จากกรณีผู้เสียหายแจ้งความว่าถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกลวงว่า มีการตรวจสอบข้อมูลพบชื่อของผู้เสียหายถูกนำมาใช้แอบอ้างเปิดบัญชี และนำมาใช้ทำธุรกิจผิดกฎหมาย ต่อมาจึงได้มีการโอนสายให้คุยกับบุคคลที่อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคาร และโอนสายต่อให้กับบุคคลที่อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ต่อมาผู้เสียหายรู้ตัวว่าโดนหลอก จึงมาแจ้งความร้องทุกข์ รวมความเสียหายกว่า 300 ล้านบาท ตามที่ข่าวเสนอไปแล้วนั้น
วันที่ 5 ธ.ค.67 ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า ที่ บช.สอท.พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบช.สพฐ.ตร.รรท.ผบช.สอท. กล่าวว่าสั่งการให้ พล.ต.ต.ชัชปัณฑกาณฑ์ คล้ายคลึง ผบก.สอท.1, พ.ต.อ.กฤช กัญชนะ ผกก.2 บก.สอท.1 ทำการสืบสวนเพื่อรวบรวมพยานหลักฐาน และออกหมายจับผู้ร่วมขบวนการดังกล่าว
ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจไซเบอร์ กก.2 บก.สอท.สืบสวนทราบว่าผู้ร่วมขบวนการ ที่รับบทเป็นเจ้าหน้าที่คอลเซ็นเตอร์สาย 1 และสาย 2 ได้เดินทางกลับมายังประเทศไทย พ.ต.อ.กฤช กัญชนะ ผกก.2 บก.สอท.1 จึงสั่งการให้ พ.ต.ต.ชัยโชติ ศรีวรขาน สว.กก.2 บก.สอท.2 พร้อมเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวน ร่วมกันวางแผนจับกุม จนสามารถจับกุมตัว นางสาวลีลาวดี อายุ 30 ปี ชาว จ.อุบลราชธานี ตามหมายจับของศาลอาญา ที่ 4749/2567 ลงวันที่ 27 ก.ย.67 และ นายเจษฎา อายุ 31 ปี ชาว จ.กรุงเทพมหานคร ตามหมายจับของศาลอาญา ที่ 4748/2567 ลงวันที่ 27 ก.ย.67 ในข้อหา “ร่วมกัน ฉ้อโกงประชาชน และโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน และฟอกเงิน” โดยจับกุมตัวได้ที่บริเวณริมฟุตบาทใต้สะพานพระพุทธยอดฟ้า แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี จ.กรุงเทพมหานคร
เบื้องต้นผู้ต้องหาให้การว่าทำหน้าที่รับสายโทรศัพท์ โดยนางสาวลีลาวดี หลอกเป็นสายแรก โดยอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคารพบว่ามีการเบิกถอนเงินแบบไม่ถูกต้อง และส่งต่อให้ นายเจษฎา เป็นหัวหน้าสายที่ 2 อ้างว่าตนเองเป็นตำรวจ ยศร้อยตำรวจโท สังกัด สภ.เมืองมุกดาหาร พร้อมเปิด video call คุยกับผู้เสียหาย
เจ้าหน้าที่ตำรวจขยายผลพบว่าเครือข่ายแก๊งคอลเซนเตอร์ที่อยู่ในฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน ต่อมาได้ดำเนินการติดต่อประสานงานไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อจะปฏิบัติการทลายแก๊งคอลเซนเตอร์ดังกล่าว จากการสืบสวนพบคนไทยทำงานเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์จำนวนมาก