มกอช. บินลัดฟ้าไปกรุงเจนีวา ร่วมเวทีปะชุม CAC ครั้งที่ 47 เห็นชอบตามความเห็นไทย ปรับแก้มาตรฐานระดับภูมิภาคด้านอาหารริมบาทวิถี พร้อมรับรองและประกาศใช้มาตรฐานมากกว่า 30 เรื่อง

วันที่ 4 ธ.ค.67 นางสาวปรียานุช ทิพยะวัฒน์ รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) พร้อมด้วยคณะประกอบด้วย นางสาวณมาพร อัตถวิโรจน์ ผู้อำนวยการกลุ่มมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ และนางสาวดวิษา ไพบูลย์ศิริ นักวิชาการมาตรฐานชำนาญการพิเศษ และเภสัชกรเลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา นางสาวปนัดดา ตุ้งสวัสดิ์ นักวิชาการอาหารและยาชำนาญการ และผู้แทนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการโคเด็กซ์ (Codex Alimentarius Commission; CAC) ครั้งที่ 47 ระหว่างวันที่ 25-30 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา ณ กรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส

นางสาวปรียานุช ทิพยะวัฒน์ กล่าวว่า ผลประชุม CAC ครั้งที่ 47 มีสาระสำคัญ ได้แก่ Mr. Allan Azegele จากสาธารณรัฐเคนยา ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการโคเด็กซ์ และ Mr. Khalid Saud Al Zahrani ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย, Dr. Jing TIAN สาธารณรัฐประชาชนจีน, Ms. Dr. Betül VAZGEÇER สาธารณรัฐตุรกี ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งรองประธานฯ พร้อมทั้งมีการรับรองยุทธศาสตร์โคเด็กซ์ 2026-2031 ที่กำหนดวิสัยทัศน์ “การรวมตัวกันเพื่อกำหนดมาตรฐานด้านความปลอดภัยและคุณภาพอาหาร เพื่อปกป้องทุกคน ทุกที่ (Where the world comes together to create food safety and quality standards to protect everyone everywhere)” โดยมีพันธกิจในการปกป้องสุขภาพผู้บริโภคและสนับสนุนการปฏิบัติทางการค้าอาหารอย่างเป็นธรรม บนพื้นฐานของข้อมูลวิทยาศาสตร์ สำหรับยุทธศาสตร์ฉบับใหม่นี้มีการเปลี่ยนแปลงสำคัญโดยให้ความสำคัญต่อความท้าทายใหม่ที่จะมีผลต่อความปลอดภัยด้านอาหารที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมและการพัฒนาด้านเทคโนโลยี รวมทั้งแนวทางการใช้มาตรการต่างๆ เพื่อรับมือกับความท้าทายดังกล่าว ซึ่งจะจัดทำกรอบการติดตามผลและตัวชี้วัดต่อไป

ที่ประชุมยังมีการรับรองและประกาศใช้มาตรฐานมากกว่า 30 เรื่อง โดยมีเรื่องสำคัญ เช่น การแก้ไขข้อกำหนดการแสดงฉลากสารก่อภูมิแพ้ในมาตรฐานสำหรับการแสดงฉลากอาหารที่บรรจุหีบห่อแล้ว, แนวทางการให้ข้อมูลของอาหารที่บรรจุหีบห่อแล้วที่จำหน่ายผ่านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-commerce), การปรับแก้ไขหลักการประเมินความเสี่ยงสำหรับสารตกค้างจากยาสัตว์ในอาหาร, ค่าอ้างอิงสารอาหารแนะนำ (NRVs-R) สำหรับทารกและเด็กเล็กในช่วงอายุ 6-36 เดือน, หลักปฏิบัติสำหรับการป้องกันหรือลดสารซิกัวทอกซิน, แนวทางสำหรับมาตรการควบคุมด้านสุขลักษณะอาหารในสถานที่จำหน่ายอาหารท้องถิ่น, ภาคผนวกแนวปฏิบัติสำหรับควบคุม Shiga Toxin-Producing E. coli (STEC) สำหรับผักใบและพืชงอกบริโภคสด, ภาคผนวกแนวทางการใช้และการนำน้ำกลับมาใช้อย่างปลอดภัยในการผลิตนมและผลิตภัณฑ์นม, ข้อกำหนดสำหรับน้ำมันจากอะโวคาโด, น้ำมันเมล็ดชา, น้ำมันดาวอินคา, น้ำมันถั่วเหลืองชนิดที่มีกรดโอเลอิกสูง, และมาตรฐานสินค้าสำหรับเครื่องเทศและพืชสมุนไพร ได้แก่ ขมิ้นชันแห้ง กระวานขนาดเล็ก และกลุ่มสินค้าที่ได้จากผลและเบอร์รี่ ส่วน 1 - ออลสไปซ์ จูนิเปอร์ เบอร์รี และโป๊ยกั๊ก 

รวมถึงรับรองค่าปริมาณสูงสุด (Maximum levels; MLs) สำหรับสารปนเปื้อนในอาหาร (8 ค่า) และวัตถุเจือปนอาหาร (218 ค่า) และค่าปริมาณการตกค้างสูงสุด (Maximum Residue Limits; MRLs) สำหรับสารตกค้างจากยาสัตว์ในอาหาร (8 ค่า) และสารพิษตกค้าง (259 ค่า) ซึ่งประเทศไทยได้แจ้งสงวนสิทธิ์ต่อการรับรองค่า MRL ของสาร Difenoconazole ในผัก mustard green เนื่องจากข้อกังวลด้านสุขภาพของผู้บริโภคจากผลการประเมินความเสี่ยงบนพื้นฐานข้อมูลการบริโภคของคนไทยโดยเฉพาะเด็ก 

“นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบตามความเห็นของประเทศไทยเกี่ยวกับการพิจารณาปรับแก้ไขมาตรฐานระดับภูมิภาคด้านอาหารริมบาทวิถีในอนาคตที่ควรพิจารณาตามความเหมาะสมซึ่งอาจแตกต่างกันระหว่างภูมิภาคโดยให้สอดคล้องกับมาตรฐานหลักการทั่วไปด้านสุขลักษณะอาหาร” รองเลขาธิการ มกอช. กล่าว