บริษัท นิปปอนเพนต์ เดคโคเรทีฟ โคทติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตสีรายใหญ่อันดับ 1 ของเอเชีย และอันดับ 4 ของโลก จากประเทศญี่ปุ่น ร่วมกับกลุ่มบริษัทนิปปอนเพนต์ทั้ง 19 ประเทศ ทั่วเอเชีย ได้ร่วมกันดำเนินโครงการประกวดผลงานออกแบบในสาขาสถาปัตยกรรมและสาขาการออกแบบตกแต่งภายใน ระดับมหาวิทยาลัยภายใต้ชื่อ AYDA Awards ซึ่งจัดการประกวดอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 17 เพื่อกระตุ้นจิตสำนึกในเรื่องของการออกแบบที่คำนึงถึงผู้คน ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ผ่านหัวข้อการประกวดในทุกๆปี ได้เผยโฉม 2 สุดยอดนักออกแบบ ผู้ชนะการออกแบบด้านสถาปัตยกรรม (Architectural) และการออกแบบตกแต่งภายใน (Interior Design) ระดับมหาวิทยาลัย โครงการ AYDA Awards 2024
โดยปีนี้ นายชญานนท์ ชิณวงค์ หรือน้องนนท์ นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ จาก มหาวิทยาลัยขอนแก่น กับผลงาน “Grow from the earth….Return to the earth” และนายฌล วรดี หรือน้องฌล นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สาขาสถาปัตยกรรมภายใน จาก สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กับผลงาน “Food Waste Transformation Project Creating New Value for Tai Market” ชนะใจกรรมการ ตอบโจทย์คอนเซ็ปต์ในปีนี้ เป็นสองผู้ชนะคว้ารางวัลชนะเลิศ Gold Winner ในสาขาสถาปัตยกรรมและสาขาออกแบบตกแต่งภายใน รับรางวัลเงินสดมูลค่า 100,000 บาท
สำหรับในปีนี้มีความพิเศษยิ่งขึ้นไปอีก กับการมอบรางวัล A5 Best Design เป็นเงินสดมูลค่า 25,000 บาท โดยบริษัท แอสเซท ไฟว์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ให้แก่ผลงานการออกแบบของเยาวชนที่เน้นการพัฒนาพื้นที่ในชุมชนที่เปิดโอกาสให้ผู้คนในชุมชนได้ใช้พื้นที่ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน พร้อมด้วยโปรแกรมออกแบบ SketchUp Studio Education Software 2024 เป็นเวลา 1 ปี กลับบ้านไปได้อย่างสมศักดิ์ศรี โดยสองผู้ชนะจากประเทศไทยจะเตรียมความพร้อมมุ่งสู่การแข่งขัน AYDA AWARDS International Summit 2025 ที่ประเทศญี่ปุ่น ร่วมกับผู้ชนะจากอีก 19 ประเทศ เพื่อชิงโอกาสเข้าอบรมหลักสูตรพิเศษ Design Discovery Program ที่มหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก Harvard Graduate School of Design สหรัฐอเมริกา เพื่อเก็บเกี่ยวความรู้ด้านการออกแบบอย่างเข้มข้นเป็นเวลาร่วม 1 เดือน รวมมูลค่าทั้งสิ้น 300,000 บาท โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
การประกวด AYDA Awards 2024 ในปีนี้ จัดขึ้นภายใต้คอนเซ็ปต์ "Converge: Glocal Design Solutions" หรือ “การรวมกันเป็นหนึ่งจากแนวคิดวิถีท้องถิ่นสู่ระดับโลก” เป็นการบรรจบกันของแนวคิดท้องถิ่น-ระดับโลก สู่งานออกแบบเพื่อแก้ปัญหา โดยจุดมุ่งหมายที่สำคัญและความท้าทายของโจทย์ในปีนี้คือ การออกแบบเพื่อช่วยแก้ปัญหาของสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันและรุนแรง อันประกอบไปด้วย การจัดสรรพื้นที่ให้เกิดความคุ้มค่าต่อชุมชนและสังคม (Social) มากที่สุด เพื่อส่งเสริมให้ในเมืองและท้องถิ่นสามารถปรับตัวต่อการเติบโตของสังคมเมือง (Urban) อย่างก้าวกระโดด ที่อาจส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม (Environment) การออกแบบที่เชื่อมโยงธรรมชาติและผู้คนเข้าด้วยกัน ช่วยส่งเสริมความเป็นอยู่ รวมถึงการอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างสอดคล้องลงตัว ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้ล้วนเป็นสถานการณ์โลกที่นักออกแบบไม่อาจนิ่งเฉยต่อการเปลี่ยนแปลงได้ น้องนนท์ และน้องฌล ต่างก็สามารถสร้างสรรค์ผลงานการออกแบบผ่านกระบวนการคิด และเดินหน้าทำความเข้าใจปัญหาของผู้ใช้งานได้อย่างลึกซึ้ง ดึงความต้องการ ความจำเป็น และปัญหาของผู้ใช้งาน มานำเสนอเป็นโซลูชันงานออกแบบที่ผสานทั้งด้านศิลปะ นวัตกรรม และเทคโนโลยี เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต ตอบโจทย์ความต้องการผู้ใช้งานได้อย่างรอบด้าน ตรงตามคอนเซ็ปต์การแข่งขันในปีนี้ โดยทั้งสองยังมองว่าความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ย่อมเกิดจากการออกแบบที่ส่งเสริมความสมดุลระหว่างมนุษย์ สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยี เพื่อให้ผู้คนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างไร้ขีดจำกัด
โดยผลงาน “Grow from the earth….Return to the earth” ของน้องนนท์ ได้เกิดจากการมองเห็นปัญหาสิ่งแวดล้อมจากฝุ่น pm2.5 จากการกระบวนการผลิตน้ำตาลที่ได้จากอ้อย ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจโลก แต่ไม่ได้รับการจัดการทรัพยากรและวัสดุเหลือทิ้งที่ถูกต้อง ทำให้เกิดมลภาวะทางอากาศที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น จึงเป็นที่มาของผลงาน “Grow from the earth….Return to the earth” ที่รวบรวมผลงานวิจัยที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับการแปรรูปของเสียจากกระบวนการผลิตน้ำตาลให้สามารถนำมาแปรรูปเป็นหนึ่งในวัสดุก่อสร้างสำหรับงานสถาปัตยกรรม กลับคืนสู่ชุมชน อาทิ อิฐบล็อกจากกากอ้อยที่มีคุณสมบัติเทียบเท่าคอนกรีต ใช้ในการซ่อมแซมพัฒนาบ้านเรือนและสิ่งก่อสร้างของผู้คนในชุมชน อีกทั้งยังเป็นการให้ความรู้และสร้างการมีส่วนร่วมในการลดมลพิษทางอากาศ และลดภาวะโลกร้อน ด้วยความร่วมแรงร่วมใจจากจุดเล็กๆ ของคนในชุมชน สู่การแก้ปัญหาในระดับโลก
นายชญานนท์ ชิณวงค์ หรือน้องนนท์ นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ จาก มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้ชนะ Gold Winner Architectural กล่าวว่า “จากการมองเห็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะ pm2.5 รวมถึงการได้มีโอกาสสัมผัสวิถีชุมชนคนทำน้ำอ้อยก้อน บ้านหนองแข้ ตำบลจุมจัง อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ บ้านเกิดของผม ทำให้เห็นปัญหาการกำจัดของเสียจากอ้อย ซึ่งเป็นปัญหาที่สะสมและส่งผลกระทบเป็นวงกว้างในระดับโลก กลายเป็นที่มาของงานออกแบบสถาปัตยกรรม “Grow from the earth….Return to the earth” โดยปีนี้ผมได้นำบทเรียนจากการแข่งขันเมื่อปีที่แล้ว มาค้นคว้าข้อมูล ลงพื้นที่ อ่านบทวิจัย และรวบรวมคำแนะนำจากคณะกรรมการ มาสร้างสรรค์งานออกแบบเพื่อส่งผลงานเข้าประกวดโครงการ AYDA อีกครั้ง ผมทุ่มเทกับการตีโจทย์ และการนำเสนอผลงานในครั้งนี้อย่างเต็มที่ เพื่อหาวิธีแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในชุมชนเพื่อผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมในที่สุด ครั้งนี้ผมทำสำเร็จแล้ว ต้องขอขอบคุณเวทีการประกวด AYDA โดยบริษัทนิปปอนเพนต์ เดคโคเรทีฟ โคทติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ที่เปิดโอกาสให้นักออกแบบรุ่นใหม่อย่างผมได้กลับมานำเสนอผลงานอีกครั้ง สำหรับคนที่พลาดโอกาสหรือผลงานยังไม่เข้าตากรรมการ อย่าเพิ่งยอมแพ้ ขอให้นำคำแนะนำจากคณะกรรมการและความรู้ที่ได้จากการประกวดในครั้งนี้กลับมาพัฒนาไอเดีย เพื่อต่อยอดอาชีพนักออกแบบของพวกเรา
