วันที่ 5 ธ.ค.67 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวง พม. ดำเนินการขับเคลื่อนศูนย์บริหารการดูแลกลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติ (ศบปภ.) หรือ Disaster Care Center for the Vulnerable (DCCV) เพื่อให้ความช่วยเหลือ ดูแล และเยียวยากลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติ ในช่วงที่เกิดสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้หลายจังหวัด ซึ่งได้รับรายงานสถานการณ์ภัยพิบัติในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ จาก ศบปภ. ระบุว่า ทีม พม.หนึ่งเดียวจังหวัดยะลา ได้ร่วมกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายเเดนภาคใต้ ลงพื้นที่เยี่ยมให้กำลังใจและมอบถุงยังชีพที่ได้รับการสนับสนุนจาก UNICEF แก่เด็กแรกเกิด และมอบแผ่นรองซับสำหรับผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียงที่ประสบอุทกภัย อีกทั้งร่วมจัดทำอาหารกล่อง เพื่อเเจกจ่ายเเก่ผู้ประสบอุทกภัย โดยได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทยที่สถานสงเคราะห์เด็กชายจังหวัดยะลา
นอกจากนี้ ทีม พม.หนึ่งเดียว จังหวัดนครศรีธรรมราช ลงพื้นที่เยี่ยมให้กำลังใจแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิตจากอุทกภัย โดยเบื้องต้นได้สอบข้อเท็จจริง เพื่อนำไปวางแผนการให้ความช่วยเหลือต่างๆ ต่อไป
และ ทีม พม.หนึ่งเดียว จังหวัดสงขลา เจ้าหน้าที่ได้ลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมบ้านของกลุ่มเปราะบางเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง และร่วมวางแผนให้ความช่วยเหลือ โดยบางครอบครัวบ้านพังเสียหายทั้งหลัง จะได้ให้ความช่วยเหลือเรื่องการซ่อมแซมให้มีที่อยู่อาศัยชั่วคราว นอกจากนี้ยังได้ลงพื้นที่มอบของเครื่องอุปโภคบริโภคให้กับกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่อำเภอเทพา อำเภอจะนะ และแจกจ่ายข้าวกล่องน้ำดื่มให้แก่ประธานชุมชน ประธานอพม. หลายชุมชนในพื้นที่ตำบลบ่อยางอำเภอเมืองสงขลา
"ขอส่งกำลังใจให้กับพี่น้องประชาชนโดยเฉพาะเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติดังกล่าว และขอขอบคุณข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และอาสาสมัครทุกภาคส่วนที่ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ หากพี่น้องประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) โทร. 1300 สายด่วน พม. แต่อย่างไรก็ตามได้กำชับเจ้าหน้าที่ทุกพื้นที่ เฝ้าระวัง ติดตาม สภาพพูมิอากาศจากประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิดด้วย" นายวราวุธ กล่าว
จากข้อมูลกลุ่มเปราะบาง (ระบบสมุดพกครัวเรือน หรือ MSO-Logbook) ณ วันที่ 15 พฤศจิกายน - 4 ธันวาคม 2567 พบว่า มีพื้นที่ผลกระทบจากภัยพิบัติ 9 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสงขลา ยะลา นราธิวาส ปัตตานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สุราษฎร์ธานี สตูล และตรัง ใน 43 อำเภอ 308 ตำบล 1,850 หมู่บ้าน 305,663 ครัวเรือน ซึ่งมีกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ 104,505 ครัวเรือน จำนวน 112,370 ราย ประกอบด้วยเด็ก 36,852 ราย เยาวชน 14,891 ราย คนพิการ 8,358 ราย ผู้สูงอายุ 43,520 ราย และผู้มีรายได้น้อย 8,749 รายอีกทั้ง ได้เกิดผลกระทบต่อกระทรวง พม. พบว่า มีหน่วยงานของ พม. ที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 14 แห่ง เจ้าหน้าที่ จำนวน 274 คน และอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) จำนวน 5,944 คน
นายวราวุธ กล่าวว่า กระทรวง พม. โดยทีม พม.หนึ่งเดียว ทั้ง 9 จังหวัดภาคใต้ที่ประสบภัยพิบัติ ได้ให้การช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายของกระทรวง พม. ที่ได้ผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้ดำเนินการช่วยเหลือไปแล้ว จำนวน 13,098 ราย โดยการช่วยเหลือของกระทรวง พม. ได้แก่ 1) มอบเงินสงเคราะห์ 63 ราย 2) ปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ 2 ราย 3) จัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราวในหน่วยงานของกระทรวง พม. ได้แก่ ศูนย์พัฒนาการจัดการสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านทักษิณจังหวัดยะลา บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดสงขลา ยะลา และปัตตานี และศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดยะลา 4) จัดตั้งโรงครัว พม. 10 แห่ง ที่จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส และ 5) ลงพื้นที่เยี่ยมให้กำลังใจกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบ 13,098 ราย พร้อมมอบชุดเครื่องนอนสำหรับผู้สูงอายุ 10 ชุด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น และให้คำปรึกษาแนะนำเรื่องบริการสิทธิสวัสดิการสังคมที่จะได้รับการช่วยเหลือตามภารกิจกระทรวง พม.
ขณะเดียวกัน ได้ประสานความร่วมมือการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ อาทิ 1) ร่วมกับจังหวัดในการจัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว 441 แห่ง มีผู้อพยพ 37,424 คน โดยร่วมบริหารส่วนพักพิงชั่วคราว ดูแลกลุ่มเปราะบาง จัดสรรทรัพยากรที่จำเป็น และจัดกิจกรรมสันทนาการเพื่อผ่อนคลาย 2) ร่วมกับมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ มอบสิ่งของพระราชทาน จำนวน 5,150 ชุด 3) มอบเครื่องอุปโภคบริโภค จำนวน 2,337 ชุด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น 4) ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดทำอาหารกล่อง 19,300 กล่อง และมอบน้ำดื่ม 10,717 แพ็ค 5) ร่วมขอรับการสนับสนุนเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็น อาหาร และน้ำดื่ม และ 5) ประสานโรงพยาบาลในการลงพื้นที่ตรวจสุขภาพกลุ่มเปราะบาง