Krungthai GLOBAL MARKETS เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 34.09 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นมาก” จากระดับปิดวันพุธที่ผ่านมาที่ระดับ  34.34 บาทต่อดอลลาร์

เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.67 นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ช่วงคืนวันพุธที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ได้ทยอยแข็งค่าขึ้น ในลักษณะ Sideways Down หลุดโซนแนวรับ 34.20 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งจะเปิดโอกาสให้เงินบาทสามารถทยอยแข็งค่าขึ้นทดสอบโซน 34.00 บาทต่อดอลลาร์ได้ (กรอบการเคลื่อนไหว 34.07-34.28 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาทได้แรงหนุนจากการทยอยอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงคืนวันพุธ จนถึงคืนวันพฤหัสบดี ส่วนใหญ่ออกมาแย่กว่าคาด อาทิ ยอดการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP, ดัชนี ISM PMI ภาคการบริการ นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังถูกกดดันจากการรีบาวด์ขึ้นของบรรดาสกุลเงินหลัก อาทิ เงินยูโร (EUR) หลังความวุ่นวายของการเมืองฝรั่งเศสดูมีแนวโน้มคลี่คลายลงบ้าง (ทั้งนี้ สถานการณ์การเมืองฝรั่งเศสยังมีความไม่แน่นอนอยู่ จนกว่าจะมีการแต่งตั้งนายกฯ คนใหม่ หลัง Michel Barnier ได้ยื่นลาออกจากตำแหน่ง) อย่างไรก็ดี การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทก็ถูกชะลอด้วยโฟลว์ธุรกรรมซื้อสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้งทองคำและน้ำมันดิบ หลังราคาทองคำและราคาน้ำมันดิบยังคงทยอยปรับตัวลดลงต่อเนื่อง อีกทั้งผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ ต่างก็รอลุ้นรายงานข้อมูลยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ของสหรัฐฯ ในคืนวันศุกร์นี้ ก่อนที่จะปรับสถานะถือครองสินทรัพย์ที่ชัดเจน


บรรดาผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ กลับมาอยู่ในภาวะระมัดระวังตัวมากขึ้น เพื่อรอลุ้นรายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ดังจะเห็นได้จากการปรับตัวผสมผสานของบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ Tesla +3.2% แต่ Alphabet -1.0% นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังถูกกดดันจากการปรับตัวลงหนักของ UnitedHealth -5.2% หลัง CEO ของบริษัทถูกลอบยิง กดดันบรรดาหุ้นกลุ่มธุรกิจประกันสุขภาพ ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.19% 

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง +0.40% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นฝรั่งเศส โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มการเงิน อย่าง BNP +2.6% หลังความวุ่นวายของการเมืองฝรั่งเศสอาจเริ่มคลี่คลายลงในระยะสั้น อย่างไรก็ดี การปรับตัวลงของราคาน้ำมันดิบในระยะนี้ ยังคงเป็นปัจจัยกดดันบรรดาหุ้นกลุ่มพลังงาน Shell -1.4%, BP -1.3% 

ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัวแถว 4.20% แม้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะมีจังหวะปรับตัวขึ้นบ้าง แต่การปรับตัวขึ้นก็เป็นไปอย่างจำกัด ท่ามกลางรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ทยอยออกมาแย่กว่าคาดในระยะหลัง อีกทั้งถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ก็ยังทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างมองว่า เฟดมีโอกาสราว 70% ที่จะเดินหน้าลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธันวาคมนี้ ทั้งนี้ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้นรายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ในคืนวันศุกร์นี้ ก่อนที่จะปรับเปลี่ยนมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ซึ่งอาจส่งผลต่อการเคลื่อนของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ อย่างไรก็ดี เรามองว่า หากบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ สามารถทยอยปรับตัวสูงขึ้นต่อได้ ก็อาจเป็นจังหวะในการทยอยเข้าซื้อ (Buy on Dip) บอนด์ระยะยาว เนื่องจาก Risk-Reward ของผลตอบแทนรวม (Total Return) ของบอนด์ระยะยาวนั้นยังมีความน่าสนใจอยู่ 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลง ตามการรีบาวด์แข็งค่าขึ้นของบรรดาสกุลเงินหลัก อาทิ เงินยูโร (EUR) หลังความวุ่นวายของการเมืองฝรั่งเศสอาจดูคลี่คลายลงในระยะสั้น นอกจากนี้ บรรดาผู้เล่นในตลาดต่างคงคาดหวังว่า เฟดมีโอกาสเดินหน้าลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธันวาคมได้ ตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาแย่กว่าคาดเป็นส่วนใหญ่ในช่วงนี้ ทว่าผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นรายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ คืนวันศุกร์นี้ ก่อนปรับสถานะถือครองที่ชัดเจน ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ย่อตัวลงสู่โซน 105.7 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 105.7-106.3 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่า ทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะมีจังหวะปรับตัวลดลงบ้าง แต่ทว่า ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ. 2025) กลับยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่อง และแกว่งตัวแถวโซน 2,650-2,660 ดอลลาร์ หลังปัจจัยเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Risks) ดูทยอยคลี่คลายลง ลดความน่าสนใจในการถือครองทองคำเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย 

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่าง ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) อัตราการว่างงาน (Unemployment Rate) และอัตราการเติบโตของค่าจ้าง (Average Hourly Earnings) รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of Michigan Consumer Sentiment) นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของเฟด 

และในฝั่งเอเชีย ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญรายเดือนของเวียดนาม อาทิ ยอดค้าปลีก (Retail Sales) ยอดการส่งออกและนำเข้า (Exports and Imports) รวมถึงอัตราเงินเฟ้อ CPI ในเดือนพฤศจิกายน 


สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทอาจเคลื่อนไหวในกรอบ Sideways แถวโซน 34.10 บาทต่อดอลลาร์ ไปก่อน ในช่วงระหว่างวัน เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นรายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ที่จะทยอยรับรู้ในช่วง 20.30 น. ตามเวลาประเทศไทย

โดยเราประเมินว่า หากยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ออกมาต่ำกว่าคาด เช่น เพิ่มขึ้นน้อยกว่า +2 แสนตำแหน่ง ชัดเจน อีกทั้ง อัตราการว่างงานก็ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 4.2% หรือเกือบ 4.3% ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดเพิ่มโอกาสที่เฟดจะเดินหน้าลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธันวาคมนี้บ้าง (จาก 70% อาจเกือบแตะ 80%) กดดันให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจย่อตัวลงบ้าง หนุนทั้งราคาทองคำและเงินบาท โดยเงินบาทก็มีโอกาสแข็งค่าขึ้นทะลุระดับ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้

ในทางกลับกัน หากยอดการจ้างงานสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาดชัดเจน เช่น +2.5 แสนตำแหน่ง หรือมากกว่านั้น อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดลดโอกาสเฟดเดินหน้าลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธันวาคมนี้ ซึ่งจะหนุนให้ เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีโอกาสรีบาวด์สูงขึ้น กดดันราคาทองคำและเงินบาท

ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนของเงินบาท ในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ เนื่องจากสถิติในรอบ 1 ปี ที่ผ่านมา สะท้อนว่า เงินบาท (USDTHB) สามารถแกว่งตัวเกือบ +0.6%/-0.4% ได้ในช่วง 30 นาที หลังรับรู้รายงานข้อมูลดังกล่าว  

ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.95-34.35 บาท/ดอลลาร์ (ระวังความผันผวนในช่วงตลาดรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ)

#บาทแข็ง #เงินตรา #ข่าววันนี้ #กรุงไทย #สยามรัฐ #สยามรัฐออนไลน์ #ราคาน้ำมัน