ลานบ้านกลางเมือง/บูรพา โชติช่วง : ก.วัฒนธรรมชวนคนไทยฉลอง “ต้มยำกุ้ง – เคบายา” มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ
จากที่มีการประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลเพื่อการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งที่ 19 (The nineteenth session of the Intergovernmental Committee for the Safeguarding of the Intangible Cultural Heritage: IGC) ระหว่างวันที่ 3 – 5 ธันวาคม 2567 ณ นครอซุนซิออน (Asuncion) สาธารณรัฐปารากวัย ได้มีมติเห็นชอบประกาศให้ “ต้มยำกุ้ง” (Tomyum Kung) ของประเทศไทย และเคบายา Kebaya (ขึ้นร่วม 5 ประเทศอาเซียน) ขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity: RL) องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ประจำปี 2567
มาดูข้อมูลการขึ้นทะเบียนรายการ ต้มยำกุ้ง (Tomyum Kung) ของประเทศไทย เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ หลังจากที่ต้มยำกุ้งได้รับการประกาศขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2554 ในสาขาความรู้และการปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล ประเภทอาหารและโภชนาการ ต่อมามติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2564 เห็นชอบให้กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม(สวธ.) เสนอขอขึ้นทะเบียน “ต้มยำกุ้ง” (Tomyum Kung) เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ค.ศ. 2003 ของยูเนสโก
ส่วน เคบายา (Kebaya) ขึ้นร่วม ประเทศมาเลเซียได้เชิญประเทศไทยเข้าร่วมการเสนอเอกสารขอขึ้นทะเบียนร่วม (Multi - national nomination) “เคบายา” (Kebaya) ในรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ร่วมกับประเทศบรูไน ดารุสซาลาม, อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ โดยใช้ชื่อ ที่เสนอต่อยูเนสโกว่า Kebaya : knowledge, skills, tradition and practices หรือ เคบายา : ความรู้ ทักษะ ประเพณี และการปฏิบัติ
ข้อมูลทั่วไป เคบายา เป็นเสื้อสตรีผ่าหน้า มีการฉลุหรือปักลวดลาย มักสวมใส่ในโอกาสสำคัญทางวัฒนธรรมประเพณี เช่น งานมงคลสมรส งานบวช งานเลี้ยงสังสรรค์ เป็นต้น เคบาย่าถือเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมร่วมกันของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย บรูไน สิงคโปร์ และบริเวณภาคใต้ของไทยในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต พังงา ระนอง กระบี่ ตรัง และสตูล สำหรับประเทศไทย เคบาย่าปรากฏอยู่ในเนื้อหาของรายการ “การแต่งกายบาบ๋า - เพอรานากัน” ขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2555 สาขาแนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรมและงานเทศกาล ประเภทขนบธรรมเนียมประเพณี
สำหรับประเทศไทยมีรายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ได้รับการขึ้นทะเบียนรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติจากยูเนสโกแล้ว จำนวน 4 รายการ ได้แก่ โขน นวดไทย โนรา และประเพณีสงกรานต์ในประเทศไทย โดยต้มยำกุ้ง (Tomyum Kung) ถือเป็นรายการที่ 5 และเคบาย่า เป็นรายการที่ 6 ด้านวธ.โดยสวธ. เชิญชวนคนไทยร่วมฉลองต้มยำกุ้งไทย ระหว่างที่ 6 – 8 ธันวาคม 2567 ณ Quartier Avenue ชั้น G ศูนย์การค้า เอ็มควอเทียร์ โดยในวันที่ 6 ธ.ค. เวลา 18.00 น. มีการเปิดงานอย่างเป็นทางการ และการแสดงโชว์ชุดเคบายา