทธิ์เพลงสากลเปลี่ยนไป การใช้เพลงสากลในรายการต้องทำเรื่องไปขอเจ้าของลิขสิทธิ์ที่เป็นคนเขียนเนื้อร้องและทำนองเอง ไม่ได้ขอผ่านองค์กรในประเทศเหมือนแต่ก่อน บางเพลงมีคนถือสิทธิ์หลายคน ซึ่งการทำเรื่องขอลิขสิทธิ์แต่ละเพลงอาจจะใช้เวลาเป็นเดือนๆ กว่าจะได้ในแต่ละเพลง
ผมเห็นข้อความที่ย่อมาสั้นๆแล้วนี้เมื่อสัก 3 เดือนที่ผ่านมา นึกในใจว่า ‘จริงเหรอ?’
แน่นอนว่า ต้องมีความจริงอยู่ส่วนหนึ่ง แต่ไม่น่าจะใช่ทั้งหมด
ผมเป็นคนหนึ่งที่ชอบดูรายการ The Voice ของประเทศต่างๆทั่วโลก กระทั่ง ศรีลังกา, มองโกเลีย, เปรู ฯลฯ ผมก็ดู หลังจากที่ข่าวออกไปว่า The Voice Thailand จะไม่มีเพลงสากล ผมยังดูรายการ The Voice ของประเทศต่างๆ และพบว่า เพลงส่วนใหญ่ที่ถูกนำมาใช้ในการประกวดก็ยังเป็นเพลงสากล มากกว่าจำนวนเพลงท้องถิ่นในประเทศนั้นๆหลายเท่าตัว หรือพอจะพูดได้ว่า เพลงท้องถิ่นมีแซมๆมาไม่กี่เพลง
ถ้าการจัดรายการ The Voice Thailand มีปัญหาด้านลิขสิทธิ์ การประกวด The Voice ของประเทศอื่นๆก็ต้องมีปัญหาไปด้วยน่ะสิ แล้วทำไมพวกเขายังคงเหมือนเดิม
แต่ขณะเดียวกัน ผมก็ได้ข่าว (ไม่ยืนยัน) ว่า มีบริษัทเพลงใหญ่แห่งหนึ่งของไทย เพิ่งไปได้สิทธิ์หรือร่วมสิทธิ์ในรายการ The Voice Thailand จึงเป็นไปได้หรือไม่ที่การใช้เพลงไทยที่ตนถือลิขสิทธิ์อยู่มากมาย จะทำให้รายได้การจัดเก็บลิขสิทธิ์เพิ่มขึ้นจากรายการที่ไปเกี่ยวข้องนั่นเอง เงินทองก็ไม่กระเซ็นออกไปสู่มือคนอื่น ส่วนจะทำให้รายการจืดชืดหรือไม่น่าดูลงนั้น เป็นคนละเรื่อง
The Voice เป็นชุดรายการโทรทัศน์แบบที่เรียกว่า ‘เรียลิตี้ โชว์’ ต้นกำเนิดมาจากเนเธอร์แลนด์ คือ The Voice of Holland จากนั้นก็ประสบความสำเร็จมหาศาลจากการที่อังกฤษและอเมริกาซื้อสิทธิ์ไปทำ เป็นผลทำให้ชาติต่างๆทั่วโลกพากันซื้อสิทธิ์ The Voice ไปนำเสนอ และได้รับความนิยมในแต่ละประเทศ รวมถึงประเทศไทย
ดังนั้น หาก The Voice Thailand 2024 ไม่มีการนำเพลงสากลร้องเลย ก็จะกลายเป็นรายการในนาม The Voice รายการแรกของโลกที่ไม่มีเพลงสากล และมีแต่เพลงไทยซึ่งเป็นเพลงท้องถิ่นล้วนๆ
น่าจะมีใครส่งเรื่องให้ กินเนสส์ เวิลด์ เรคคอร์ดส์ ได้บันทึกไว้เป็นเกียรติยศ
ยิ่งกว่านั้น ถ้าสถานการณ์เรื่องลิขสิทธิ์เพลงเปลี่ยนแปลงไป การจัดคอนเสิร์ทนำเข้าจากต่างประเทศก็คงต้องเลิกราไป หรือไม่ก็จัดกันได้แค่ปีละครั้งสองครั้ง แต่ในความจริงคือ ศิลปินระดับโลกบินมาแสดงคอนเสิร์ตในบ้านเราทุกเดือน บางเดือนชนกันสามสี่ราย ทั้งๆที่ศิลปินป๊อประดับโลกยุคใหม่ใช้นักแต่งเพลงเป็นทีมหลายคน โปรดิวเซอร์แยกกันเป็นเพลง เพลงละหลายคน ทำไมปัญหาของพวกเขาจึงไม่เกิดเหมือนรายการ The Voice Thailand ที่มีเพียงช่วงหนึ่งของปี
จริงๆแล้ว ผมอยากเขียนเรื่องลิขสิทธิ์ในเมืองไทยยาวๆ ตั้งแต่เรายังก๊อบปี้เพลงฝรั่ง เพลงญี่ปุ่น เพลงจีน สบายใจเฉิบ จนกระทั่งมีการประชุมลิขสิทธิ์นานาชาติครั้งใหญ่ที่ทำให้ธุรกิจดนตรีไทยต้องยอมรับกติกาโลก และต่อมากลายเป็นว่า บริษัทเพลงในเมืองไทยเอาช่องทางในกฎหมายลิขสิทธิ์มาใช้อย่างเกินเลย การเรียกค่าลิขสิทธิ์ที่ไม่สมดุลกับความเป็นจริง จนบางครั้งดูเหมือนจะขาดน้ำใจหรือคุณธรรม (หรือเปล่า?) แต่มันจะเป็นรายละเอียดที่เครียดและยิบย่อยเกินไป
และที่สำคัญ ถึงที่สุดแล้ว เป็นเรื่องธุรกิจของเบอร์ใหญ่ๆเขาอยากจะเล่นอะไรก็เล่นไป ใครอยากดูก็ดูไป ไม่อยากดูก็เปลี่ยนช่อง เขาคงคิดกันอย่างนี้