เนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคม 2567 ขอน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ในด้านงานระบายน้ำและบรรเทาสภาพน้ำเสียในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จึงเกิดโครงการบำบัดน้ำเสียบึงมักกะสันอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานพระราชดำริ เมื่อวันที่ 15 เมษายน และวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2528 ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมปรับปรุงบึงมักกะสัน เพื่อช่วยระบายน้ำและบรรเทาสภาพน้ำเสียในคลองสามเสน โดยใช้รูปแบบ “เครื่องกรองน้ำธรรมชาติ” ความตอนหนึ่งว่า “...บึงมักกะสันนี้ ทำโครงการที่เรียกว่าแบบคนจน โดยใช้หลักว่าผักตบชวาที่มีอยู่ทั่วไปนั้น เป็นพืชดูดความโสโครกออกมาแล้วก็ทำให้น้ำสะอาดขึ้นได้ เป็นเครื่องกรองธรรมชาติใช้พลังงานแสงอาทิตย์และธรรมชาติของการเติบโตของพืช...”
โครงการบำบัดน้ำเสียบึงมักกะสัน เกิดจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของบึงมักกะสันในการระบายน้ำและบำบัดน้ำเสีย โดยมีแนวคิดใช้ผักตบชวาเป็นพืชหลักในการดูดซับสิ่งสกปรกในน้ำ
ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ระบุว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 เริ่มมีพระราชดำริ เมื่อวันที่ 15 เมษายน และวันที่ 20 เมษายน 2528 เนื่องจากบึงมักกะสันเป็นบึงขนาดใหญ่กลางกรุงเทพมหานคร เริ่มขุดในปี พ.ศ. 2474 โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อใช้เป็นแหล่งระบายน้ำและรองรับน้ำเสียจากโรงงานรถไฟมักกะสัน ทำให้บึงมักกะสันตื้นเขิน มีการตกตะกอนของสารแขวนลอย ตลอดจนรอบบึงเป็นที่อยู่อาศัยของชุมชน 729 ครัวเรือน มีการถ่ายสิ่งปฏิกูลและขยะมูลฝอยลงสู่บึง เกิดปัญหาน้ำเน่าเสีย เป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค
นายศุภมิตร ลายทอง รองผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ เปิดเผยว่า สำนักการระบายน้ำ มีการเผยแพร่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำเสีย โครงการบึงมักกะสัน โดยการปรับปรุงบึงมักกะสันเพื่อใช้ประโยชน์ในการรองรับน้ำ ป้องกันน้ำท่วม และกรองน้ำเสียจากคลองสามเสน โดยมีภารกิจหลัก คือ ช่วงหน้าแล้ง ใช้วิธีกรองน้ำเสียด้วยผักตบชวา พร้อมขุดลอกบึงและติดตั้งเครื่องเติมอากาศ ในช่วงหน้าน้ำ จะเก็บกักน้ำและระบายน้ำ ส่วนภารกิจรอง คือ นำผักตบชวาไปทำปุ๋ยหมัก ทำเชื้อเพลิง รวมถึงปลูกพืชน้ำอื่น ๆ และเลี้ยงปลา ที่สำคัญมีการก่อสร้างคันดินรอบบึงมักกะสัน ก่อสร้างประตูระบายน้ำ สถานีสูบน้ำ พร้อมอาคารรับน้ำเข้าสู่อุโมงค์บึงมักกะสัน และขุดลอกบึงเพื่อใช้เป็นพื้นที่รองรับน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วม ปัจจุบัน กทม.มีหน่วยจัดเก็บผักตบชวา จัดเก็บขยะ และดูแลรักษาความสะอาดภายในบึงมักกะสันและแหล่งน้ำต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานคร
