ร่วมสมัย/ชะมวง พฤกษาถิ่น : “ต้มยำกุ้ง” (Tomyum Kung) กับข้าวที่ขึ้นชื่อของประเทศไทยและมีชื่อเสียงระดับนานาชาติ ที่นักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยวเมืองไทยแล้วอยากลิ้มลองรสชาตต้มยำกุ้งสักครั้งหนึ่ง

ในครั้งนี้ “ต้มยำกุ้ง” ของไทย ถูกวางบนโต๊ะที่ประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลเพื่อการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งที่ 19 (The nineteenth session of the Intergovernmental Committee for the Safeguarding of the Intangible Cultural Heritage: IGC) ณ นครอซุนซิออน (Asuncion) สาธารณรัฐปารากวัย โดยเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม หรือตรงกับวันที่ 4 ธันวาคม 2567 ตามเวลาในประเทศไทย ได้มีมติเห็นชอบประกาศให้ “ต้มยำกุ้ง” (Tomyum Kung) ไทย ขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity: RL) องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ประจำปี 2567

มาดูข้อมูลการขึ้นทะเบียนรายการ ต้มยำกุ้ง (Tomyum Kung) ของประเทศไทย สังเขป เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ “ต้มยำกุ้ง” เป็น “กับข้าว” ที่คนในชุมชนเกษตรกรรมริมแม่น้ำในพื้นที่ภาคกลางของไทย นำวัตถุดิบทีมีอยู่ในชุมชนท้องถิ่นมาสร้างสรรค์เป็นอาหารเพื่อสุขภาพ โดยต้มยำกุ้ง คือชื่อเรียกที่เกิดจากการนำคำ 3 คำมารวมกันได้แก่ “ต้ม” “ยำ” และ “กุ้ง” ซึ่งหมายถึงกระบวนการทำอาหารที่นำเนื้อสัตว์ คือ กุ้ง ต้มลงในน้ำเดือดที่มีสมุนไพรซึ่งปลูกไว้กินเองในครัวเรือนอย่างข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด และปรุงรสจัดจ้านแบบยำให้มี รสเปรี้ยวนำด้วยมะนาว ตามด้วยรสเค็มจากเกลือหรือน้ำปลา รสเผ็ดจากพริก รสหวานจากกุ้ง และขมเล็กน้อยจากสมุนไพร

ต้มยำกุ้งเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่สะท้อนให้เห็นถึงวิถีการดำเนินชีวิตของผู้คน ที่มีความเรียบง่าย มีสุขภาวะทั้งกายและใจที่แข็งแรง รู้จักการพึ่งพาตนเองโดยพึ่งพิงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรอบตัว ปัจจุบันภูมิปัญญาการทำต้มยำกุ้งได้มีการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นอย่างต่อเนื่อง และแพร่กระจายไปยังพื้นที่อื่นอย่างกว้างขวางทั้งในประเทศและต่างประเทศ ก่อให้เกิดการสร้างสรรค์สูตรต้มยำกุ้งที่แปลกใหม่มากมาย เพื่อตอบสนองต่อสภาพทางภูมิศาสตร์ วิถีชีวิต และรสนิยมทางอาหารที่แตกต่างกันไปของคนกลุ่มต่างๆ “ต้มยำกุ้ง” มรดกภูมิปัญญากับข้าวไทย