วันที่ 3 ธ.ค.67 ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า จังหวัดชัยภูมิจัดแถลงข่าวความพร้อมจัดงานประเพณีตีคลีไฟ กีฬาฤดูหนาวแห่งเดียวในโลก ที่จะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 20 – 22 ธันวาคม 2567 ณ วัดแจ้งสว่าง บ้านหนองเขื่อง ตำบลกุดตุ้ม อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ  โดยมีนางสาวอรอาภา  โล่ห์วีระ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ เป็นประธานในการ  แถลงข่าว พร้อมด้วย นางบำเพ็ญพร สุริยกมล ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดชัยภูมิ นางสาวสุกัญญา  กุลสุวรรณ์  นายอำเภอเมืองชัยภูมิ นางวิภาวรรณ  ห้าวหาญ รักษาราชการแทนวัฒนธรรมจังหวัดชัยภูมิ  นายขวัญชัย  เพิ่มชีลองผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลกุดตุ้มเป็นตัวแทนนายกองค์การบริหารส่วนตำบล   กุดตุ้ม และนางธิดารัตน์  อากรตน ประชาสัมพันธ์จังหวัดชัยภูมิ ร่วมแถลงถึงกิจกรรมที่ได้จัดเตรียมพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวที่จะไปสัมผัสประสบการณ์ด้านการท่องเที่ยวหนึ่งเดียวในโลกในงานประเพณีตีคลีไฟ ประจำปี 2567  

 

ทั้งนี้ นางสาว อรอาภา  โล่ห์วีระ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ กล่าวว่า จังหวัดชัยภูมิมีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก มีความอุดมสมบูรณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติ รวมไปถึงศิลปวัฒนธรรมและประเพณี   ที่สำคัญ เรียกได้ว่ามีที่เดียวในโลก เช่น ประเพณีบุญกระธูปออกพรรษาที่อำเภอหนองบัวแดง  แห่นาคโหดที่อำเภอภูเขียว ผีสุ่มที่บ้านเสี้ยวน้อย ต.บ้านเล่า อ.เมือง  และงานประเพณีตีคลีไฟ ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่     20 – 22 ธันวาคม 2567 ณ วัดแจ้งสว่าง บ้านหนองเขื่อง ต.กุดตุ้ม อ.เมือง โดยในปีนี้ได้มีการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับวิถีชีวิตของชาวตำบลกุดตุ้ม เช่น การแข่งขันตีคลีโหลน ตีคลีไกล การแข่งขันตีคลีไฟ การแข่งขันเรือพาย และกีฬาพื้นบ้าน การแสดงแสง สี เสียงบอกเล่าเรื่องราวประเพณี ตีคลีไฟ และปีนี้ได้มีการแสดงของช้างแสนรู้จากบ้านค่าย ซึ่งเป็นหมู่บ้านเลี้ยงจากมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมาจัดแสดงให้ได้ชมอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีการออกร้านจำหน่ายสินค้าชุมชนของชาวตำบลกุดตุ้ม ซึ่งมีเมนูพิเศษ เช่น ข้าวหน้าปลาไหล ส้มตำคลีไฟ ส้มตำไก่โอก ข้าวจี่และพืชผักตามฤดูกาล 

 

ด้าน นายขวัญชัย  เพิ่มชีลอง ผู้แทนนายกองค์การบริหารส่วนตำบลกุดตุ้ม กล่าวว่า คลีไฟ  (KLEE-FIRE) เป็นการละเล่นที่แปลกและท้าท้าย ซึ่งหาดูได้ยากมากและจะมีแห่งเดียวในเมืองไทยหรือในโลกก็ว่าได้ที่บ้านหนองเขื่อง แห่งนี้ ประวัติคลีไฟ  เท่าที่จำความได้ตามที่ผู้เฒ่าท่านได้เล่าให้ฟัง การเล่นคลีไฟ  เริ่มต้นมีมาตั้งแต่ปี 2489  ซึ่งแรกเริ่มการเล่นเรียกว่า “คลีโหลน”  โดยแข่งขันกันตีคลีไกล ใครมีความสามารถตีได้ไกลเป็นผู้ชนะ  ต่อมาจึงมีการเปลี่ยนจากการตีไกลมาเป็นการแข่งขันแบบเป็นทีม  “แล้วคลีไฟหล่ะมายังไง” คนสมัยก่อนการไปอาบน้ำชำระร่างกายจะชักชวนกันไปยังท่าน้ำห้วย,หนอง,คลอง,บึง

 โดยเฉพาะในช่วงเย็นจะไปกันเป็นกลุ่ม เลยคิดสนุกเพื่อเป็นการเรียกเหงื่อก่อนอาบน้ำแบ่งทีมกันเล่นคลีโหลนด้วยการใช้เหง้าไม้ไผ่เป็นอุปกรณ์ตีก้อนไม้ขนาด 10 – 15 เซนติเมตร ไปยังเขตฝ่ายตรงกันข้ามแล้วเข้ากรอบหรือประตูของฝ่าย      ตรงข้าม (คล้ายกีฬาฮอกกี้)   บังเอิญ ลูกไม้กลิ้งเข้าไปในกองไฟ กว่าจะเขี่ยมันออกมาได้มันก็ติดไฟไปแล้ว  ความรู้สึกในอารมณ์ที่กำลังสนุกต่อเนื่อง  เลยไม่ยอมดับไฟที่กำลังลุกไหม้ก้อนไม้  ก็เลยปล่อยเลยตามเลยตีทั้ง ๆ ที่ไฟยังติดอยู่  อีกประการหนึ่งพอค่ำลงมองไม่เห็นลูกไม้ จึงนำไฟมาจุดลูกไม้เพื่อการมองเห็นจึงเล่นหรือแข่งขันกันต่อได้ในช่วงค่ำซึ่งสร้างความสนุกสนานเร้าใจกว่าการเล่น  “คลีโหลน”  แบบเดิม ๆ จึงเป็นที่มาของการเรียกชื่อ  คลีไฟ (KLEE-FIRE) ซึ่งชาวบ้านหนองเขื่อง ได้กลับมาเล่นคลีไฟอีกครั้งเมื่อ 6-7 ปี ที่ผ่านมา และถือว่าเป็นกีฬาพื้นบ้านที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์และสืบทอดเป็นประเพณีตลอดไป