ปภ. ลุยงานเชิงรุก ประชุมส่วนหน้าที่นราธิวาส สั่งเตรียมพร้อม ป้องกัน และช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยภาคใต้ ต้องรวดเร็ว และอำนวยความสะดวกให้ประชาชนถึงที่สุด

วันที่ 5 ธ.ค.67 เวลา 10.30 น. นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พร้อมด้วยนายสหรัฐ วงศ์สกุลวิวัฒน์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และทีม ปภ. ส่วนหน้า ร่วมประชุมกองอำนวยป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (ส่วนหน้า) ซึ่งจัดตั้งขึ้นที่จังหวัดนราธิวาส โดยมีว่าที่ร้อยตรีตระกูล โทธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมเพื่อติดตามสถานการณ์น้ำท่วมและการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส 

นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดี ปภ. เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ความกดอากาศสูงกำลังปานกลางถึงค่อนข้างแรงระลอกใหม่จากประเทศจีน ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ ด้วยความห่วงใยจากรัฐบาล กระทรวงมหาดไทย โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทำมหาดไทย จึงให้กรม ปภ. จัดตั้งส่วนหน้ากองอำนวยป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (ส่วนหน้า) ขึ้นที่จังหวัดนราธิวาสเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติในพื้นที่ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ 
 
กรม ปภ. ได้ติดตามสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตั้งแต่วันที่ 22 พ.ย. - 5 ธ.ค. 67 ได้เกิดสถานการณ์อุทกภัย น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากในหลายพื้นที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างใน 10 จังหวัดภาคใต้ (ชุมพรสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ตรังสตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่ 5 จังหวัด (จ.นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส) รวม 22 อำเภอ 161 ตำบล 1,034 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 122,482 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 29 ราย 


      
สำหรับจังหวัดนราธิวาสเป็นจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยครอบคลุมทั้ง 13 อำเภอ โดยเฉพาะอำเภอที่มีพื้นที่ติดกับแม่น้ำสายหลัก คือ แม่น้ำโกง-ลก แม่น้ำบางนราและแม่น้ำสายบุรี ขณะนี้จังหวัดนราธิวาสได้ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยและประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติในกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) ทั้ง 13 อำเภอ รวม 77 ตำบล ในส่วนของการให้ความช่วยเหลือ กรม ปภ. ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ส่งเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการและเครื่องจักรกลสาธารณภัยจากศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต จำนวน 4 ศูนย์เขต ได้แก่ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 3 ปราจีนบุรี เขต 12 สงขลา เขต 16 ชัยนาท และเขต 18 ภูเก็ต ซึ่งสามารถช่วยเหลือพื้นที่ให้สามารถบริหารจัดการปัญหาน้ำท่วมได้ดียิ่งขึ้น 

ปัจจุบันแม้ว่าสถานการณ์ในหลายพื้นที่เริ่มคลี่คลายแล้ว แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้มีการแจ้งเตือนให้เฝ้าระวังสถานการณ์ฝนตกในพื้นที่ภาคใต้เป็นระยะ ทั้งในห้วงสัปดาห์นี้จนถึงวันที่ 11 ธ.ค. 67 โดย จ.นราธิวาส มีพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังสถานการณ์อุทกภัยทั้ง 13 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองฯ อ.ศรีสาคร อ.เจาะไอร้อง อ.แว้ง อ.บาเจาะ อ.ยี่งอ อ.ระแงะ อ.รือเสาะ อ.จะแนะ อ.สุคิริน อ.สุไหงโก-ลก อ.สุไหงปาดี และอ.ตากใบ 

นายภาสกร กล่าวว่า จากการบินตามเส้นทางบิน ก็ได้เห็นว่าสถานการณ์น้ำท่วมที่จังหวัดนราธิวาสเริ่มคลี่คลายลงบ้างแล้ว แต่ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่การเกษตรบางจุด อย่างไรก็ตามในช่วงอาทิตย์ถัดไปจากการจำลองโมเดลคาดว่าจะมีหย่อมความกดอากาศต่ำผ่านเข้ามา ทำให้ภาคใต้ตอนล่างได้รับผลกระทบจากปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้น ด้วยความห่วงใยพี่น้องประชาชน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้สั่งการให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยตั้งกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (ส่วนหน้า) ที่ภาคใต้ในจังหวัดนราธิวาส เพื่อประสานการเผชิญเหตุและกำชับให้เร่งช่วยเหลือประชาชนโดยเร็ว โดยเฉพาะการช่วยเหลือเยียวยาตามมติคณะรัฐมนตรีครัวเรือนละ 9,000 บาท จำนวน 5 แสนกว่าครัวเรือน ภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขเดียวกับกับช่วยเหลือประชาชนเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาซึ่งขณะนี้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้เร่งดำเนินการในขั้นตอนการสำรวจความเสียหายเพื่อจ่ายเยียวยาผู้ประสบภัย โดยทำคู่ขนานกันไปในช่วงที่เกิดถานการณ์ เพื่อให้เงินช่วยเหลือถึงมือประชาชนให้ได้โดยเร็ว

"สาธารณภัยปัจจุบันมีแนวโน้มเกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรง ภัยธรรมชาติแม้ว่าไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้  แต่จุดมุ่งหมายของ ปภ. คือ เราไม่ต้องการเกิดผลกระทบจากสาธารณภัยที่รุนแรง เราต้องการลดความรุนแรงจากการเกิดสถานการณ์ต่างๆ  เพื่อให้พี่น้องประชาชนมีความปลอดภัย และลดความเสียหายให้ได้มากที่สุด ดังนั้น หัวใจหลักของ ปภ. คือการแจ้งเตือนภัยที่รวดเร็ว แม่นยำ และทั่วถึง  ซึ่งในช่วงที่เกิดสถานการณ์ที่ผ่านมา ปภ.ได้ทำการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าผ่าน SMS ในพื้นที่ภาคใต้ ส่งในชื่อ DDPM  เพื่อแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยได้เตรียมรับสถานการณ์ ขนย้ายสิ่งของ และอพยพออกจากพื้นที่ รวมถึงจังหวัดก็ได้มีการแจ้งเตือนผ่านกลไกของจังหวัดทุกรูปแบบ และวันนี้ ทีม ปภ.จากส่วนกลาง ได้ตั้งส่วนหน้าที่จังหวัดนราธิวาส เพื่อประสานการทำงานร่วมกันกับจังหวัดภาคใต้ในการเตรียมพร้อมรับมือและการเผชิญเหตุสถานการณ์อุทกภัย รวมถึงเร่งขั้นตอนเยียวยาช่วยเหลือพี่น้องประชาชนผู้ประสบภัย"  อธิบดี ปภ. กล่าว/////