"รมว.ดีอี" เผยอยู่ระหว่างดำเนินการถอนใบอนุญาต "ดิไอคอน" ชี้ขยายเวลาสอบ "เทวดาสคบ." ต้องได้ข้อสรุป ลั่นไม่มีมวยล้มแน่นอน ด้าน"แม่ข่าย" ธุรกิจดิไอคอน ขอความเป็นธรรม "อสส." เรียกร้อง 4 ข้อให้สอบพยานฝ่ายดิไอคอนด้วยวาจา อ้างไม่ได้ฉ้อโกง หลอกลงทุน ยันมีการซื้อขายสินค้าจริง และขอเจ้าหน้าที่ยกเลิกอายัดบัญชี ขณะที่ "สามารถ" วืดประกันอีก! หลังศาลอุทธรณ์สั่งยกคำร้องไม่ให้ประกันตัว ชี้คดีเป็นเรื่องร้ายแรง มูลค่าความเสียหายมาก พนักงานสอบสวนคัดค้านประกัน เกรงหลบหนี ยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน

 ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.67 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี)ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีความคืบหน้าการถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจขายตรงของบริษัท ดิ ไอคอน กรุ๊ป ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ โดยขณะนี้คดีดังกล่าว คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.)กำลังดำเนินการอยู่
 เมื่อถามถึงความคืบหน้าการตรวจสอบเจ้าหน้าที่สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวที่ขยายระยะเวลาออกไปอีก 30 วัน นายประเสริฐ กล่าวว่า ตนได้กำชับว่าการขยายเวลารอบนี้ จะต้องให้ได้ข้อสรุป ยืนยันว่าถ้าการตรวจสอบยังไม่จบ ต้องมีอะไรให้ประชาชนมั่นใจว่าดำเนินการไปถึงไหนแล้ว ต้องแจ้งประชาชน ยืนยันเรื่องนี้ไม่เป็นมวยล้มอย่างแน่นอน

 ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ศูนย์ราชการฯ  น.ส.อริยา ถีระแก้ว ตำแหน่งโกลด์ดีลเลอร์ บริษัท ดิ ไอคอน กรุ๊ป, น.ส.พนัชวรรณ์ ลอดสุโข ตำแหน่ง ซิลเวอร์ บริษัท ดิ ไอคอน กรุ๊ป และน.ส.ปราณิชพัชร์ วรกาญจน์ ตำแหน่งโกลด์ดีลเลอร์ บริษัท ดิ ไอคอน กรุ๊ป พร้อมกลุ่มตัวแทนจำหน่าย บริษัท ดิ ไอคอน กรุ๊ป ที่ได้รับผลกระทบ 100 คน เข้ายื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมถึง นายไพรัช พรสมบูรณ์ศิริ อัยการสูงสุด เรียกร้อง 4 ประเด็น โดยมี นายศักดิ์เกษม นิไทรโยค โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นตัวแทนรับหนังสือ
 น.ส.อริยา  เปิดเผยว่า ประเด็นแรก ขอเรียกร้องอยากให้อัยการสูงสุดสั่งให้ดีเอสไอสอบสวนพยานฝ่าย ดิไอคอน 1,444 ปากด้วยวาจา ไม่ใช่การลงบันทึกด้วยลายมือ เพราะการสอบด้วยวาจาจะมีความชัดเจนมากกว่า พร้อมนำรายชื่อพยานทั้งหมดมามอบให้กับอัยการสูงสุดด้วย ที่ผ่านมาเราสูญเสียรายได้ สูญเสียโอกาส ตอนนี้ทุกคนที่อยู่ต่างจังหวัด เราไม่สามารถเดินทางมาที่ ดีเอสไอ ที่กรุงเทพฯได้ทุกคน อยากให้อำนวยความสะดวกกับฝ่ายพยานของดิ ไอคอน ด้วย ได้ให้การตามที่อยู่ในแต่ละจังหวัดด้วย
 ข้อที่ 2 ธุรกิจของ ดิไอคอน ไม่ใช่การฉ้อโกงประชาชน เพราะตัวแทนจำหน่ายที่เป็นพยานฝ่าย ดิไอคอน สามารถจำหน่ายสินค้าได้ตามปกติ อยากให้คัดกรองผู้เสียหายทั้ง 9,000 คน ว่าใครเป็นผู้เสียหายที่แท้จริง บางคนตื่นตกใจว่า เป็นผู้เสียหายอย่างไร เพราะบางคนได้รับสินค้าไปแล้ว วันนี้เหมือนเป็นหนังคนละม้วน
 