ด้านผลงาน “Food Waste Transformation Project Creating New Value for Tai Market” ของน้องฌล มีจุดเริ่มต้นจากการเล็งเห็นปัญหาที่พบทั่วไปในตลาดสด ที่มักจะมีพืชผลทางการเกษตรเหลือทิ้งมากมาย จึงเกิดแรงบันดาลใจในการคิดต่อยอดว่า จะนำของเหลือทิ้งเหล่านี้มาทำอะไรที่เป็นประโยชน์ได้บ้าง ผลงานของน้องฌล คือการออกแบบพื้นที่แปรรูปเศษพืชผักเหลือทิ้ง ผ่านสถาปัตยกรรมการออกแบบภายใน เป็นการถนอมอาหารด้วยวิธีหมักดอง ตากแห้ง ตลอดจนการนำไปผลิตเป็นวัสดุต่างๆ เพื่อนำร่องโมเดลตลาดสด และขยายต่อไปยังพื้นที่อื่นๆได้
นายฌล วรดี หรือน้องฌล นักศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สาขาสถาปัตยกรรมภายใน จาก สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ผู้ชนะ Gold Winner Interior Design กล่าวว่า “ผมรู้สึกทั้งกดดันและตื่นเต้นมาก และไม่คิดว่าจะได้เข้ารอบลึกขนาดนี้ ถึงแม้จะมั่นใจในผลงานของตนเอง แต่ก็ต้องยอมรับข้อบกพร่องที่คณะกรรมการมองเห็น ครั้งนี้ผมได้กำลังใจและแรงสนับสนุนจากอาจารย์และเพื่อนๆ รวมทั้งแนวคิดจากคณะกรรมการที่สามารถนำไปพัฒนาต่อได้ ความเชื่อของผมที่ว่าการแก้ไขปัญหาร่วมกันแม้เพียงเล็กน้อย ก็ทำให้โลกน่าอยู่ขึ้นได้ เป็นที่มาของผลงานการออกแบบ “Food Waste Transformation Project Creating New Value for Tai Market” ที่ต้องตีโจทย์การออกแบบจากปัญหาเล็กๆในชุมชน เพื่อมุ่งสู่การเป็นนักออกแบบที่แก้ไขปัญหาในระดับโลก ฝากถึงเพื่อนๆ ที่เตรียมตัวเข้าร่วมเวทีการประกวด AYDA ในปีต่อๆไป ขอให้มองปัญหาใกล้ตัว ที่ผู้คนต่างเผชิญร่วมกันในระดับโลก แล้วหาวิธีแก้ไขปัญหาที่คนในชุมชนสามารถร่วมมือกันได้ ผมพร้อมแล้วที่จะพัฒนาและปรับปรุงผลงาน เพื่อเป็นตัวแทนประเทศไทย ในการแข่งขันในรอบการประกวดนานาชาติ”
นายวัชระ ศิริฤทธิชัย ผู้จัดการทั่วไป บริษัท นิปปอนเพนต์ เดคโคเรทีฟ โคทติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวสรุปว่า “ตลอดระยะเวลา 17 ปีที่ดำเนินโครงการ AYDA Awards 2024 นิปปอนเพนต์ได้บ่มเพาะนักออกแบบรุ่นใหม่ให้แก่วงการนักออกแบบมากมาย ควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงปัญหาของมนุษย์เป็นหลัก และการสร้างประโยชน์อย่างยั่งยืนให้แก่สังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงพัฒนานวัตกรรมสีที่มีคุณภาพสูงให้แก่ลูกค้าทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง นิปปอนเพนต์มั่นใจว่าทั้งน้องนนท์ และน้องฌล รวมไปถึงนักออกแบบทุกท่านที่เข้าร่วมการประกวด AYDA Awards 2024 จะเติบโตและก้าวไปเป็นนักออกแบบรุ่นใหม่ที่แสดงความสามารถอันเป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างไร้ขีดจำกัด สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับวงการออกแบบของไทยและในระดับสากล พร้อมทั้งสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นประโยชน์ให้แก่สังคมและชุมชนได้อย่างยั่งยืน”
สองนักออกแบบรุ่นใหม่ผู้คว้ารางวัล Gold Winners จะต้องเตรียมตัวและเตรียมผลงานให้พร้อม เพื่อเป็นตัวแทนประเทศไทยในการเข้าร่วมกิจกรรม AYDA AWARDS International Summit 2025 ที่ประเทศญี่ปุ่นในลำดับต่อไป เพื่อร่วมชิงตำแหน่ง AYDA AWARDS of The Year ร่วมติดตามเส้นทางการแข่งขันและส่งกำลังใจให้พวกเขาทั้งสองได้ที่ Facebook Page: https://www.facebook.com/AsiaYoungDesignerAwardsThailand หรือที่เว็บไซต์ www.asiayoungdesignerawards-th.com