5 ธันวาคมเทิดพระเกียรติและน้อมรำลึกถึงพระอัจฉริยภาพทางดนตรีของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร กระทรวง อว.จัดงานดนตรีในสวน : H.M. Song อว. บรรเลงเพลงของพ่อทั่วประเทศ ส่วนกลางจัดที่อุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 5 - 7 ธ.ค.2567 ตั้งแต่เวลา 17.00 – 21.00 น. ขณะที่ส่วนภูมิภาคจัด 5 ธ.ค.เวลา 18.00 น.
เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) เป็นประธานในการแถลงข่าว เทศกาลส่งความสุข “อว.บรรเลงเพลงพ่อ เคล้าคลอหมู่ดาว” โดยมี ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวง อว. นายวันนี นนท์ศิริ ผู้ตรวจราชการกระทรวง อว. ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าร่วม ที่ห้องแถลงข่าวชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า สป.อว. (ถนนโยธี)
น.ส.ศุภมาส กล่าวว่า วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและเป็น “วันพ่อแห่งชาติ” และเป็น “วันชาติ” กระทรวง อว.จึงจัดงานดนตรีในสวน : H.M. Song อว. บรรเลงเพลงของพ่อ ประจำปี 2567 ทั่วประเทศ โดยงานจัดขึ้นเป็นปีที่ 4 เพื่อนำพลังด้านดนตรีที่มีศักยภาพและสุนทรียภาพอันโดดเด่นของแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศมาถ่ายทอดผ่านการจัดแสดงดนตรีบรรเลงบทเพลงพระราชนิพนธ์ในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ ซิมโฟนี ออร์เคสตรา ดนตรีคลาสสิก ดนตรีสากล ดนตรีไทย การแสดงนาฏศิลป์ท้องถิ่น การขับร้อง และการแสดงนาฏยลีลาร่วมสมัย พร้อมด้วยการจัดแสดงนิทรรศการเทิดพระเกียรติพระอัจฉริยภาพด้านการดนตรี ซึ่งได้มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 ทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อเทิดพระเกียรติพระอัฉริยภาพทางดนตรี ที่ทรงเป็นสังคีตกวีและนักดนตรีที่ชาวโลกยกย่อง ทรงพระปรีชาสามารถในการทรงดนตรี ทรงพระราชนิพนธ์เพลง แยกและเรียบเรียงเสียงประสาน ทรงเป็นครูสอนดนตรี ตลอดจนทรงเชี่ยวชาญในศิลปะแขนงต่าง ๆ อย่างแท้จริง สมกับที่พสกนิกรชาวไทยน้อมเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญา “อัครศิลปิน”
รมว.กระทรวง อว.กล่าวต่อว่า โดยส่วนกลางจัดที่อุทยาน 100 ปี ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่วันที่ 5 - 7 ธ.ค.2567 ตั้งแต่เวลา 17.00 – 21.00 น.โดยมีการแสดงดนตรีจาก 10 สถาบันอุดมศึกษา โดยวันที่ 5 ธ.ค.มีจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยวง Wind Symphony จากมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) วไลยอลงกรณ์ในพระบรมราชูปถัมภ์ วง Kasetsart Winds จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วง Jazz Ensemble จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.)ธัญบุรี วันที่ 6 ธ.ค.พบกับวง Percussion Ensembles จากสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา วงดนตรีสากลจากมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต วงดนตรีสากลแนวลูกทุ่งจาก มทร.กรุงเทพ และวันที่ 7 ธ.ค.พบกับวง Labha Land Symphonic Band จาก มรภ.เทพสตรี วง Wind Orchestra จากมหาวิทยาลัยศิลปากรและวง Brass Band จากมหาวิทยาลัยมหิดล นอกจากการแสดงดนตรีแล้วยังมีการแสดงโขนเทิดพระเกียรติตอน “พระรามตรวจพลยกรบ” การแสดงโดรนเฉลมิพระเกียรติ การแสดงนิทรรศการช่าง 10 หมู่ นิทรรศการเทิดพระเกียรติพระบิดาแห่งเทคโนโลยีไทยหรือ Digital Gallery กิจกรรมเวิร์คช็อป การออกร้านอาหารจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวง อว. บูธจำหน่ายสินค้าของนิสิตนักศึกษา เป็นต้น
น.ส.ศุภมาส กล่าวอีกว่า ส่วนในภูมิภาคจะจัดการแสดงดนตรีเทิดพระเกียรติจากสถาบันอุดมศึกษาในสังกัดกระทรวง อว. โดย อว. ส่วนหน้า ใน 63 จังหวัด ทั่วประเทศอย่างพร้อมเพรียงกันในวันที่ 5 ธ.ค.2567 โดยทั้งเวทีส่วนกลางและภูมิภาคจะร่วมกันร้องเพลงเทิดพระเกียรติ เพลงชาติในเวลา 18.00 น.จากนั้นเพลงสรรเสริญพระบารมี เพลงสดุดีจอมราชาและบทเพลงพระราชนิพนธ์ใกล้รุ่ง
“งานดนตรีในสวน : H.M. Song อว. บรรเลงเพลงของพ่อ จะอัญเชิญบทเพลงพระราชนิพนธ์ มาบรรเลงให้ประชาชนรับฟังและจัดแสดงอย่างพร้อมเพรียงกันทั่วประเทศ ในวันที่ 5 ธ.ค.เพื่อส่งมอบความสุขให้คนไทยทั่วประเทศผ่านบทเพลงพระราชนิพนธ์โดยฝีมือการบรรเลงของนิสิต นักศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษา ทั้งในรูปแบบวงซิมโฟนีออร์เคสตร้า วงดนตรีสากล วงดนตรีไทย วงดนตรีพื้นบ้าน โฟล์คซองฯลฯ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระปรีชาสามารถด้านดนตรีของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสืบสานบทเพลงพระราชนิพนธ์โดยคนรุ่นใหม่” น.ส.ศุภมาส กล่าว