ส่วน น.ส.พนัชวรรณ์ กล่าวว่า ข้อเรียกร้องข้อที่ 3 การเข้าตรวจค้นของดีเอสไอที่เห็นสภาพโกดังสินค้าว่างเปล่านั้น ความจริงแล้วมีการเรียกสินค้าของสมาชิกออกจากคลังสินค้ากว่า 5,933 ออเดอร์ไปก่อนวันที่เจ้าหน้าที่จะเข้าตรวจค้น โดยยืนยันว่าสินค้ามีจริงไม่ใช่สินค้าทิพย์อย่างใด โดยมีเอกสารมายืนยันว่ามีการเบิกสินค้าออกไปก่อนวันเข้าค้นจริง โดยสินค้ามี อย.ทั้ง 14 ตัว
     
   ขณะที่ น.ส.ปราณิชพัชร์ กล่าวว่า ข้อเรียกร้องที่ 4 ขอให้ช่วยเหลือในการปลดการอายัดบัญชีของตัวแทนจำหน่ายที่ได้รับผลกระทบจากการถูกดีเอสไอ อายัดบัญชี ทั้งที่บัญชีเงินเดือนไม่เกี่ยวข้องกับบริษัท ดิ ไอคอน บางคนโดนบัญชีเงินเดือน บางคนลูกต้องรักษาลูก ใช้บัตรเครดิตต้องจ่ายดอกเบี้ย เป็นความเดือดร้อนของคนที่ถูกอายัดบัญชี ตนโดนอายัดทั้งหมด 9 บัญชี แม้กระทำญาติตนโอนเงินมาให้กลับถูกอายัดบัญชีไปด้วย ทั้งที่ไม่ได้เกี่ยวข้อง อยากถามว่า ตนผิดอะไรถึงต้องทำขนาดนี้ ได้สอบถามไปแล้วเรื่องการปลดอายัดบัญชี แต่ยังไม่ได้คำตอบที่ชัดเจนว่าจะปลดเมื่อไหร่ บ้างว่า 90 วัน บ้างว่าอายัดจนกว่าคดีถึงที่สุด วอนสื่อเป็นกระบอกเสียงว่าจะปลดอายัดบัญชีให้เมื่อไหร่
 น.ส.ปราณิชพัชร์ กล่าวอีกว่า วันนี้พวกเรามาเพื่อยืนยันว่าพวกเราโอนเงินสั่งสินค้า ขายสินค้าให้ผู้บริโภค ตนไม่อาจบอกได้ว่า บริษัท ดิ ไอคอน ทำผิดหรือถูกกฎหมาย ทั้งนี้ยังไม่มีการตัดสินพวกเขายังคงเป็นผู้บริสุทธิ์ ขอความเป็นธรรม ให้ทั้ง 1 บริษัท และ 18 คน ให้ได้รับการประกันตัวออกมา

 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 2 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลได้อ่านคำสั่งขอปล่อยชั่วคราวของศาลอุทธรณ์ คดีนายสามารถ เจนชัยจิตรวณิช อดีตสมาชิกและรองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ ผู้ต้องหา คดีเรียกรับเงิน 2.5 ล้านบาท จาก นายวรัตน์พล วรัทย์วรกุล หรือ "บอสพอล" ประธานบริษัท ดิไอคอน กรุ๊ปจำกัด ในข้อหาร่วมกันฟอกเงินและสมคบกันฟอกเงิน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 5(1), (3) มาตรา 9 หลังจากที่ศาลอาญา มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว นายสามารถ ระหว่างฝากขัง เนื่องจากพฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง เกรงจะไปยุ่งกับพยานหลักฐาน และหลบหนี
 
ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นว่านายสามารถผู้ต้องหาที่ 2 ถูกกล่าวหาว่าร่วมกันฟอกเงินและสมคบกันฟอกเงินที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง ประชาชนซึ่งมีผู้เสียหายและมีมูลค่าความเสียหายจำนวนมาก กรณีเป็นเรื่องร้ายแรง ประกอบกับ พนักงานสอบสวนคัดค้านการปล่อยชั่วคราว ในชั้นนี้หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวมีเหตุอันควรเชื่อว่า ผู้ต้องหาที่ 2 จะหลบหนีหรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน ส่วนที่ผู้ต้องหาที่ 2 อ้างว่าเจ็บป่วยนั้น กรมราชทัณฑ์ก็สามารถดูแลจัดการให้ได้ตามพ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 มาตรา 55 คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหานั้นชอบแล้ว ยกคำร้อง
 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ นางวิลาวัลย์ อายุ 62 ปี มารดาของนายสามารถ ผู้ต้องหาที่ 1 ในคดีนี้ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวไประหว่างฝากขังโดยตีราคาประกัน 5 แสนบาท
      
  สำหรับความคืบหน้า คดี นายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือทนายตั้ม นั้น พล.ต.ต.มนตรี เทศขัน ผู้บังคับการปราบปราม (ผบก.ป.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 28 พ.ย.ที่ผ่านมา ทางพนักงานสอบสวนได้เข้าไปแจ้งข้อหาเพิ่มเติมในประเด็นเรื่องเงิน 39 ล้านบาท ของ น.ส.จตุพร อุบลเลิศ หรือเจ๊อ้อย กับทนายตั้มในเรือนจำเป็นที่เรียบร้อย โดยมีการแจ้งข้อหาทั้งหมดรวมแล้ว 7 ข้อหาที่เกี่ยวข้องกับการร่วมกันฉ้อโกง, ร่วมกันนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ, ร่วมกันแจ้งความเท็จ , ร่วมกันฟอกเงิน และสมคบฟอกเงิน โดยทั้งหมดมีความเกี่ยวข้องกับกรณีเงิน 71 ล้านบาท, ส่วนต่างค่าออกแบบ 5.5 ล้านบาท, ค่ารถเบนซ์ 1.5 ล้านบาท และเงิน 39 ล้านบาท ซึ่งขณะที่ไปแจ้งข้อหาเพิ่มเติม ตัวทนายตั้มให้การปฏิเสธ และมีการกล่าวอ้างว่ามีพยานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งส่วนนี้ก็อยู่ในขั้นตอนที่ทางตำรวจจะต้องดำเนินการต่อ นอกจากนี้ก็เตรียมเข้าแจ้งข้อหาเพิ่มเติมกับนายนุวัฒน์ ยงยุทธ หรือนุ และน.ส.สารินี นุชนารถ หรือสา คนสนิททนายตั้ม
 เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้อายัดเงินในบัญชีของทนายตั้ม 28 ล้านบาท โดยเป็นเงินที่เชื่อมโยงถึงเงิน 71 ล้านบาทจากเจ๊อ้อย รวมถึงมีการยึดรถหรูของทนายตั้มและนายนุวัฒน์ และยึดรถเบนซ์ของน.ส.สารินี นอกจากนี้ยังมีการแจ้งรายงานทรัพย์สินเป็นรถ 4 คันและบ้านกับที่ดินรวม 8 รายการ ของทนายตั้มไปยังหน่วยงาน ปปง. แล้ว
       
 เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า เหตุใดคดีนี้ถึงเป็นคดีนอกราชอาณาจักร  พล.ต.ต.มนตรี กล่าวว่า เพราะมีพฤติการณ์กระทำผิดส่วนหนึ่งส่วนใดที่อยู่นอกราชอาณาจักร ในเรื่องการหลอกลวงหรือการส่งเอกสารต่างๆ ที่เกิดขึ้นนอกราชอาณาจักร โดยบช.ก.ได้มีการแจ้งกับทางอัยการสูงสุดไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งในการสืบสวนสอบสวน ทางตำรวจทำทุกมิติ โดยตอนนี้มีความคืบหน้ากว่า 80 เปอร์เซ็นต์ และอยู่ในระหว่างเก็บรายละเอียดรวบรวมข้อมูลทางคดี คาดว่าใช้เวลาอีกไม่นาน และอาจจะมีการดำเนินคดีกับคนอื่นเพิ่มเติม แต่ในส่วนเรื่องพินัยกรรมของเจ๊อ้อย ขณะนี้ยังไม่มีการแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษในประเด็นนี้ และสำหรับคดีนี้จะเร่งรัดการสรุปสำนวนคดีให้ทันในฝาก 3 แต่หากไม่ทันก็จะอยู่ในประมาณฝาก 4 
        
สำหรับคดี นายรัฐภูมิ โตคงทรัพย์ หรือฟิล์ม ก็ได้มีการออกหมายเรียกไปแล้ว และได้มีการนัดหมายไปแล้วในวันที่ 6 ธ.ค. แต่ถ้าตัวของนายฟิล์มจะเข้ามาพบหรือให้การก่อนก็สามารถทำได้ แม้นอกเวลาราชการ โดยเมื่อประมาณสัปดาห์ก่อนหน้านี้ ทนายความของนายฟิล์มได้มีการมาลงบันทึกประจำวันไว้ที่บช.ก.เป็นหลักฐานว่าไม่ได้หลบหนีมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง และพร้อมที่จะมาพบพนักงานสอบสวน แต่หลังจากที่ตำรวจออกหมายเรียกไป เท่าที่ตนทราบยังไม่มีการติดต่อเข้ามา 
        
ส่วนหมายเรียกเจ้าหน้าที่ได้จัดส่งตามภูมิลำเนา การที่จะอ้างว่าไม่ได้อยู่ในพื้นที่ภูมิลำเนาก็เป็นสิทธิ์ของตัวนายฟิล์ม ส่วนกรอบระยะเวลาในการพิจารณาออกหมายเรียกครั้งที่ 2 นั้น ก็ยังไม่ได้พิจารณาขอให้เสร็จสิ้นกระบวนการหมายเรียกครั้งที่ 1 ก่อน  ทั้งนี้ จากการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน ก็มีการร้องทุกข์กล่าวโทษในเรื่องความผิดพยายามกรรโชกทรัพย์ และอยู่ในระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐานอยู่ การออกหมายเรียกแสดงว่าคดีนี้มีมูล จึงได้ออกหมายเรียกให้เข้ามารับทราบข้อกล่าวหา ส่วนคดีของ นายภูดิท กำเนิดพลอย หรือหนุ่มกรรชัย เป็นอีกคดีหนึ่งซึ่งเป็นเรื่องของการหมิ่นประมาท ไม่ได้รวมเป็นสำนวนเดียวกัน 
     
   ผู้สื่อข่าวถามว่า จะตั้งประเด็นอะไรในการสอบปากคำนายฟิล์มเป็นพิเศษหรือไม่ พล.ต.ต.มนตรี ระบุว่า ตอนนี้ยังไม่มี ขอทำไปตามกระบวนการของกฎหมาย เมื่อถามว่า ต้องมีการระมัดระวังการเดินทางออกนอกประเทศหรือไม่ พล.ต.ต.มนตรี กล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่มีอำนาจควบคุมอะไร ส่วนเรื่องการติดตามเฝ้าระวังก็เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นปกติอยู่แล้ว