สำหรับแนวทางการบำบัดน้ำเสียภายในบึง ข้อมูลจาก กปร. ระบุว่า ใช้วิธีขุดบ่อดินลึก 1.5-2 เมตร ในที่แดดส่องถึง โดยสูบน้ำจากคลองสามเสนเข้าบึงทางหนึ่ง และสูบน้ำออกจากคลองสามเสนอีกทางหนึ่ง ระยะห่างกัน 100-200 เมตร หรือฝังท่อระบายน้ำออกทางระบายน้ำอโศก-ดินแดง โดยให้มีผักตบชวาอยู่กลางบึง เพื่อกรองน้ำเสีย สามารถบำบัดน้ำเสียได้วันละ 30,000 – 100,000 ลูกบาศก์เมตร รวมถึงมีการติดตั้งเครื่องเติมอากาศแบบทุ่นลอยร่วมด้วย ทำให้สามารถบำบัดน้ำเสียได้ วันละ 260,000 ลูกบาศก์เมตร โดยหน้าที่ของผักตบชวาคือการดูดซึมสารพิษและโลหะหนักในน้ำ จากการศึกษาพบว่า ผักตบชวามีการเจริญสูงสุดภายหลังการปลูก 16-17 สัปดาห์ จึงควรเปลี่ยนถ่ายผักตบชวาทุก ๆ 10 สัปดาห์
นอกจากนี้ยังใช้สาหร่ายและแบคทีเรียร่วมด้วย ตามหลักการ สาหร่ายจะสังเคราะห์แสงในเวลากลางวันโดยใช้คาร์บอนไดออกไซด์ในน้ำและแสงแดด เพื่อนำคาร์โบไฮเดรตไปสร้างเซลล์ใหม่ กระบวนการนี้มีส่วนทำให้เกิดออกซิเจน ซึ่งจะถูกแบคทีเรียนำไปใช้ในการย่อยสลายน้ำเสียต่อไป และผลของปฏิกิริยานี้ทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในการเติบโตของสาหร่ายหมุนวนต่อไป เป็นกระบวนการพึ่งพากันของพืชน้ำและแบคทีเรีย ดังนั้น จึงต้องค่อยควบคุมผักตบชวาไม่ให้บดบังแสงแดดมากเกินไป จนสาหร่ายและแบคทีเรียไม่สามารถเริ่มกระบวนการเติบโตได้
จากการทอลองประสิทธิภาพของระบบบำบัดน้ำเสียของบึงมักกะสันโดยวิธีดังกล่าว พบว่า สามารถลดค่า BOD ได้ระหว่าง 19-85% โดยเฉลี่ยได้ 51% มีประสิทธิภาพในการฟอกตัวด้านการกำจัด Total Coliform แบคทีเรีย และ FeCA Coliform แบคทีเรียเฉลี่ย 90% และ 98% ตามลำดับ ปัจจุบันกรุงเทพมหานครและการรถไฟแห่งประเทศไทย ร่วมเป็นหน่วยงานหลักในการใช้ประโยชน์ และดูแลรักษาบึงแห่งนี้ให้คงมีสภาพที่ดีต่อไป โดย กทม.ดำเนินการขุดลอกบึงและควบคุมผักตบชวา
นายศุภมิตร กล่าวว่า บึงมักกะสันเป็นแหล่งกักเก็บน้ำสำคัญของกรุงเทพมหานคร ปัจจุบันมีการก่อสร้างอุโมงค์บึงมักกะสันเพิ่มเติมเสร็จแล้ว สามารถระบายน้ำ 45 ลบ.ม./วินาที เส้นผ่านศูนย์กลางอยู่ที่ 4.60 ม. ความยาวประมาณ 5.98 กม. เริ่มรับน้ำจากอุโมงค์คลองขุดวัดช่องลมระบายออกแม่น้ำเจ้าพระยา ขณะนี้สำนักการระบายน้ำอยู่ระหว่างปรับปรุงและขุดลอกบึงมักกะสัน เช่น ปรับปรุงผนังเขื่อน เพิ่มปริมาณการกักเก็บน้ำมากขึ้น ติดตั้งเครื่องเติมออกซิเจนในน้ำ โดยบึงมักกะสันถือเป็นบึงหลักในการกักเก็บน้ำจากคลองสามเสน รวมถึง ย่านซอยโบสถ์พระแม่ฟาติมา (ดินแดง) ถนนศรีอยุธยา ถนนราชปรารภ ถนนจตุรทิศ ช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่เขตวัฒนา คลองเตย ปทุมวัน ราชเทวี พญาไท ห้วยขวาง และดินแดง ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 26 ตร.กม. ซึ่งต้องมีการดูแลบำรุงรักษาให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ ทั้งในด้านการระบายน้ำ กักเก็บน้ำ และการกรองน้ำเสียก่อนปล่อยสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